กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม รุดหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย แนวชายแดนลุ่มแม่น้ำโขงให้พร้อมก่อนการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 ด้วยโครงการเตรียมความพร้อมและสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ผ่าน 5 กิจกรรมหลัก อันได้แก่ การฝึกอบรมเตรียมความพร้อม การพัฒนาผู้ประกอบการเชิงลึก การพัฒนาแรงงานอุตสาหกรรม การสร้างเครือข่ายธุรกิจ ตลอดจน กสอ. เผยอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตของมูลค่าอุตสาหกรรมสูงซึ่งน่าจับตามอง 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมธุรกิจอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมการบริการ โดยปัจจุบันทั้ง 3 อุตสาหกรรมมีจำนวนผู้ประกอบการในพื้นที่ครอบคลุม 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขงของไทย ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 5-10% ต่อปี โดยในอนาคตจะทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์กลางภาคการผลิต ภาคการค้าที่ใหญ่ที่สุดในลุ่มแม่น้ำโขง และเกิดการเชื่อมโยงการค้าสำหรับอาเซียนตอนบน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศเวียดนามซึ่งจะสอดรับกับโครงการ GMS Economic Corridors (ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง) ของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมให้เกิดการค้าขาย การลงทุนทั้งในภาคอุตสาหกรรมบริการ และเกษตรกรรมระหว่างประเทศ เกิดการจ้างงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2555 กสอ. มีนโยบายเร่งส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)ทั่วประเทศไทยให้มีความพร้อมต่อการเปิดตลาดการค้าเสรี ด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านกว่า 40 โครงการ ซึ่งตั้งเป้า ในปี 2558 จะสามารถส่งเสริมผู้ประกอบการได้กว่า50,000ราย
นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกล่าวว่าปัจจุบันการค้าในเขตชายแดนไทย-ลาวนั้นมีความคึกคักเป็นอย่างมากอันเกิดจากการสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาวทั้ง 3 แห่ง อันได้แก่สะพานมิตรภาพ 1 หนองคาย-เวียงจันทร์สะพานมิตรภาพ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขตสะพานมิตรภาพ 3 นครพนม-คำม่วนซึ่งสะพานดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สร้างความเชื่อมโยงทางการค้าและสร้างความสัมพันธ์และก่อให้เกิดศักยภาพในระบบการขนส่งระหว่างประเทศ โดยในปี 2555 ภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทยสู่ สปป.ลาวมีมูลค่าการส่งออกสินค้า จำนวน 109,059.22 ล้านบาท โดยปรับตัวขึ้นจากปี 2554 กว่า 34.43% โดยเฉพาะในด้านการค้าชายแดนไทย-ลาวในจังหวัดมุกดาหารซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2555 กว่า 28,677.9ล้านบาท หรือประมาณ 26.29 % ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้ในพื้นที่บริเวณชายแดน ไทย-ลาว ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ในลุ่มแม่น้ำโขงได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดบึงกาฬจะเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมี 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ตอบสนองปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตในปัจจุบันซึ่งน่าจับต่อมองได้แก่
1.) อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอุปโภคบริโภคถือเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และเป็นที่ต้องการอย่างมาก โดย สปป.ลาว มีการนำเข้าสินค้า อุปโภค บริโภคจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-15% ต่อปีโดยเฉพาะสินค้าในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องที่ใช้ในครัวเรือน อาทิ อุตสาหกรรมน้ำมันพืช อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมอาหารกึ่งสำเร็จรูป อุตสาหกรรมน้ำแข็ง ฯลฯ ประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าให้กับประชาชนของ สปป.ลาว เนื่องจากสปป.ลาว นั้นมีจำนวนประชากรเพียง 6.2ล้านคน ฉะนั้นผู้ประกอบการเอกชนจึงยังไม่ให้ความนิยมในการตั้งโรงงานขนาดใหญ่ ทำให้สินค้าไม่เพียงพอกับต้องการของคนในประเทศ จึงต้องพึ่งพาสินค้าที่นำเขาจากไทยซึ่งมีความหลากหลายมากกว่าและคุณภาพของสินค้าที่สูงกว่า
2.) อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง สินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างเป็นสินค้าที่ตอบสนองความต้องการจากภาคธุรกิจ และภาคประชาชนที่เริ่มมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จึงมีความต้องการในการพัฒนาปรับปรุงที่อยู่อาศัย โดยสินค้าจากประเทศไทยที่ปัจจุบันได้รับความนิยมในสปป.ลาว ได้แก่ อิฐบล็อกกระเบื้อง โครงอะลูมิเนียมหลังคาเหล็ก ฯลฯอย่างไรก็ตาม สปป.ลาว มีนโยบายในการเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจึงมีความต้องการในกลุ่มสินค้าประเภทนี้เพื่อรองรับการค้าและการลงทุนที่กำลังขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นซึ่งจากข้อมูลในปี 2554 มีมูลค่าการส่งออกกลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้างใน สปป.ลาวกว่า 69.7 ล้านบาท
3.) อุตสาหกรรมบริการ กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีโอกาสและเหมาะกับธุรกิจ SMEs ของไทย ประเภท ผู้ประกอบการ สปา ร้านกาแฟ อู่ซ่อมรถ โรงแรม ท่องเที่ยวและคาร์แคร์โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบริการคาร์แคร์ ในสปป.ลาวมีจำนวนน้อยและการให้บริการยังไม่ครบวงจร แต่จำนวนรถยนต์ในประเทศกลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยอุตสาหกรรมดังกล่าวผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้ตลอดทั้งแนวการค้าชายแดนไทย และ ในสปป.ลาวซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวนอกจากจะตอบสนองประชาชนในบริเวณดังกล่าว ยังจะสามารถตอบสนองกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีนักท่องเที่ยวให้ความนิยมจำนวนมาก
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่าทั้ง 3 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้มุ่งผลักดันจากใน 9 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่าน“โครงการเตรียมความพร้อมและสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนAEC”โดยจะเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการในแนวชายแดนไทย-ลาวให้มีการพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจทั้งในเชิงรุกและเชิงรับในการเปิดเขตเศรษฐกิจเสรีการค้าอาเซียนหรือ AEC ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ ผ่าน 5 กิจกรรมหลักได้แก่
1. ฝึกอบรมติวเข้มสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ประกอบการพร้อมการประเมินตนเอง (self assessment) วิเคราะห์ SWOT ของตนเอง รวมทั้งวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย งบประมาณ และผลกำไร เป็นต้น ทั้งก่อนและหลังการสัมมนา เพื่อให้ทราบสถานการณ์ปัจจุบันของกิจการของตนเอง และวางแนวทางในการก้าวสู่ AEC ด้วยแผนที่ธุรกิจหรือ Business Roadmap โดยมีเป้าหมายดำเนินการในปีงบประมาณ2556 แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 12,000 ราย
2. พัฒนาผู้ประกอบการเชิงลึก ด้วยวิธีการฝึกอบรมให้กับผู้ที่มีความรู้ในการประกอบกิจกรรมในระดับหนึ่งแล้ว เช่น ความรู้เรื่องภาษีนำเข้าของแต่ละประเทศ กฎระเบียบ ประเพณี ค่านิยมและศาสนา เป็นต้น ตั้งเป้าดำเนินการแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ จำนวน 5,000 ราย
3. พัฒนาแรงงานอุตสาหกรรม เน้นไปที่บุคลากรในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มเติมความรู้ และเตรียมพร้อมต่อการปรับตัวสู่ AEC เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การส่งต่อและรับช่วงงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นการให้ความรู้ในเชิงลึกในรายสาขา โดยมีเป้าหมายพัฒนาแรงงานในพื้นที่จำนวน 5,000 ราย
4. พัฒนาวิสาหกิจ โดยให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกันรวมกลุ่มกัน เพื่อให้ที่ปรึกษาเข้าไปให้คำแนะนำและเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับการวางกำหนดนโยบาย ระบบการบริหารจัดการ การทำแผนกลยุทธ์ การกำหนดเป้าหมาย การประมาณการพัฒนาศักยภาพต่าง ๆ รวมทั้งการประเมินการใช้ทรัพยากรไม่ว่าจะเป็น แรงงาน วัตถุดิบ และเงินลงทุน เป็นต้น ซึ่งมีเป้าหมายในพื้นที่เข้าร่วมกับโครงการ จำนวน 650 กิจการ
5. การสร้างเครือข่ายธุรกิจ ด้วยการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสร้างเครือข่ายในการประกอบกิจการกับประเทศใกล้เคียง อาทิ เวียดนาม พม่า กัมพูชา และลาว เป็นต้น เพื่อสร้างความร่วมมือในระบบห่วงโซ่การผลิต ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างเครือข่ายในพื้นที่ได้ไม่ต่ำกว่า 10 เครือข่าย
โดยในอีก 2 ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่าพื้นที่ในแนวชายแดนไทย-ลาวจะได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการเปิดการค้าเสรีประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียน AEC ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงาน เงินทุน เสมือนฐานการผลิตเดียวกัน โดยจะลดอุปสรรคในด้านภาษีและกฎระเรียบทางด้านการส่งสินค้าระหว่าประเทศลง ซึ่งทางรัฐบาลได้เร่งผลักดันให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคให้เกิดการขนส่งสินค้าซึ่งมีเส้นทางเชื่อมโยงประเทศพม่า-ไทย-ลาว-เวียดนาม ตามแนวคิดโครงการพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ซึ่งจะส่งผลให้โครงระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(GMS Economic Corridors)เกิดการค้าขาย การลงทุนทั้งในภาคอุตสาหกรรมบริการ และเกษตรกรรมระหว่างประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวให้ดีขึ้น จากการมีงานทำ อันเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น ซึ่งทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีหน้าที่โดยตรงในการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการให้สามารถเสริมสร้างศักยภาพและแข่งขันได้โดยมีโครงอื่น ๆ อีกกว่า 40 โครงอาทิ โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (ECIT) โครงการพัฒนาความร่วมมือในระดับห่วงโซ่อุปทาน โครงการเพิ่มผลิตภาพอย่างมีนวัตกรรม (EDIPP)เป็นต้น
สำหรับผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลอุตสาหกรรมในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงรับคู่มือเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับผู้ประกอบการ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2202 4414 – 18 หรือเข้าไปที่ http://www.dip.go.th
-กภ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net