กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที.
เพราะหัวใจการทำงานคือ “ทีมเวิร์ค”ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. หลอมทุกฟันเฟืองให้เป็นหนึ่งเดียว“ที่นี่งานทุกขั้นตอนจะไม่ยอมให้เกิดข้อผิดพลาด เพราะฉะนั้นทุกฟันเฟืองต้องหลอมรวมกันให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อไม่ให้เกิดจุดบอดแม้แต่เพียงจุดเดียว เพราะนั่นหมายถึงชีวิต...”
มุมมองความเชื่อที่ว่าถ้าอยากมีลูกควรไปหาหมอคนนั้นคนนี้คงเปลี่ยนไป เมื่อมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนทัศนะคติกับ 3 ฟันเฟืองสำคัญ จาก ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนที่มีผลสำเร็จด้านอัตราการตั้งครรภ์ในระดับสากลและมีเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่หล่อหลอมทุกหน่วยงานเป็นหนึ่งเดียว เพราะทุกหน่วยงานล้วนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการตั้งครรภ์ทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่เพียงมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ต้องวิเคราะห์และหาแนวทางการรักษาเท่านั้น แต่ยังต้องหมายรวมไปถึงนักวิทยาศาสตร์ และทีมพยาบาลที่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญการเป็นพิเศษอีกด้วย วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์จาก 3 หน่วยงานหลัก จาก คุณสุกัญญา ปลื้มเกษร ผู้จัดการพยาบาล คุณผกาวดี เกตุจรูญ ผู้จัดการห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อน และดร.เกษร เตียวศิริ ผู้จัดการห้องปฏิบัติการพันธุศาสตร์ และแม้จะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการทำงานของพวกเขาที่เราได้รับรู้ แต่กว่าจะได้มาซึ่งความสำเร็จของแต่ละชีวิตที่ทุกคนปรารถนานั้นมันช่างเป็นความต่างที่ต้องยอมรับในความสามารถของพวกเขาจริงๆ โดยคุณสุกัญญา ปลื้มเกษร ผู้จัดการพยาบาล ได้เริ่มเล่าให้ฟังว่า งานของเธอเริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนที่ลูกค้าจะย่างก้าวเข้ามาในศูนย์เสียอีก เพราะหน้าที่ของเธอคือตอบข้อสงสัยต่างๆ การรับฟังปัญหา และการให้คำปรึกษาอย่างเป็นมิตร ลูกค้าทุกรายที่เข้ามารักษาที่นี่จะไม่สามารถเดินเข้ามาแล้วรักษาได้ทันทีเหมือนที่อื่นๆ ที่นี่ทีมพยาบาลทุกคนต้องมีการพูดคุยสอบถามกันแบบทุกซอกทุกมุม เจาะข้อมูลในเชิงลึก เพราะทุกอย่าง ล้วนเป็นประโยชน์แก่ลูกค้าทั้งสิ้น เพื่อนำข้อมูลของลูกค้าที่ได้มาเข้าประชุมกับทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์และแจ้งให้ลูกค้าได้ทราบถึงเปอร์เซ็นในความสำเร็จของเขา หลังจากนั้นถ้าเขาตอบรับการรักษาจึงจะทำใบนัดอย่างเป็นทางการให้อีกครั้ง “งานที่นี่นอกจากความใส่ใจที่เรามีให้ลูกค้าแบบเฉพาะรายบุคคลแล้ว เรายังต้องสามารถบริหารความต้องการและความหวังของลูกค้าให้ได้ด้วย เนื่องจากลูกค้าทุกรายที่เข้ามาเขามาด้วยความหวัง เราจึงต้องเป็นผู้เติมเต็ม ในขณะเดียวกันต้องนำเสนอข้อเท็จจริงในความเป็นไปได้ของการมีบุตร เพื่อให้ลูกค้าได้รับรู้และเชื่อมั่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องคุยให้คนไข้เข้าใจ ดังนั้นทุกคำพูดที่ได้กล่าวออกไปล้วนต้องอยู่บนพื้นฐานความจริงทั้งสิ้น” คุณสุกัญญายังเล่าให้ฟังอีกว่า ทุกบ่ายโมงครึ่งของทุกวันต้องมีการประชุมทีม ประกอบด้วยแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ทีมพยาบาล จนท.ลูกค้าสัมพันธ์ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่ออัพเดทข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับลูกค้าเฉพาะเจาะจงเป็นรายๆ ไป ทุกหน่วยงานต้องรับทราบว่าอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว เพื่อที่จะได้เตรียมตัวในกระบวนการต่อไป ซึ่งที่ศูนย์เราจะต้องมีการวางแผนการทำงานล่วงหน้าก่อนทุกครั้ง หลังจากนั้นทุกฝ่ายจะแยกย้ายกันไปปฏิบัติหน้าที่ในช่วงบ่าย แต่แม้จะแยกย้ายกันไปปฏิบัติงานก็ตาม ทุกฝ่ายต้องมาคอยอัพเดทความคืบหน้าให้เธอทราบทุกครั้ง เพราะเธอต้องเป็นตัวกลางที่ต้องนำข้อมูลเหล่านั้นมาอัพเดทต่อให้แก่หน่วยงานอื่นๆ รวมถึงลูกค้าอีกด้วย คุณผกาวดี เกตุจรูญ ผู้จัดการห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อน ช่วยเสริมว่า “ที่นี่งานทุกขั้นตอนจะไม่ยอมให้เกิดข้อผิดพลาด เพราะฉะนั้นทุกฟันเฟืองต้องหลอมรวมกันให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อไม่ให้เกิดจุดบอดแม้แต่เพียงจุดเดียว เพราะนั่นหมายถึงชีวิต” อย่างงานของเธอเองก็เช่นเดียว ภายหลังจากที่ผ่านขั้นตอนการให้คำปรึกษาจากทีมพยาบาล และคุณหมอได้เสนอแนวทางขั้นตอนในการทำเด็กหลอดแก้วพร้อมให้ยากระตุ้นไข่เพื่อนำไข่นี้มาทำการปฏิสนธิแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้ก็จะเข้าสู่บทบาทหน้าที่ของเธอ “ทางห้องปฏิบัติการจะมีหน้าที่รับสารน้ำจากรังไข่ (Fluid) แล้วมาวิจัยว่ามีไข่อยู่ในนั้นหรือไม่ หากพบว่ามีไข่ก็จะก้าวสู่ยังขั้นตอนที่ 2 คือ นำไข่นั้นมาเลี้ยงในห้องแล็บ ที่เราเรียกกันว่า ห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อน แล้วนำตัวอ่อนมาปฏิสนธิกับสเปิร์ม เมื่อมีการปฏิสนธิแล้ว เราจะนำไข่ที่ปฏิสนธิแบบปกติมาเลี้ยงต่อ ในกรณีที่คนไข้มีลูกยากแบบทั่วๆ ไป เราจะคัดเลือกตัวอ่อนที่เจริญเติบโตดีที่สุดแล้วใส่กลับไปยังมารดาได้เลยโดยไม่ต้องตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อน แต่สำหรับกลุ่มที่มีความผิดปกติในเรื่องของพันธุกรรม ต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกมีความผิดปกตินั้นๆ อีก เราจะทำการตัดเซลล์ของตัวอ่อนเพื่อนำไปตรวจความผิดปกติที่หน่วยงานห้องปฏิบัติการพันธุศาสตร์ เลือกตัวอ่อนที่ไม่มีความผิดปกติใส่เข้าไปให้คนไข้ หลังจากนั้นก็รอจน 10-15 วัน เพื่อตรวจสอบการตั้งครรภ์ ซึ่งทางฝ่ายพยาบาลจะเป็นผู้แจ้งผลให้กับคนไข้ต่อไป เมื่อได้ผลอย่างไรเธอจึงจะนำไปแจ้งทางทีมพยาบาล เพื่อนำไปรายงานผลต่อลูกค้าต่อไป” คุณผกาวดี ยังกล่าวเสริมว่า ขั้นตอนที่เธอได้เล่าให้ฟังแม้จะเป็นเพียงขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ที่อาจจะเคยได้ยินมาจากที่อื่นๆ แต่สิ่งที่เธอปฏิบัติมันยิ่งกว่านั้น เธอได้ยกตัวอย่างเคสของลูกค้าเคสหนึ่งที่ได้ผลสำเร็จซึ่งเกิดมาจากความอุสาหะของเธอว่า “มีลูกค้าอยู่รายหนึ่งเก็บไข่ได้เป็นจำนวนมากกว่า 100 ใบ ซึ่งเคสปกติโดยทั่วไปจะเก็บได้ประมาณ 10-20 ใบ หากเป็นคนอื่นอาจจะคัดทิ้งให้เหลือแค่ 20 ใบ แล้วค่อยมานั่งตรวจ แต่สำหรับเรา เราไม่เคยละความพยายามที่จะมานั่งตรวจทีละใบ จนครบทั้งกว่า 100 ใบนั้น เพราะเรามองว่าไข่ทุกใบมันคือโอกาส เราไม่อาจทิ้งแม้แต่โอกาสเพียงน้อยนิดของไข่ใบเดียว เพราะถ้าเราพลาดหรือมักง่ายที่จะเลือกตรวจนั่นก็หมายถึงเปอร์เซ็นต์ที่ลูกค้าจะได้ไข่ที่มีคุณภาพก็ต้องลดลงไปด้วย สรุปแล้ววันนั้นเรานั่งส่องกล้องกันจนถึงตีสี่กว่าจะได้กลับบ้าน แต่ก็เป็นความภาคภูมิใจที่มาทราบภายหลังว่าเขาตั้งครรภ์และได้ บุตรที่แข็งแรง” มาถึงหน่วยงานสุดท้ายที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อยไปกว่า 2 หน่วยงานแรก นั่นคือ หน่วยงานห้องปฏิบัติการณ์พันธุศาสตร์ที่ทางคุณผกาวดีได้เกริ่นไว้ในตอนต้น โดย ดร.เกษร เตียวศิริ ผู้จัดการห้องปฏิบัติการพันธุศาสตร์ ผู้จัดการประจำห้องนี้ได้เล่าให้ฟังต่อว่า ส่วนงานหลักๆ ของเธอแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของการคัดกรองโครโมโซมที่มีความผิดปกติ และการคัดกรองโรคทางพันธุกรรมป้องกันการเกิดโรคทางพันธุกรรมที่อาจถ่ายทอดจากคุณพ่อคุณแม่ไปสู่ลูกน้อย งานของเธอจึงเริ่มคล้ายๆ กับทางทีมพยาบาล ในเรื่องการคอยให้คำปรึกษาพร้อมเสนอแนะแนวทางแก่ลูกค้าก่อนที่จะเข้ารับการรักษา หากลูกค้าเข้าใจดีและยอมรับผลต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น งานของเธอก็จะต้องรอจากทางหน่วยงานคุณผกาวดีภายหลังการคัดตัวอ่อนเสร็จนั่นเอง “เราทุกคนที่นี่ต้องทำงานกันเป็นทีมมาก ต้องคอยรายงานสถานการณ์ความคืบหน้าในแต่ละวันให้ทุกหน่วยงานได้รับทราบ เพื่อให้รับรู้ถึงปัญหา และแนวทางแก้ไขในแต่ละเคส เพราะปัญหาที่เจอมักแตกต่างกัน ลูกค้าที่เข้ามาก็มีความคาดหวังที่แตกต่างกัน อย่างหน่วยงานของคุณผกาวดีเองเขาจะวิเคราะห์และปรับใช้อุปกรณ์และน้ำยาต่างๆ แบบเฉพาะรายบุคคล และส่งผลการตรวจตัวอ่อนให้ลูกค้าทราบทุกวัน ของเราเองก็เช่นกันโดยเฉพาะคู่ที่มีภาวะโรคทางพันธุกรรม และไม่ต้องการถ่ายทอดโรคเหล่านี้ไปยังลูกจะต้องใช้นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ที่สำคัญรุ่นพี่ต้องคอยเทรนด์รุ่นน้อง ไม่ว่าจะสอนแบบตัวต่อตัว หรือแบบส่งไปเรียนที่ต่างประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก ตอนนี้ทั้ง 3 ทีมมีพนักงานรวมเกือบ 30 ชีวิต ทุกคนก็ต้องได้รับสิทธิในการเรียนเท่าเทียมกัน”
จาก 3 คำบอกเล่า ของ 3 หน่วยงาน จากศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที.ในครั้งนี้ ทำให้เราได้ทราบว่ากว่าจะได้มาซึ่งความสำเร็จของแต่ละชีวิตนั่นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พวกเขาเหล่านี้มีหลักการทำงานว่า “เราทำงานมากกว่าการปฏิบัติงานตามหน้าที่ เพราะเรารู้ว่าถ้าเราทำสำเร็จไม่ใช่แค่เราปฏิบัติหน้าที่ได้สมบูรณ์แล้วแต่ยังเป็นการสร้างชีวิตน้อยๆ ให้อีกหลายชีวิตได้อยู่อย่างมีเป้าหมาย ส่วนหนึ่งของความสำเร็จอยู่ที่ทีมเรา เราจะไม่มีวันยอมให้เกิดการผิดพลาด ซึ่งเราทำงานกันเป็นทีม และผลตอบแทนของความพยายาม คือ ชีวิตน้อยๆ ที่เกิดขึ้นจากพวกเรา” และนี่คือเสียงสะท้อนของอาชีพพยาบาล นักปฏิบัติการ และนักวิจัยที่หลายๆ คนอาจยังไม่เคยรู้จักหรือไม่คุ้นหู ถ้าจะให้พูดง่ายๆ ก็เปรียบเสมือนอาชีพที่ให้กำเนิดชีวิต นั่นเป็นเพราะ “ตัวอ่อน” คือ “ชีวิต” ในมุมมองของผู้อยู่เบื้องหลังอย่างพวกเธอนั่นเอง...
-กผ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit