สาธารณสุข เชื่อ !! จุดแข็งของ จ.นนทบุรี มีผลต่อความสำเร็จของงานอาหารปลอดภัยในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก

13 Aug 2013

กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปรึกษาโครงการอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกล่าวว่าโรคอาหารเป็นพิษของจ.นนทบุรี ระหว่าง 1 ม.ค.-30 มิ.ย. 56 มียอดผู้ป่วยสะสมรวม 964 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ 0-4 ปีและ5-9 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 55-64ปี ,10-14ปี,15-24ปี,25-34ปี,65ปีขึ้นไป, 35-44ปี และ 45-54ปี ตามลำดับ ถึงแม้จะพบว่ากลุ่มเด็กเล็กเป็นกลุ่มที่มีปัญหาการเกิดโรคอาหารเป็นพิษสูงมากกว่ากลุ่มวัยอื่นๆ แต่จากรายงานทางระบาดวิทยากลับไม่พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนทั้งในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก เมื่อได้พิจารณาแล้วพบว่าโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กใน จ.นนทบุรี ส่วนใหญ่จะมีการดำเนินงานอาหารปลอดภัยอยู่แล้ว โดยมีสาธารณสุขจังหวัดและภาคส่วนต่างๆในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม และด้วยจุดเด่นของจังหวัดคือการมีแผนงานที่ชัดเจนและมีการทำงานบูรณการร่วมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานทีมีผลต่อการช่วยลดปัญหาการเกิดโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วงในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้เป็นอย่างมาก

ส่วนโรงเรียนพระแม่สกลสงเคราะห์อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นอีกแห่งหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการอาหารปลอดโรคปลอดภัยในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กโดย เชอร์ชองตาล ตรีว่าอุดม ผู้อำนวยการโรงเรียนพระแม่สกลสงเคราะห์ กล่าวว่า ทางโรงเรียนมีการจัดพื้นที่ให้นักเรียนมีบริเวณที่รับประทานอาหารเป็นสัดส่วน สะอาด มีระเบียบ มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมในการรับประทาน สถานที่เตรียม/ปรุงอาหาร มีการทำความสะอาด มีปล่องระบายควัน ติดตั้งพัดลมดูดอากาศ เพื่อระบายอากาศรวมทั้งกลิ่นและควันจากการทำอาหาร อาหารและเครื่องดื่มจะมีเครื่องหมาย อ.ย.ส่วนอาหารสดและอาหารแห้งจะเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ จัดเก็บแยกเป็นสัดส่วน มีการล้างให้สะอาดก่อนนำมาปรุงทุกครั้ง อาหารที่ปรุงสำเร็จแล้วเพื่อวางจำหน่ายให้นักเรียน จะใส่ในตู้กระจกเพื่อป้องกันฝุ่นละอองรวมทั้งสัตว์นำโรคและนักเรียนสามารถมองเห็นอาหารได้ การล้างภาชนะอุปกรณ์จะล้างด้วยน้ำยาล้างภาชนะต่อด้วยล้างด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยเปิดให้น้ำไหลจากก๊อกโดยตรง และเก็บคว่ำบนตะแกรงเพื่อให้ภาชนะสะอาดและแห้ง ลดการเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนของเชื้อก่อโรค จัดทำรางระบายน้ำเสียจากห้องครัวไม่ให้มีน้ำขัง เน่าเสีย มีบ่อดักเศษอาหารและดักไขมันก่อนระบายน้ำเสียทิ้ง พนักงานปรุง – จำหน่ายอาหารต้องผูกผ้ากันเปื้อน ใส่หมวกคลุมผม อบรมด้านการมีสุขนิสัยที่ดี เช่น ตัดเล็บสั้น ไม่ใช้มือหยิบจับอาหารที่ปรุงเสร็จแล้วโดยตรง รวมถึงจะได้รับการตรวจสุขภาพทุกคน

ด้านนางนปภา นิลน้อย ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพพิทักษ์ จ.นนทบุรีกล่าวว่าโดยส่วนตัวๆเองเป็นคนที่ค่อนข้างใส่ใจในเด็กอยู่แล้ว โดยเฉพาะนโยบายด้านสุขภาพที่เน้นในเรื่องอาหารการกินสำหรับเด็ก เพื่อให้เด็กได้กินอาหารที่สะอาด ปลอดภัย มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและมีพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย เพื่อที่จะได้เจริญเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศชาติในอนาคต ทั้งนี้เห็นว่าโรงอาหารของโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญต่อการบริการนักเรียน ครู ผู้ปกครอง การทำให้โรงอาหารได้รับการรับรองมาตรฐานจึงเป็นสิ่งที่โรงเรียนตระหนักและเห็นความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพื่อสร้างความมั่นใจ และไว้วางใจในการใช้บริการ และการที่ทางโรงเรียนมีหน่วยงานอย่างสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัยหรือ สสอป.เข้ามาช่วยติดตามประเมินการจัดการในเรื่องอาหารปลอดภัย นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะเป็นการกระตุ้นในพื้นที่ให้ความสนใจมากขึ้น ได้มีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์แก่โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ ให้เกิดการตื่นตัวร่วมกันปรับปรุงและยกระดับการจัดการอาหารทั้งโรงอาหารและร้านอาหารให้ได้มาตรฐานมีทั้งคุณภาพและความปลอดภัยต่อการบริโภคของเด็กๆต่อไป

ในขณะที่นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย(สสอป.)กล่าวว่าจากรายงานการตรวจประเมินผลการดำเนินงานโครงการอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของจ.นนทบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 55-28 มิ.ย.56 พบว่าโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กรวม 18 แห่ง ทั้ง รร.อนุบาล รร.ประถมและรร.มัธยม มีการบริหารจัดการเพื่อลดโรคอาหารเป็นพิษและอุจาระร่วงได้ผ่านเกณฑ์ร้อยละ100 การดำเนินงานอาหารปลอดภัยปลอดโรคในศูนย์เด็กเล็กพบว่าทั้ง 5 แห่งผ่านเกณฑ์ร้อยละ100 ส่วนมาตรฐานการสุขาภิบาลอาหารกรมอนามัย พบว่ามี รร.ประถมผ่านเกณฑ์เพียงร้อยละ50

โดยพบว่าข้อที่โรงเรียนส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินได้แก่ ภาชนะใส่เครื่องปรุงไม่ค่อยสะอาด ถังขยะไม่มีฝาปิด ท่อระบายน้ำสภาพไม่ดีแตกร้าว บ่อดักเศษอาหารและไขมันไม่สะอาดอยู่ในสภาพไม่ดี ผู้ปรุงผู้เสริ์ฟอาหารไม่ได้ตรวจสุขภาพประจำปี และศูนย์เด็กส่วนใหญ่ที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินมีข้อที่พบคือ ไม่มีตารางกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการป้องกันควบคุมโรคติดต่อสำหรับเด็ก เด็กยังล้างมือด้วยน้ำและสบู่ไม่ถูกต้อง อ่างล้างมือ/สถานที่ล้างมือไม่สะอาด ห้องน้ำ ห้องส้วมใช้รวมกัน ไม่แยกมีจุดล้างมือไม่เพียงพอกับจำนวนเด็ก

ทั้งนี้เชื่อว่าการนำ “โครงการอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” มาดำเนินงานร่วมกับโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กใน จ.นนทบุรี จะช่วยให้การจัดการด้านอาหารปลอดภัยของทั้งโรงและศูนย์เด็กเล็กได้รับการเติมเต็มและสำเร็จลุล่วงได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.)

โทรศัพท์ 0 2965 9730 / 0 2951 0000 ต่อ 99985

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net