กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
นักวิชาการด้านยางพารา ม.อ. วิทยาเขตปัตตานี แนะเร่งเพิ่มมูลค่ายางพาราผ่านการแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆหลังสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ได้เกือบ 5 เท่า พร้อมชงมาตรการลดหย่อนภาษีให้แก่อุตสาหกรรมที่นำยางพาราไปสร้างมูลค่าเพิ่ม กระตุ้นการใช้ยางพาราภายในประเทศ ช่วยแก้ปัญหาราคายางตกต่ำในระยะยาว
รองศาสตราจารย์ ดร.อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี (Assoc. Prof. Azizon Kaesaman, Director of Natural Ruber Innovation Research Institute, Prince of Songkla University, Pattani Campus) เปิดเผยว่า สถานการณ์ความต้องการใช้ยางพาราของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพในนโยบายการเพิ่มมูลค่ายางพาราของภาครัฐ เนื่องจากที่ผ่านมามีความพยายามที่จะลดต้นทุนการผลิตโดยการช่วยเหลือในปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นและไม่ตรงจุด เพราะโครงสร้างต้นทุนปัจจัยการผลิตมีเพียง 15-20%
นอกจากนี้ แนวทางการโค่นต้นยางอายุเกิน 25 ปี เพื่อแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ก็ไม่สามารถบังคับให้เกษตรกรปฏิบัติตามได้ จึงน่าเป็นห่วงว่า ปริมาณยางพาราจะล้นตลาด เนื่องจากในปี 2557 จะเป็นปีที่ประเทศไทยมีผลผลิตยางเพิ่มจากผลผลิตยางในโครงการ 1 ล้านไร่ และอีก 2 ล้านไร่ที่อยู่นอกโครงการ ซึ่งคาดว่า จะส่งผลกระทบต่อราคายางพาราแน่นอน
“ภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหายางพารา โดยเร่งแปรรูปยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่จะส่งผลต่อความต้องการใช้ยางพาราสูงขึ้น เพราะที่ผ่านมาไทยส่งออกยางในรูปแบบวัตถุดิบทั้งยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้นและยางแปรรูปอื่นๆ ประมาณ 3.12 ล้านตัน คิดเป็น 86% ของผลผลิตทั้งหมด สร้างรายได้เข้าประเทศ 3.3 แสนล้านบาท และใช้แปรรูปภายในประเทศเพียง 0.5 ล้านตัน คิดเป็น 14% แต่สร้างรายได้ 2.6 แสนล้านบาท เมื่อเทียบการเพิ่มมูลค่าเพิ่ม พบว่า การใช้ยางพาราผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สามารถเพิ่มมูลค่าได้ประมาณ 4.8 เท่าของราคาวัตถุดิบ ดังนั้น การผลักดันให้เกิดการแปรรูปยางพาราสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะช่วยแก้ปัญหายางพาราได้ดีที่สุด” รองศาสตราจารย์ ดร.อาซีซัน กล่าว
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีการใช้ยางพารามากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตล้อรถยนต์ คิดเป็น 70% รองลงมาได้แก่ ถุงมือยาง เส้นด้ายยางยืด ถุงยางอนามัย ยางฟองน้ำ หากนำยางพาราไปใช้เป็นถนนยางมะตอยผสมยางพารา หรือนำไปใช้ในการผลิตแผ่นยางปูพื้นสำหรับสนามเด็กเล่น สนามกีฬา โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับภาคเอกชนเพื่อนำไปผลิตสินค้า ก็จะสามารถเพิ่มความต้องการใช้ยางพาราในประเทศให้สูงขึ้นได้
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ม.อ. วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ส่วนแนวทางแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตที่นำไปสู่การแก้ปัญหาราคายางนั้น ควรมีมาตรการเร่งด่วนด้วยการเจรจาทุกฝ่ายให้มีการประกันราคายาง มาตรการระยะกลางคือ ภาครัฐต้องมีนโยบายเร่งรัดการใช้ยางในประเทศ การสนับสนุนปัจจัยการผลิต การสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ยางพาราให้ภาคเอกชน และสนับสนุนการลดหย่อนภาษีในระยะแรกของการลงทุนที่ชัดเจน
ส่วนมาตรการระยะยาว คือ กำหนดนโยบายควบคุมการขยายพื้นที่ปลูกและมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพการผลิตให้สูงขึ้น กำหนดนโยบายบริหารจัดการแรงงาน และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมจากยางพาราให้มีมูลค่าเพิ่มโดยรัฐต้องสนับสนุนระยะยาวทั้งโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ และการพัฒนาคน มีการกำหนดเป้าหมายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เป็นระยะ รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนอย่างเต็มที่
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โดยบริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ : คุณพิภพ ฆ้องวง
โทร. 02-612-2081 ต่อ 127
E-mail: [email protected]
-นท-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit