ก.เกษตรฯ เตรียมชงแผนแม่บทโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรฯ ต่อเนื่องโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรปี 2554-56

23 Aug 2013

กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ก.เกษตรฯ เตรียมชงแผนแม่บทโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรฯ ต่อเนื่องโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรปี 2554-56 เน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมคัดเลือกพื้นที่ดำเนินการมากยิ่งขึ้น

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการของร่างแผนแม่บทโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ(พ.ศ.2557-2564) ระยะเวลาดำเนินการรวม 8 ปี ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1.การเพิ่มศักยภาพทรัพยากรการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3.การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพการตลาด 4.การเพิ่มความเข้มแข็งของเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร 5. การเพิ่มคุณภาพการบริหารจัดการ โดยจะมีการดำเนินงานใน 3 รูปแบบ ดังนี้รูปแบบที่ 1 ดำเนินการในพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิตและมีระบบน้ำเพื่อการเกษตรสมบูรณ์ ระยะสั้น 1-3 ปี รูปแบบที่ 2 ดำเนินการในพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิตและมีระบบน้ำเพื่อการเกษตรค่อนข้างสมบูรณ์ ระยะปานกลาง 1-5 ปี และรูปแบบที่ 3 ดำเนินการในพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิต ระยะยาว 1-10 ปี

นายชวลิต กล่าวว่า ร่างแผนแม่บทฯ ที่จัดทำขึ้นใหม่นี้ เป็นการปรับปรุงการดำเนินงานจากโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ( 2554-2556 ) ซึ่งได้มีการคัดเลือกพื้นที่ในเขตชลประทานที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพมาดำเนินการ โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ส่วนภูมิภาค ส่วนราชการท้องถิ่น ตลอดจนภาคเกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตลาดและการบริหารจัดการ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินงานภายใต้โครงการดังกล่าวได้มีการพัฒนามาเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการดำเนินงานมาระยะหนึ่งพบว่าการทำงานในบางส่วนยังมีจุดอ่อน เนื่องจากพื้นที่ที่ดำเนินโครงการส่วนใหญ่หน่ายราชการเป็นผู้พิจารณาคัดเลือก โดยชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ เริ่มโครงการ ทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนเท่าที่ควรในบางแห่ง จึงจำเป็นต้องสำรวจและสอบถามความต้องการของชุมชนด้วย นอกจากนี้จะเน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการผลิตให้มากขึ้น โดยกำหนดตัวชี้วัดเพื่อวัดผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ชัดเจนขึ้น เช่น การมีคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่ดีขึ้นหรือรายได้ที่มากขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นจะนำร่างแผนแม่บทฯ เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายฯเพื่อพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุม ยังได้เห็นชอบผลการประกวดการดำเนินโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ เพื่อการเกษตรในระดับประเทศ ในแต่ละภาคดังนี้ ภาคกลาง รางวัลที่ 1 ได้แก่ จ.นครนายก รางวัลที่ 2 ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี ภาคใต้ รางวัลที่ 1 ได้แก่ จ.สตูล รางวัลที่ 2 ได้แก่ จ.ระนอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รางวัลที่ 1 ได้แก่ จ.มหาสารคาม รางวัลที่ 2 ได้แก่ จ.นครพนม ภาคเหนือ รางวัลที่ 1 ได้แก่ จ.แพร่ รางวัลที่ 2 ได้แก่ จ.ลำพูน-นท-