สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง(THAIST) สวทน. เปิดเครือข่าย 19 องค์กรและมหาวิทยาลัย ร่วมมือพัฒนาคนและเทคโนโลยีขนส่งระบบรางของประเทศ ชี้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน จะต้องการบุคลากรอีก 17,220 คน

16 Aug 2013

กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น

ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข ( Dr.Peeraphan Palusuk) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือภาคีเครือข่ายพัฒนากำลังคนและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง 19 องค์กร ระหว่าง สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (THAIST) สนง.คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ(สวทน) โดย ศ.ดร. วัลลภ สุระกำพล ผู้อำนวยการ และผู้บริหารจากองค์กรต่างๆ รวม 19 องค์กรมาร่วมงานครั้งประวัติศาสตร์นี้ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ , บริษัท ซีเมนส์ จำกัด ประเทศไทย ,บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) , ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย , ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, การรถไฟแห่งประเทศไทย ,สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ,สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ,คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น , มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี , คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ , สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง , คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ,สนง.เศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

ศาสตราจารย์ ดร. วัลลภ สุระกำพลธร (Prof.Dr. Wanlop Surakampontorn) ผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ( ไทยเอสที - THAIST) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ(สวทน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “คณะรัฐมนตรีได้มีคำแถลงนโยบาย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ให้พัฒนาระบบขนส่งทางราง โดยเชื่อมโยงโครงข่ายและการบริหารจัดการขนส่งผู้โดยสาร สินค้าและบริการที่สะดวกและปลอดภัยทั้งในพื้นที่ชนบท พื้นที่เมือง และระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการขยายฐานการผลิตตามแนวเส้นทางรถไฟ รัฐบาลจึงมีนโยบายพัฒนาระบบรถไฟทางคู่เชื่อมชานเมืองกับหัวเมืองหลัก สร้างเส้นทางระบบรางเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ขยายทางรถไฟสายแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จากท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิไปยังชลบุรี สร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ กรุงเทพฯ – นครราชสีมา กรุงเทพฯ – หัวหิน และเร่งรัดพัฒนารถไฟฟ้า 10 สายทางในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล โดยเริ่มก่อสร้างให้ครบภายใน 4 ปี คิดเป็นเงินลงทุน 2.0 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้เป็นการลงทุนด้านระบบขนส่งทางรางมากถึง 1.66 ล้านล้านบาท

ที่ผ่านมานั้น การลงทุนด้านการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ ได้ใช้วิธีการซื้อเทคโนโลยีและจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด โดยยังขาดกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศสู่ผู้เกี่ยวข้องในประเทศอย่างเพียงพอ รวมทั้งไม่สามารถใช้โอกาสที่มีโครงการลงทุนในการสร้างฐานความรู้ด้านระบบรางของประเทศนอกเหนือจากองค์กรคู่สัญญาให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้เทคโนโลยี จึงส่งผลให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กระบวนการคิดวางแผน การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ตลอดไปจนถึงการออกแบบ การก่อสร้าง การบริหารและการบำรุงรักษาระบบการเดินรถ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การดูดซับและเรียนรู้เทคโนโลยีด้านนี้ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จไม่มากนัก คือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีพื้นฐานความรู้และทักษะในด้านระบบรางเพียงพอที่จะดูดซับเทคโนโลยีจากบริษัทต่างประเทศและบ่มเพาะความรู้เทคโนโลยีเหล่านั้นเพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับที่เหมาะสมในอนาคต

จากผลการศึกษาของ สวทน. ได้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการวิศวกรและช่างเทคนิคที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2558 จำนวนมากกว่า 2,000 คน จากจำนวนบุคลากรที่ต้องการประมาณ 3,679 คน และ สวทน. ได้ทำการทบทวนการศึกษาปริมาณความต้องการกำลังคนในด้านนี้อีกครั้ง พบว่า เมื่อโครงการลงทุนด้านระบบรางของรัฐบาลแล้วเสร็จ จะมีความต้องการวิศวกรและช่างเทคนิคเพิ่มเป็น 17,220 คน จากจำนวนบุคลากรที่ต้องการทั้งสิ้นประมาณ 30,000 คน

กิจกรรมโครงการหลัก ที่ได้ดำเนินการเพื่อเริ่มสร้างให้เกิดระบบการพัฒนากำลังคนด้านระบบขนส่งทางรางขึ้น ดังนี้

  • สวทน. ได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วางระบบการฝึกอบรมวิศวกรจากหลากหลายสาขาให้มีความรู้ด้านวิศวกรรมระบบขนส่งทางราง โดยในการจัดหลักสูตรได้ระดมความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาคมหาวิทยาลัยและหน่วยงานเดินรถเข้ามาร่วมดำเนินการ และได้นำร่องฝึกอบรมรุ่นแรกจำนวน 30 คน รุ่นที่สองจำนวน 34 คน และขณะนี้อยู่ระหว่างการฝึกอบรมรุ่นที่สามจำนวน 34 คน บุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมดังกล่าวถือว่าเป็น “เมล็ดพันธุ์” ที่จะขยายและสร้างเครือข่ายฐานความรู้ด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศ
  • สวทน. ดำเนินการให้มีการจัดหลักสูตรการศึกษาด้านวิศวกรรมระบบรางในสถาบันการศึกษาอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก โดยร่วมกับมหาวิทยาลัย 5 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาให้มีรายวิชาด้านวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ในสาขาที่เกี่ยวข้องจำนวน 12 รายวิชา และในระยะต่อไปจะมีการสนับสนุนให้เกิดการนำรายวิชาที่พัฒนาขึ้นไปนำร่องการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่อไป
  • สวทน. ดำเนินการให้มีการจัดหลักสูตรการศึกษาด้านระบบรางระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในสถาบันการศึกษาระดับอาชีวะศึกษาอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในการพัฒนารายวิชาด้านระบบขนส่งทางรางและเป็นพี่เลี้ยงให้แก่สถาบันการศึกษาด้านอาชีวศึกษาเพื่อนำร่องในการจัดการเรียนการสอน 3 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม และ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค)

นอกจากนี้ ไทยเอสที ได้ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะเข้าร่วมเป็นเครือข่ายฯ อย่างเป็นทางการในวันนี้ ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยีเพื่ออนาคต สาขาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงและรถไฟฟ้า โดยได้เปิดหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางรางระดับปริญญาตรีขึ้นเป็นครั้งแรกในภาคการศึกษาที่ 1/56 มีนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 49 คน

นับจากนี้ไปภาคีเครือข่าย รวม 19 หน่วยงานร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ เพื่อดำเนินงาน “เครือข่ายพัฒนากำลังคนและความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศ” เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของการดำเนินงานเพื่อพัฒนากำลังคนและความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านระบบขนส่งทางรางต่อไป

ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข ( Dr.Peeraphan Palusuk) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในขณะนี้ แผนการดำเนินงานโครงการด้านระบบขนส่งทางราง ที่กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบอยู่ระหว่างดำเนินการหลายส่วน อาทิ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต โครงการภายใต้ความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แก่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ – บางใหญ่ สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค และบางซื่อ – ท่าพระ และสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ และแบริ่ง – สมุทรปราการ รวมถึงส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ กทม. ช่วงวงเวียนใหญ่-บางหว้า เป็นต้น

สำหรับการพัฒนาระบบขนส่งทางรางในภูมิภาค ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีระบบรางอยู่ทุกภาคทั่วประเทศ กว่า 4,000 กิโลเมตร ที่ใช้ขนส่งคนและสินค้าได้ แต่มีระบบทางคู่ซึ่งอยู่ในรัศมีจากกรุงเทพมหานครประมาณ 100-200 กิโลเมตรเท่านั้น ประสิทธิภาพการขนส่งทางรางจึงค่อนข้างน้อย ถ้าสามารถพัฒนาระบบทางคู่ไปยังแหล่งวัตถุดิบในภาคต่างๆ เพื่อเข้ามาสู่กรุงเทพมหานคร ที่มีทั้งโรงงานอุตสาหกรรม และศูนย์กลางการส่งออกทางน้ำ โดยเพิ่มประสิทธิภาพความเร็วรถ การตรงเวลา ก็จะสามารถเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากทางถนนมาเป็นทางรางได้มากขึ้น

ปัจจุบัน รฟท. มีบทบาทในการขนส่งสินค้าเพียง 2% ของปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจะเร่งดำเนินการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบราง และสนับสนุนให้ภาคเอกชนมาใช้ระบบการขนส่งทางรางให้มากขึ้น โดยการใช้แรงจูงใจ เรื่องของอัตราค่าขนส่งที่ถูก และความตรงต่อเวลาในการส่งสินค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการมาก รวมถึง ความสะดวกบริเวณสถานี เรื่องเอกสาร การรับส่งสินค้า เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขนส่งทางราง

เพื่อการพัฒนาเส้นทางรถไฟให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รัฐบาลมีนโยบายและได้เตรียมงบประมาณเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ระบบรถไฟทางคู่มีประสิทธิภาพ โดยจะเพิ่มจำนวนเที่ยวของขบวนรถไฟ เพิ่มระดับความเร็วเพื่อให้รถไฟตรงต่อเวลา การลดและแก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างถนนกับรถไฟ ทำรั้วเพื่อป้องกันคนและสัตว์เข้ามาในพื้นที่เขตการเดินรถ ปรับทางให้มีความแข็งแรง ใช้รางที่รับน้ำหนักได้มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยให้รถไฟทางคู่สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพสูงคุ้มค่าแก่การลงทุน

นอกจากเรื่องการพัฒนากำลังคนแล้ว สวทช. ได้ดำเนินการสร้างการเรียนรู้ ผ่านการจัดพิมพ์หนังสือและบทความ จัดทำเว็บไซต์ จัดการสัมมนาและเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อจะให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในระบบขนส่งทางรางในวงกว้าง และเพื่อจะร่วมผลักดันนโยบายการขนส่งทางรางของประเทศไปในทิศทางที่จะพึ่งความสามารถของตนเองได้ในอนาคตต่อไป

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net