เด็กกินนมแม่ถึง 4 เดือน ป้องกันโรคหอบหืดถึงอายุ 6 ขวบ

06 Aug 2013

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

โรคหอบหืด” จากการแพ้เป็น “โรคภูมิแพ้” ที่สำคัญในเด็ก หากแต่การให้เด็กได้กินนมแม่อย่างเดียวล้วนๆ โดยไม่กินนมผสมอย่างน้อยที่สุด 4 เดือน สามารถป้องกันการเกิดโรคหืด ในเด็กร้อยละ 25 จนถึงอายุ 6 ขวบ

แพทย์หญิง ดร. ภาสุรี แสงศุภวานิช กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานการทบทวนวรรณกรรม การควบคุมกลยุทธิ์การตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก จัดขึ้นโดย มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลักฐานวิจัยจากแพทย์ในต่างประเทศยืนยันว่า ยืนยันเด็กกินนมแม่อย่างเดียว 3 – 4 เดือน จะช่วยป้องกันการเกิดโรคหอบหืดจนถึงอายุ 6 ขวบได้จริง

สถานการณ์โรคภูมิแพ้ในประเทศไทย คาดประมาณว่า มีคนไทยมากกว่า 18 ล้านคน เป็นโรคภูมิแพ้ ในจำนวนนี้ประมาณ 2 ล้านคน เป็นเด็กที่เป็นโรคหอบหืด ความเสี่ยงของเด็กจะมากขึ้นถ้าบิดาหรือมารดาเป็นโรคนี้ อาการของโรคหอบหืดในเด็กเล็กทำให้เด็กต้องนอนโรงพยาบาลและขาดเรียนบ่อยมาก เด็กเกินครึ่งหนึ่งจะมีประวัติไอ และหายใจมีเสียงหวีด (Wheeze) อย่างน้อย 1 ครั้งก่อนอายุ 5 ปี พวกที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดอาการ wheeze มากจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลซ้ำหลายรอบ

ในด้านเศรษฐกิจ การรักษาโรคหอบหืดในเด็กถือเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงของครอบครัว เนื่องจากปัจจุบันนี้ พบว่าอาการแพ้นมวัวในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ก่อให้เกิดค่ารักษาเฉลี่ยอยู่ที่ 5,432 บาท – 64,383 บาท ต่อคนต่อปี โดยค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงสุดมาจากการรักษาโรคแพ้นมวัวในเด็ก คือ 64,838 บาท หรือคิดเป็น 24% ต่อปี จากรายได้เฉลี่ยรวมต่อครัวเรือน ตามด้วยโรคหวัดเรื้อรัง 12,669 บาท โรคหอบหืด 9,633 บาท และโรคผื่นแพ้ผิวหนัง 5,432 บาท

“หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการกินนมแม่ช่วยลดการเป็นโรคหอบหืดของเด็ก มาจากงานวิจัยที่สำคัญจากประเทศออสเตรเลียที่มีการรายงานตั้งแต่ ปี ค.ศ.1999 ซึ่งได้รับการอ้างอิงในวงการแพทย์และสาธารณะสุขทั่วโลก ระบุว่าจากการติดตามทารกจำนวน 2,187 ราย ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 6 ปี พบว่าทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวมากกว่า 4 เดือน มีโอกาสเกิดโรคหอบหืดลดลงอย่างเห็นได้ชัดร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับทารกที่กินนมแม่น้อยกว่า 4 เดือน” พญ. ดร. ภาสุรี กล่าว

นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 2012 รายงานการวิจัยจากประเทศนิวซีแลนด์ ชี้แจงถึงผลการติดตามทารกจำนวน 1,105 ราย ตั้งแต่แรกเกิดไปจนอายุ 6 ปี ผลงานวิจัย พบว่า เด็กที่เคยกินนมแม่อย่างเดียวนานกว่า 3 เดือน มีจำนวนเด็กที่เป็นโรคหอบหืดเมื่ออายุ 6 ปี น้อยกว่าเด็กที่เคยกินนมแม่ไม่ถึง 3 เดือน กว่า 50%

ในขณะที่ แพทย์หญิงศิราภรณ์ สวัดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และประธานคณะทำงานการทบทวนวรรณกรรม การควบคุมกลยุทธิ์การตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ซึ่งได้รับเกียรติจากนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ รวบรวมองค์ความรู้ที่ทันสมัยมาเผยแพร่สู่สังคม กล่าวถึง วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งคณะทำงานการทบทวนวรรณกรรม เพื่อวิเคราะห์ผลสรุปถึงประโยชน์สูงสุดของนมแม่ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายพัฒนาการของเด็ก ตลอดจนคุณประโยชน์ของนมแม่ในการช่วยป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ในเด็ก

“กรรมพันธุ์เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคภูมิแพ้ แต่การที่ทารกได้รับอาหารที่มีโปรตีนแปลกปลอมในระยะที่ทางเดินอาหารยังไม่แข็งแรงในช่วง 6 เดือนแรก ด้วยเยื่อบุทางเดินอาหารไม่แข็งแรง น้ำย่อยอาหารยังไม่พอ สารภูมิคุ้มกันที่จะคอยดักจับของแปลกปลอมยังมีไม่พอ ดังนั้น หากทารกได้รับโปรตีนแปลกปลอมซึ่งมีในนมผสมซึ่งเป็นนมวัว จึงมีโอกาสหลุดรอดไปกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ได้ ต่างจาก “น้ำนมแม่” เป็นโปรตีนของคนจึงไม่กระตุ้นให้เกิดการแพ้ใดๆ โดยทั่วไปทารกที่กินนมผสมมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากกว่าทารกที่กินนมแม่ 2 –7 เท่า” แพทย์หญิง ศิราภรณ์ กล่าว

ดังนั้น การให้เด็กกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด เป็นวิธีการป้องกัน “โรคภูมิแพ้” ตั้งแต่เริ่มแรก และยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่เกิดจากการรักษาโรคภูมแพ้โดยไม่จำเป็น งานวิจัยทั้งสองชิ้นจึงให้คำตอบว่า การกินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 3 - 4 เดือนช่วยป้องกันการเกิดโรคหืดไปจนเด็กมีอายุ 6 ปี” พญ. ดร. ภาสุรี กล่าว สรุป

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net