กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--คิธ แอนด์ คิน
สนพ. ระดมนักคิดแลกเปลี่ยนความรู้ด้านพลังงาน หวังพัฒนาพลังงานไทยให้ได้ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีและแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับบุคลากรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้รับความรู้ความเข้าใจและนำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่เป้าหมายเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเป็นร้อยละ 25 ของการใช้พลังงานทั้งหมดในปี 2564 และลดระดับการใช้พลังงานต่อผลผลิต (Energy intensity) ลงร้อยละ 25 ในปี 2573
สนพ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้ดำเนินโครงการ “จัดเสวนาเชิงวิชาการด้านการพัฒนาพลังงานของประเทศไทย” ขึ้น ซึ่งในปี 2556 นี้ จะมีการจัดเสวนารวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง ในหัวข้อเรื่อง เชื้อเพลิงจากชีวมวลยุคที่ 2 (2nd generation biofuels), การพัฒนาเทคโนโลยี Clean Coal, มาตรการสนับสนุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน และ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในสาขาดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศมาให้ความรู้แก่บุคลากรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยหัวข้อเสวนาจะเน้นเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ อันจะนำไปสู่การดำเนินนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนของประเทศในอนาคต “การขับเคลื่อนพัฒนาพลังงาน นอกจากการส่งเสริมการวิจัยและการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว ยังจำเป็นต้องมีการสร้างองค์ความรู้ด้านพลังงานให้กับบุคลากรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานต่อไป โดย สนพ. ได้จัดเสวนาไปแล้ว 1 ครั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2556 เรื่องเชื้อเพลิงชีวมวลยุคที่ 2 โดยมีนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์มากมาย ส่วนการจัดงานเสวนาอีก 3 ครั้ง จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ คาดว่าจะได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำมาศึกษาวิจัย พัฒนาต่อยอด และจัดทำนโยบายด้านพลังงานของประเทศต่อไป” ผอ.สนพ.กล่าว
ผศ.ดร.อนุชา พรมวังขวา อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยภายหลังการเสวนาเรื่อง “เชื้อเพลิงจากชีวมวลยุคที่ 2 (2nd generation biofuels)” ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ทำให้มีศักยภาพในการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลสูงถึง 11,900 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) ทั้งนี้ เชื้อเพลิงจากชีวมวลยุคที่ 2 นี้จะเป็นพลังงานทดแทนเชิงพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้ จะผลิตจากชีวมวลที่มีส่วนประกอบของเซลลูโลสและลิกนิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร อาทิ ไม้เนื้ออ่อน เศษไม้ ไม้โตเร็ว และที่สำคัญคือไม่ประทบต่อวงจรอาหารมนุษย์และสัตว์ แตกต่างจากเชื้อเพลิงชีวมวลยุคที่ 1 ที่มาจากแป้ง น้ำตาล และไขมัน ซึ่งเมื่อใช้ในปริมาณมากมีโอกาสกระทบต่อวงจรอาหารมนุษย์และสัตว์ นอกจากนี้ เชื้อเพลิงชีวมวลยุคที่ 2 จะเน้นการเปลี่ยนชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ โดยคาดว่าจะช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม ในขณะที่เชื้อเพลิงชีวมวลจากยุคที่ 1 ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 20-30” ผศ.ดร.อนุชากล่าว
-กผ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit