เผยสุดยอดผลงานสร้างสรรค์ของเยาวชนนักคิดระดับประเทศ การประกวด “รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ปี 56”

27 Sep 2013

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--Work it

ทราบผลกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (นวท.) ประจำปี 2556 ที่เข้ารอบระดับประเทศ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งจัดโดย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยได้ประกาศผลในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2556 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา ไปหมาดๆ ซึ่งสร้างรอยยิ้มแห่งความดีใจและภาคภูมิใจให้กับน้องๆ เยาวชนนักคิดเป็นอย่างมาก

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า โครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (นวท.) จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2544 เพื่อส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ประเภทงานวิจัย หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในเชิงอุตสาหกรรมหรือเชิงพาณิชย์ ซึ่งอาจพัฒนาจนถึงขั้นประกอบธุรกิจได้จริง และเพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนใช้ความคิดสร้างสรรค์ในทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในเชิงนวัตกรรมซึ่งต้องสนับสนุนเยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง

“สำหรับปีนี้ ถือว่าเป็นครั้งที่ 13 แล้ว โดยได้รับการตอบรับจากเยาวชนส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก และผลงานที่ผ่านเข้ารอบรวมทั้งสิ้นจำนวน 30 ผลงาน โดยแบ่งเป็น สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 14 ผลงาน และสาขานวัตกรรมกิจกรรมทางกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ จำนวน 16 ผลงาน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จตามคาดหวังไว้ และที่สำคัญเป็นการแสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวของเยาวชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่มีต่อการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีของประเทศไทย ที่ยังต้องการการพัฒนาเรื่องนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าหากมีการตอบรับ และตื่นตัวจากเยาวชน การพัฒนาด้านนวัตกรรมของประเทศจะประสบความสำเร็จ และสัมฤทธิ์ผลได้ไม่ยาก” ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ กล่าว

ไปพูดคุยกับตัวแทนเยาวชนคนเก่งที่ผลงานเข้ารอบระดับประเทศ เริ่มที่ นางสาวอภิญญา ถนอมแก้ว นักศึกษาชั้น ปวส. ปีที่ 1 จากวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช กับผลงาน “น้ำสกัดใบชะมวง” ซึ่งประกวดในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับปริญญาตรี และปวส. กล่าวว่าที่มาของการคิดค้นโครงการนี้เกิดจากการที่ผู้บริโภคมีความต้องการปรุงอาหารโดยใช้ใบชะมวง ทั้งที่ช่วยให้อาหารทีรสชาติที่ดี แก้เลี่ยน และช่วยในเรื่องการทำให้อาหารมีความนุ่ม แต่ใบชะมวงในปัจจุบันค่อนข้างหายาก จึงเป็นที่มาของโครงการทำน้ำสกัดจากใบชะมวง ให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ทำให้มีความสะดวกในการประกอบอาหาร และง่ายต่อการเก็บรักษา โดยสามารถเก็บได้นานถึง 1 ปี

“น้ำสกัดใบชะมวงในโครงการของเรา แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ แบบน้ำสกัดใบชะมวงอย่างเดียว เหมาะกับการทำน้ำจิ้ม น้ำยา ปรุงรสอาหาร และทำเครื่องดื่ม อีกแบบคือน้ำสกัด ผสมกับใบชะมวง ที่เหมาะกับการทำแกง ซึ่งเชื่อว่า โครงการนี้จะต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ และยังทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้มีการปลูกป่าชะมวงอีกด้วยค่ะ” อภิญญา กล่าว

มาที่อีกหนึ่งผลงานในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับปริญญาตรี และปวส. ที่มีชื่อว่า “ผนังพอ ลิเมอร์คอนกรีตสำเร็จรูปก่อสร้างเร็ว” เจ้าของผลงาน คือ นายธวัชชัย อริยะสุทธิ หรือน้องเค นักศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี ปีที่ 3 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวถึงผลงานว่า จากความนิยมใช้ผนังสำเร็จรูปในการก่อสร้างอาคารซึ่งเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ผนังสำเร็จรูปที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะค่อนข้างหนัก และใช้ได้เฉพาะกับโครงการใหญ่ๆ จึงเป็นที่มาของผนังพอลิเมอร์คอนกรีตสำเร็จรูปก่อสร้างเร็ว ที่จะช่วยลดข้อจำกัดของการใช้งานดังกล่าวได้

“ผนังพอลิเมอร์คอนกรีตสำเร็จรูปดังกล่าว เป็นนวัตกรรมที่ต่อยอดจากคอนกรีตบล็อกน้ำหนักเบาจากเศษพอลิเมอร์เหลือทิ้ง ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือน้ำหนักเบา ลอยน้ำได้ ตกกระแทกไม่แตกจากที่สูงระดับ 2.5 เมตร ตัดได้ด้วยเลื่อยทั่วไป ตอกและยึดตะปูได้ดี ไม่แตกหักขณะขนส่ง ใช้คนงานน้อย ซึ่งจะช่วยให้การก่อสร้างเป็นไปได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดีกว่าผนังสำเร็จรูปทั่วไป” ธวัชชัย กล่าว

ด้านสาขานวัตกรรมกิจกรรมทางกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ กับผลงานที่มีชื่อว่า “Balance Testing Fun” โดย นางสาวณัฐธยาน์ สุวรรณดารักษ์ หรือ น้อยหน่า นักศึกษาชั้น ปวส. ปีที่ 3 สถาบันการ พลศึกษา วิทยาเขตสุโขทัย ตัวแทนทีม กล่าวว่า จากการศึกษาปัญหาการทรงตัวของผู้สูงอายุ พบว่า การทรงตัวลดลงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระบบโครงสร้างและกล้ามเนื้อลดลง ส่งผลต่อความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การทรงตัวและการเดิน ทำให้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการล้มค่อนข้างสูง โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพศหญิง การล้มส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะกลัวการล้ม (fear of fall) หรือความไม่มั่นใจในการทรงตัว โดยอุปกรณ์แท่นตัวนี้ จะเป็นการฝึกการทรงตัวร่วมกับโปรแกรมการออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสมดุลของร่างกาย

“วิธีการใช้อุปกรณ์คือ ยืนบนแท่นเหยียบแล้วย่อตัวเล็กน้อย ทิ้งน้ำหนักตัวโดยอิสระ เพื่อนำลูกบอลไปสู่จุดหมาย การทำเช่นนี้เป็นการฝึกเพื่อช่วยเพิ่มความสมดุลของร่างกาย ช่วยซ่อมแซม ฟื้นฟู และยังเสริมสร้างความสามารถในการทรงตัวของผู้สูงอายุ โดยควรมีการฝึกอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยจะเป็นการฝึกการทรงตัวที่ดีกว่าการเดิน ยืน เพราะเป็นการลดแรงกระแทกในการฝึกแบบดังกล่าวค่ะ” ณัฐธยาน์ กล่าว

ทั้งนี้ ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกผ่านเข้ารอบระดับประเทศ ในการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (นวท.) ครั้งที่ 13 จะประกาศผลในงานวันนวัตกรรมแห่งชาติ วันที่ 5 ตุลาคม 2556 โดยรางวัลชนะเลิศจะได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมทุนการศึกษา 50,000 บาท และได้ไปศึกษาดูงานต่างประเทศเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ส่วนรางวัลที่ 2 และ 3 จะได้รับ โล่เกียรติยศ ประกาศนียบัตร และทุนการศึกษา 30,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ สำหรับรางวัลนวัตกรรมกิจกรรมทางกาย และกีฬาเพื่อสุขภาพ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช. จะได้รับทุนการศึกษา 20,000 บาท 15,000 บาท และ 10,000 บาท ตามลำดับ

เห็นผลงานจากความคิดของเด็กไทยกันแล้ว น่าชื่นใจว่าเยาวชนไทยก็มีแนวคิดและความสามารถไม่แพ้ชาติอื่นๆ ในโลก ซึ่งเราเชื่อว่าหากได้รับการพัฒนาผลงาน และมีการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนอย่างเต็มที่ ผลงานของเด็กไทยเราอาจไปผงาดในวงการนวัตกรรมโลกได้ไม่ยาก...

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net