กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือน 11 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เตรียมพร้อมรับมือพายุลมแรง และฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุหวู่ตี๊บ ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. – 1 ต.ค. 56 โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตราย จากพายุลมแรงและฝนตกหนัก รวมถึงจัดกำลังคนและวัสดุอุปกรณ์ประจำในพื้นที่เสี่ยง พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามพยากรณ์อากาศ คาดว่าพายุหวู่ตี๊บจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งทางตอนเหนือของเมืองเว้ ประเทศเวียดนามในวันนี้ จากนั้นจะอ่อนกำลังลง และเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย บริเวณจังหวัดนครพนมในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 โดยประเทศไทยจะได้รับผลกระทบในลักษณะของหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณรอยต่อของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ด้านตะวันออกและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงด้านตะวันออกของภาคเหนือ มีฝนเพิ่มมากขึ้น และฝนตกหนักถึงหนักมาก รวมถึงมีพายุลมแรง จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ 11 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย ขอนแก่น และชัยภูมิ ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักและพายุลมแรง โดยจัดเก็บสิ่งของที่สามารถปลิวลมได้ ในที่มิดชิด ปิดประตู หน้าต่างบ้านให้แน่นหนา ป้องกันแรงลมหอบพัดสร้างความเสียหาย ไม่หลบพายุลมแรงบริเวณใต้ต้นไม้ ใกล้ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง สำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ให้เตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง พ้นจากระดับน้ำท่วมถึง หากสถานการณ์รุนแรง ให้ปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนอย่างเคร่งครัด และอพยพออกจากพื้นที่
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า ปภ.ได้ประสาน 11 จังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา เขต 6 ขอนแก่น เขต 7 สกลนคร เขต 14 อุดรธานี ในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมความพร้อมรับมือฝนตกหนักและพายุลมแรงจากอิทธิพลของพายุหวู่ตี๊บ โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะจุดเสี่ยง เช่น ที่ลุ่มริมน้ำ ที่ลาดเชิงเขา จุดอ่อนน้ำท่วมขัง พื้นที่เขตเศรษฐกิจและชุมชน เป็นต้น ตลอดจนเตรียมพร้อมอพยพประชาชนออกจากพื้นที่กรณีสถานการณ์ภัยรุนแรง จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับรองรับการอพยพของผู้ประสบภัย เน้นให้ความสำคัญกับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อแจ้งเหตุ ได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
0-2243-0674 0-2243-2200
www.disaster.go.th
-กผ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit