‘SANKO’ ศึกษาลู่ทางบุกตลาดต่างประเทศ หวังกระจายความเสี่ยงรับมือ ศก.ชะลอตัว เดินหน้าติดตั้งเตาหลอมลดต้นทุนพลังงาน เสริมศักยภาพการแข่งขัน

19 Aug 2013

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์

‘SANKO’ เปิดเกมบุกตลาดชิ้นส่วนอลูมิเนียมและสังกะสีฉีดขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ในต่างประเทศ หวังบริหารความเสี่ยงด้านการตลาด หลังเศรษฐกิจในประประเทศชะลอตัว และนโยบายรถคันแรกหมดฤทธิ์ ฉุดอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศปีนี้เติบโตลดลง พร้อมเดินหน้าปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร ลดต้นทุน เร่งขีดความสามารถการผลิต รองรับคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่ม หวังอุตสาหกรรมยานยนต์กลับมาฟื้นตัว ในปี 2557

นายรัฐวัฒน์ ศุขสายชล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซังโกะ ไดคาซติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SANKO ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอลูมิเนียมและสังกะสีฉีดขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ ฉีดหล่อ ความดันสูง (High-Pressure Diecasting หรือ HPDC) ให้ลูกค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรกลเกษตร และอื่นๆ เปิดเผยว่า จากการประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตแบบชะลอตัวลง ซึ่งมีปัจจัยจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ลดลง และการดำเนินนโยบายรถยนต์คันแรกของภาครัฐที่กระตุ้นการซื้อรถยนต์ในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ภายในประเทศปีนี้ลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดฯ

ในส่วนของ SANKO นั้น บริษัทฯ ได้เตรียมแผนรับมือกับภาวะดังกล่าว โดยศึกษาลู่ทางขยาย ตลาดชิ้นส่วนอลูมิเนียมและสังกะสีขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ ฉีดหล่อความดันสูงในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรกลเกษตร ไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกา เพื่อรองรับการเติบโตทางธุรกิจและมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังช่วยให้บริษัทฯ สามารถบริหารความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการของตลาดภายในประเทศที่ซบเซาลงได้อีกด้วย

“เรามองเห็นโอกาสขยายตลาดในต่างประเทศ จึงเตรียมแผนรุกขยายตลาด เนื่องจากหลายประเทศยังมีการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีและเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านการตลาด เพื่อผลักดันการเติบโตทางธุรกิจ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคำสั่งซื้อจากตลาดภายในประเทศเพียงอย่างเดียว” นายรัฐวัฒน์ กล่าว

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังได้ปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยได้สั่งซื้อเตาหลอมและเครื่องกลึงอัตโนมัติ โดยจะเริ่มติดตั้งเตาหลอมใหม่ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 7-10 วัน จึงจะแล้วเสร็จ โดยช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทฯ จำเป็นต้องหยุดการผลิต อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังติดตั้งแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยต้นทุนการผลิตที่ถูกลง เพื่อเตรียมพร้อมรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในปีหน้า และสอดรับเป้าหมายผู้ผลิตยานยนต์ในไทยที่ตั้งเป้าผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคันในปี 2560 ซึ่งส่งผลต่อความต้องการชิ้นส่วนอลูมิเนียมและสังกะสีฉีดขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ ฉีดหล่อความดันสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

-กภ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net