มะนิลา, ฟิลิปปินส์--25 ก.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
- โครงการสำคัญครั้งใหม่นี้ จะเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนผู้ด้อยโอกาสกว่า 6 ล้านรายทั่วฟิลิปปินส์
ในวันนี้ สมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) ได้ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับบรรดาหน่วยงานภาครัฐ อย่างกระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ (DepEd) และกรมพัฒนาการศึกษาทางเทคนิคและทักษะ (TESDA) ตลอดจนบริษัท ดิจิเทล โมบาย ฟิลิปปินส์ (DMPI), โกลบ เทเลคอม และสมาร์ท คอมมิวนิเคชั่นส์
สำหรับโครงการความร่วมมือในนาม เอ็มเอ็ดดูเคชั่น (mEducation) GSMA จะดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลและผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้งหมดของฟิลิปปินส์ เพื่อมอบโอกาสทางการศึกษาระดับ K-12 (อนุบาล-มัธยมศึกษาตอนปลาย) ให้กับเยาวชนผู้ด้อยโอกาส (OSYs) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1 ล้านราย เพื่อให้เยาวชนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงการศึกษาสายอาชีวศึกษา (tech-voc) ผ่านสื่อโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการเครือข่ายจะให้ความร่วมมือเพื่อต่อยอดความพยายามของหน่วยงานภาครัฐ ผ่านการขยายโอกาสการเรียนรู้ให้กับ OSYs โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ด้อยโอกาสและชุมชนห่างไกล เพื่อให้การสนับสนุนและโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีมือถือ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์รายงานว่า ในปี 2554 ฟิลิปปินส์มีเยาวชนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาอย่างน้อยกว่า 6.24 ล้านรายทั่วประเทศ[1]
“เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ทำหน้าที่ในฐานะผู้ให้คำปรึกษาสำหรับโครงการเอ็มเอ็ดดูเคชั่น รวมทั้งการสนับสนุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งความชำนาญทางโมเดลธุรกิจแก่โครงการนี้” นาง Irene Ng ประธานฝ่ายภูมิภาคเอเชียของ GSMA กล่าว “ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีโครงการความร่วมมืออย่างเอ็มเอ็ดดูเคชั่นเกิดขึ้นมาก่อนในฟิลิปปินส์ โดยคาดว่าตลาดเอ็มเอ็ดดูเคชั่นในเอเชียจะขยายตัวแตะหลัก 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2560[2] โครงการริเริ่มในรูปแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของผู้ถือผลประโยชน์ร่วมหลายๆฝ่าย จะเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตและช่วยปูทางสู่ความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายของโครงการดังกล่าว”
เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือเป็นเทคโนโลยีที่แตกต่างไปจากเทคโนโลยีอื่นๆ เพราะสามารถนำเสนอโซลูชั่นทางการศึกษาให้กับผู้เรียน ซึ่งรวมถึง OSYs ในฟิลิปปินส์ โดยฟิลิปปินส์นั้นเป็นประเทศที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือในระดับสูง และยังเป็นที่รู้จักกันในนาม “เมืองหลวงแห่งการส่ง SMS ของโลก” ซึ่งมีการส่งข้อความกว่า 2 พันล้านครั้ง/วัน ฟิลิปปินส์มีอัตราการใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ที่ 105% เมื่อปลายปี 2555 และมีการใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าของช่วงปี 2553-2554 เพิ่มขึ้นจาก 9% เป็น 24%[3]
โครงการเอ็มเอ็ดดูเคชั่นของ GSMA ทั่วโลกมีจุดมุ่งหมายในการกระตุ้นให้มีการใช้โซลูชั่นทางการศึกษาผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะผ่านอุปกรณ์สื่อสารขนาดพกพา เช่น อี-รีดเดอร์และแท็บเล็ต โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ของ GSMA เพื่อให้เกิด ‘ชีวิตที่เชื่อมต่อกัน’ ซึ่งเป็นโลกที่ทุกๆสิ่งเชื่อมโยงกันผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออย่างชาญฉลาด เพื่อส่งมอบบริการที่หลากหลายให้กับบรรดาธุรกิจและผู้บริโภคในทุกรูปแบบการใช้ชีวิต
“ผมรู้สึกยินดีกับความก้าวหน้าของโครงการความร่วมมือที่เกิดขึ้นในตลาดเอ็มเอ็ดดูเคชั่นในฟิลิปปินส์” นายมาริโอ เอ เดอริควิโต รองเลขาธิการสำนักงานความร่วมมือและประสานงานภายนอกกล่าว “จากมุมมองของรัฐบาล การให้การสนับสนุนเยาวชนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของปี 2557 และในปีถัดๆไป เราน้อมรับการสนับสนุนที่สามารถอำนวยความสะดวกผ่านการเรียนรู่ทางโทรศัพท์มือถือ เพราะเราเชื่อว่านี่เป็นวิธีการที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาความท้าทายทางการศึกษาที่เรากำลังเผชิญอยู่ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยที่ช่วยฝึกฝนความสามารถของเยาวชนในประเทศได้อีกด้วย เมื่อพิจารณาจากความพยายามในการให้ความช่วยเหลือแก่เหล่า OSYs ที่ถูกจำกัดอยู่ในวงแคบแล้ว เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือจึงเป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียว และประสานงานกันได้แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลกันก็ตาม”
“ฟิลิปปินส์มีศักยภาพในการเป็นผู้นำโลกด้านบริการฝึกฝนทักษะสายอาชีพผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ” นายโจเอล วิลลานูเอวา ผู้อำนวยการ TESDA กล่าว “โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์ที่มีความเหมาะสมสำหรับการเปิดโอกาสทางการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะในประเทศที่มีเกาะกระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงอย่างฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะเยาวชนผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเข้าเรียนหรือคอร์สอบรมต่างๆ ด้วยความร่วมมือในครั้งนี้ เราเชื่อว่าเหล่า OSYs จะสามารถมีส่วนร่วมในชุมชนของตนเองได้เป็นจำนวนมากขึ้น ผ่านโครงการนวัตกรรมใหม่ๆนี้ รวมถึงบริการที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้การสนับสนุน ซึ่งจะช่วยรับมือกับปัญหาของเยาวชนที่จำเป็นต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน”
“ในนามของแบรนด์ ซัน เซลลูลาร์ (Sun Cellular) ของทางบริษัท เราได้ให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่มีความครอบคลุม เหมาะสม และค่าบริการไม่สูงเกินเอื้อม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่อผู้คนกับชุมชนต่างๆ” นายออร์แลนโด บี วี ประธานและซีอีโอของ DMPI กล่าว “ด้วยความร่วมมือครั้งนี้ เราหวังว่าจะได้เห็นโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นด้านบริการทางการศึกษาผ่านมือถือ ตลอดจนการพัฒนาสังคมโดยรวม”
“ความร่วมมือทางการศึกษาผ่านเครือข่ายมือถือ ซึ่งดำเนินงานร่วมกันระหว่าง GSMA หน่วยงานภาครัฐและผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือฟิลิปปินส์นั้นเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรม เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไอซีทีที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม” นายเออร์เนส แอล ซู ประธานและซีอีโอของโกลบ กล่าว “โกลบ เทเลคอมได้สานต่อปณิธานขององค์กรมาอย่างต่อเนื่อง ในการใช้โซลูชั่นไอซีทีเพื่อช่วยส่งเสริมการศึกษาผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและบรอดแบนด์ อีกทั้งสื่อการสอนทางไอซีที ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ยกระดับการเรียนการสอนในยุคศตวรรษที่ 21 และยังสามารถสร้างห้องเรียนได้อีกด้วย เรามีประวัติความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนานกับพาร์ทเนอร์จากสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน โดยโครงการเอ็มเอ็ดดูเคชั่นของ GSMA เป็นโครงการริเริ่มที่สำคัญ ซึ่งทำให้โกลบสามารถมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาเยาวชนในประเทศ พร้อมทั้งช่วยนำทางสู่อนาคตที่ดีกว่า”
“สมาร์ทตระหนักดีในเรื่องบทบาทของเครือข่ายมือถือที่มีส่วนสำคัญในการเปิดโอกาส เพื่อให้เยาวชนและผู้ใหญ่สามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างเป็นทางการได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการส่งมอบบริการทางการศึกษาให้กับประชาชนทุกคน” นายนโปเลียน แอล นาซาเรโน ประธานและซีอีโอของสมาร์ทกล่าว “ด้วยประสบการณ์ที่เราได้สั่งสมจากโครงการความร่วมมือทางการศึกษามาหลายปี เราจึงรู้สึกตื่นเต้นกับโครงการล่าสุดนี้ ซึ่งโซลูชั่นเครือข่ายโทรศัพท์มือถือนั้นมีส่วนช่วยยกระดับการเรียนการสอนมาอย่างยาวนาน”
GSMA จะจัดแสดงโครงการเอ็มเอ็ดดูเคชันในงาน UNESCO Mobile Learning Week และ GSMA Mobile World Congress ซึ่งจะเปิดฉากพร้อมกันในเดือนกุมภาพันธ์ 2557
หมายเหตุ
[1] http://thefilipinoconnection.net/osys-to-get-second-chance-under-abot-alam-program/
[2] Ambient Insight, 2013
[3] Ambient Insight, 2013
เกี่ยวกับ GSMA
สมาคมจีเอสเอ็ม (The GSM Association: GSMA) เป็นองค์กรที่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ให้บริการด้านการสื่อสารไร้สายในกว่า 220 ประเทศทั่วโลก ประกอบด้วยสมาชิกเกือบ 800 ราย จาก 250 บริษัท ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศการสื่อสารไร้สาย ได้แก่ ผู้ผลิตโทรศัพท์ บริษัทซอฟต์แวร์ ผู้ให้บริการอุปกรณ์ และอินเทอร์เน็ต รวมถึงองค์กรในภาคอุตสาหกรรม อาทิ สถาบันบริการด้านการเงิน เฮลธ์แคร์ สื่อมวลชน การขนส่ง และสาธารณูปโภคทั่วไป นอกจากนี้ สมาคมจีเอสเอ็มยังเป็นผู้จัดงานชั้นนำต่างๆในแวดวงการสื่อสารไร้สาย เช่น งานโมบาย เวิลด์ คองเกรส (Mobile World Congress) และ งานโมบาย เอเชีย เอ็กซ์โป (Mobile Asia Expo)
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ GSMA ได้ที่ www.gsma.com และทางทวิตเตอร์ @GSMA
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit