กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
สมาคมการค้าไทย-ยุโรป (Thai-European Business Association หรือ TEBA) เชิญตัวแทนภาครัฐจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งนักวิชาการร่วมเดินทางไปยังประเทศสิงคโปร์
เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เทรนด์และนวัตกรรมใหม่ล่าสุดสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อาทิ รถยนต์ระบบไฟฟ้าบีเอ็มดับเบิลยู i3 รุ่นใหม่และบีเอ็มดับเบิลยู คอนเซ็ปต์ i8 รวมถึงศึกษาแนวทางการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบจ่ายไฟของรถยนต์ระบบไฟฟ้า (EV) ที่พัฒนาโดยบ๊อช และการเข้าชมเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่ได้รับการออกแบบเพื่อลดผลกระทบของยานยนต์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ยังคงตอบสนองความต้องการของผู้ขับขี่ได้อย่างลงตัว ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับรองรับนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต
คุณฮิวจ์ วนิชประภา ผู้อำนวยการสมาคมการค้าไทย-ยุโรป กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเดินทางในครั้งนี้ว่า “การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมถือเป็นภารกิจของทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งรวมถึงภาคอุตสาหกรรมยานยนต์เช่นกัน วัตถุประสงค์ในครั้งนี้จึงเป็นการเรียนรู้เทคโนโลยีที่จะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอีกด้วย เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมดังกล่าวมีอัตราการเติบโตที่ก้าวกระโดดและได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่อันดับที่ 10 ของโลก และเพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำระดับโลกในด้านนี้ ประเทศไทยจึงควรรับรถยนต์ระบบไฟฟ้าเข้ามาเป็นโปรดักท์แชมเปี้ยนอีกประเภทหนึ่ง การนำตัวแทนจากภาครัฐไปเยี่ยมชมเทคโนโลยีในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งนอกจากจะรักษาความเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย ยังเป็นการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น”
กลุ่มตัวแทนจากภาครัฐที่ร่วมการเดินทางได้สัมผัสประสบการณ์ล้ำสมัยจากเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่ค่ายยนตรกรรมต่างๆ จัดแสดง รวมถึงบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ที่นำเสนอนวัตกรรมด้านยานยนต์ระดับหรูแห่งอนาคต ทั้งรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู i3 ยานยนต์ระบบไฟฟ้าระดับหรูรุ่นแรกของตลาด ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกของโลกในปี พ.ศ. 2556 และได้รับการออกแบบเป็นรถยนต์ระบบไฟฟ้าอย่างแท้จริงที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพชั้นสูงของเทคโนโลยีขบวนส่งกำลังeDrive powertrain เกิดเป็นยนตรกรรมที่ปราศจากการปล่อยไอเสียอย่างสิ้นเชิง
คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า “คอนเซ็ปต์ของการดีไซน์ พื้นที่กว้างขวาง และคุณสมบัติเฉพาะขณะขับขี่ของรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู i3 เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพรวมในการเปิดประสบการณ์สู่ยนตรกรรมรูปแบบใหม่ที่ปราศจากการปล่อยไอเสีย ลักษณะเฉพาะตัวของรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู i3 ที่ได้รับการปฏิวัติใหม่นี้เป็นผลจากการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมด้านยานยนต์ที่โดดเด่นและเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนที่พัฒนาขึ้นโดยบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป เพื่อรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู
โมเดล i โดยเฉพาะ นอกจากนี้ ผลจากการทดสอบยังพบว่ารถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู i3 สามารถวิ่งได้ไกลถึง 130-160 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง ซึ่งเป็นระยะทางที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเพียงพอต่อการขับขี่ในชีวิตประจำวันสำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั่วโลก”
“ด้วยดีไซน์ที่ยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู i3 เป็นยนตรกรรมที่เหมาะสำหรับการขับขี่ในเมืองใหญ่อย่างแท้จริง ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานครเช่นกัน ยนตรกรรมดังกล่าวขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าบริสุทธิ์และได้รับการออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยคุณสมบัติปราศจากการปล่อยไอเสีย สะท้อนถึงรูปแบบการขับขี่อัจฉริยะด้วยคอนเซ็ปต์ที่ผสานกันอย่างลงตัว ทำให้ทุกรายละเอียดของการดีไซน์ตอบสนองทุกการใช้งานอย่างแท้จริง” คุณกฤษฎาเสริม
มร. ปีเตอร์ แวนดลิค กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรเบิร์ต บ๊อช จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ยานยนต์ระบบไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้จริงในเร็วๆ นี้ โดยมีซอฟต์แวร์เป็นหัวใจสำคัญสำหรับการเชื่อมโยงเครือข่ายสถานีชาร์จรถไฟฟ้า เช่นเดียวกับบริการพิเศษต่างๆ เช่น การเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างผู้ให้บริการสถานีชาร์จรถไฟฟ้า เป็นต้น ในฐานะที่บ๊อชเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถไฟฟ้าที่ทดลองวิ่งในสิงคโปร์ เราจึงรับผิดชอบในส่วนของการออกแบบและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงความสามารถนำไปใช้ได้จริงและการบำรุงรักษา โดยบ๊อชมีความเชี่ยวชาญในวงการยนตรกรรมไฟฟ้าอย่างยาวนาน และได้นำเสนอนวัตกรรมที่ง่ายต่อการใช้งานซึ่งสามารถตอบโจทย์การใช้งานอย่างครบถ้วนให้แก่ผู้ให้บริการรายต่างๆ ทั้งผู้ผลิตรถไฟฟ้าและผู้ให้บริการสำหรับกลุ่มยานพาหนะ (fleet operators) อีกด้วย”
คุณฮิวจ์ วนิชประภา กล่าวปิดท้ายว่า “รัฐบาลให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามั่นใจว่าจะมีการนำการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อมซึ่งรวมถึงยนตรกรรมระบบไฟฟ้าและระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ไปพิจารณาเพื่อกำหนดแผนการและเป้าหมายในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างแน่นอน โดยทางสมาคมการค้าไทย-ยุโรป รวมถึงสมาชิกพร้อมสนับสนุนความมุ่งมั่นนี้อย่างเต็มที่”
-กภ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit