กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับสมาคมว่าวไทย และสมาคมนักบินว่าวแห่งประเทศไทย จัด“งานสืบสานศิลปวัฒนธรรมว่าวไทยสู่อาเซียน...เทิดไท้องค์ราชินี” พร้อมให้ความรู้แก่เยาวชนเกี่ยวกับวิศวกรรมศาสตร์เชิงโครงสร้างของว่าว การทำว่าว และศิลปะการะบายสีบนว่าว และการบินว่าวสู่ท้องฟ้า ครั้งแรกของโลกที่ทีมนักศึกษาไทยคิดค้นนำเทคโนโลยีเซ็นเซอร์เพื่อวัดความเร็วของว่าวจุฬาส่ายเร็ว ผสมผสานการละเล่นศิลปวัฒนธรรมการบินว่าวที่มีมาแต่โบราณสืบสานมาถึงโลกยุคดิจิตอล ท่ามกลางเยาวชนคนรุ่นใหม่มาร่วมงานกันแน่นขนัด
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งเป็นประธานเปิด“งานสืบสานศิลปวัฒนธรรมว่าวไทยสู่อาเซียน เทิดไท้องค์ราชินี” กล่าวว่า “ การเตรียมก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น มี 3 มิติ คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคงและด้านศิลปวัฒนธรรม ว่าว เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมากว่า 4,000 ปี เป็นที่มาของเครื่องบินและกลายเป็นมรดกทางวิศวกรรมและศิลปวัฒนธรรมของชนชาติต่างๆ ว่าวเป็นการละเล่นที่แทบทุกคนล้วนมีความทรงจำในวัยเด็กกับการบินว่าวครั้งแรก และปัจจุบันยังจัดเป็นกีฬาแข่งขันระดับนานาชาติอีกด้วย วัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อสืบสานประเพณีไทยและอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประชาคมอาเซียนในมิติศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ตลอดจนส่งเสริมเยาวชนการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์และผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรม เราได้จัดกิจกรรมเวิร์คช้อปให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษาซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ได้รู้จักความเป็นมาของว่าวไทยและอาเซียน โดยรศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี , นอกจากนี้ยังมีเวิร์คช้อปสอนเยาวชนคนรุ่นใหม่ประดิษฐ์ทำว่าวด้วยตนเอง และสอนการบินว่าวโดยกูรูผู้เชี่ยวชาญ เช่น คุณวีระ แจ่มใส สมาคมว่าวไทย และคุณสัญญา พุทธเจริญลาภ สมาคมนักว่าวบินประเทศไทย”
โลกแห่งศิลปะลอยลม ละลานตากับการระบายสีบนว่าว โดยฝีมือของน้องเยาวชนที่มาร่วมงานจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ร่มเกล้า โรงเรียนพรตพิทยพยัต โรงเรียนรัตนโกสินทร์ โรงเรียนวัดราชโกษา โรงเรียนมาเลียลัย ต่างมีพู่กัน สีและจินตนาการ...สนุกกับการสร้างศิลปะบนว่าว วาดสีสันลวดลายสวยสดใส สื่อถึงความจงรักภักดีและเทิดไท้องค์ราชินีผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตาต่อปวงชนชาวไทย ทรงอนุรักษ์ผืนป่าและงานศิลป์ของไทย หลากสีสันของว่าวสะท้อนจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนให้บินไกลสู่ฟ้ากว้าง ได้สัมผัสประสบการณ์ ลองคิด ลองทำด้วยตนเอง
ผศ.บุณย์ชนะ ภู่ระหงษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงว่าวของประเทศในภูมิภาคอาเซียนเป็นหนึ่งสีสันทางวัฒนธรรม กีฬาและการพักผ่อนกลางแจ้งของคนทุกวัย สำหรับประเทศไทยมีว่าวเด่น 4 ชนิด คือ ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวแอกอีสาน หรือดุ๊ยดุ่ย และว่าวอีลุ้ม ในประเทศมาเลเซีย นิยมเล่นว่าวที่เรียกว่า ว่าววงเดือน ซึ่งเป็นว่าวแนวมุสลิม เช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สำหรับพม่า นิยมเล่นว่าวปักเป้า และว่าวสี่เหลี่ยม ส่วนลาวและเขมร จะมีว่าวเด่นที่เล่นกัน คือ ว่าวดูดุ๋ย ส่วนเวียดนาม นิยมเล่นว่าวอีลุ้ม ซึ่งมีรูปแบบคล้ายว่าวภาคเหนือของไทยเรา ส่วนอีกจุดเด่นของงานเป็นนวัตกรรมเครื่องเซ็นเซอร์จับอัตราเร่งความเร็วติดบนว่าว ที่ผ่านมาการแข่งขันว่าวจุฬาซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สืบทอดมาถึงปัจจุบัน และได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนทั่วประเทศ ทั้งปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐมีนโยบายที่จะส่งเสริมกีฬาว่าวบินให้เป็นกีฬาของชุมชนนั้น การแข่งขันมักตัดสินการส่ายเร็วของว่าวด้วยตาเปล่าซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ ทีมนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) 7 คน จึงได้คิดค้นพัฒนาเครื่องเซ็นเซอร์จับอัตราเร่งความเร็วติดบนว่าว โดยสามารถส่งสัญญาน Wi-Fi จากตัวว่าวแต่ละตัวขณะบินบนท้องฟ้าลงมายังจอคอมพิวเตอร์ที่พื้นดินด้านล่างซึ่งจะพล็อตเป็นกราฟแสดงความถี่ให้เห็นการเคลื่อนไหวส่ายเร็วของว่าวแบบเรียลไทม์ได้ทันที เพื่อเปรียบเทียบและทำให้การตัดสินเป็นไปอย่างถูกต้อง ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประสิทธิภาพของกีฬาการบินว่าว ผลงานเครื่องเซ็นเซอร์ว่าวบินนี้เป็นผลงานของ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. 7 คน คือ 1.นายพงศกร จันทีนอก 2. นายณัฐพงศ์ สังข์เจริญ 3. นายจักรวาล ทองมี 4. นายไอศูรย์ กาญจนสุรัตน์ 5. นายจิรัฐวุฒิ ดำรงค์ 6. นายธนวิชญ์ อนุวงศ์พินิจ และ 7. นายสถาพร บุญศรี
นายพงศกร จันทีนอก หัวหน้าทีมนักศึกษาผู้สร้างเครื่องเซ็นเซอร์ติดว่าวบิน สาขาวิศวกรรมสารสนเทศ ปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “ ส่วนประกอบของการทำงานของเซ็นเซอร์ที่ติดกับว่าวจุฬา มีน้ำหนักประมาณ 50 กรัม เหมาะจะติดกับว่าวที่มีขานาดใหญ่สักหน่อย อุปกรณ์ที่ติดกับว่าวจุฬาประกอบด้วยตัวควบคุม ตัวส่งสัญญาณไร้สายและ เซ็นเซอร์ที่ใช้ เป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว สามารถวัดความเร็วความเร่งของวัตถุได้ ซึ่งในอนาคตยังสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้กับอื่นๆได้ เช่น การวิเคราะห์การเคลื่อนที่ของนักกีฬา นักวิ่ง ว่าใช้ความเร็วเฉลี่ยเป็นเท่าไหร่ อัตราเร่งดีหรือไม่ และใช้เป็นระบบติดตามตัวบุคคลโดยไม่ต้องใช้ GPS ”
นับเป็นการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนากีฬาว่าวบินให้ก้าวไกลและสืบสานศิลปะของไทยสู่คนรุ่นใหม่ พร้อมไปกับการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของเพื่อนบ้านในอาเซียนอีกด้วย
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit