กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ซิลเลเบิล
สถาบันยานยนต์ หนึ่งในองค์กรผู้ร่วมจัด “งานแสดงสินค้ายานยนต์ ชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่ง 2557” หรือ Thailand Auto Parts & Accessories 2014 เชื่อมั่นงาน TAPA 2014 จะช่วยสนับสนุนผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทย พร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อนำไทยสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์สีเขียวระดับโลก
ดร.อรรถวิท เตชะวิบูลย์วงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า “เมื่อเปรียบเทียบในระดับอาเซียน อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีจุดแข็งคือ ตลอดห่วงโซ่อุปทานของการผลิตรถยนต์อยู่ในเมืองไทยทั้งหมด ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ สินค้ายานยนต์ที่ผลิตในไทยได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพดี มีระบบการจัดการที่ดี รวมถึงแรงงานมีวินัยมากกว่าประเทศคู่แข่ง นอกจากนี้ ประเทศไทยมีกำลังการผลิตมากที่สุดในอาเซียน โดยข้อมูลปี 2012 พบว่าไทยผลิตรถได้ถึง 2.75 ล้านคัน และเรายังครองแชมป์ผู้ผลิตรถกระบะ 1 ตัน อันดับ 1 ของโลก ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของครึ่งปี 2556 ไทยขยับขึ้นเป็นฐานการผลิตยานยนต์อันดับที่ 9 ของโลกซึ่งเรียกได้ว่าสอดคล้องกับแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบันยานยนต์”
“ทั้งนี้ ตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นแผนระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2559 นั้น เราตั้งเป้าให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตยานยนต์สีเขียวระดับโลก โดยกลยุทธ์ที่ใช้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้ประสบความสำเร็จตามเป้า ได้แก่การสร้างให้ไทยเป็นศูนย์ความเป็นเลิศ 3 ด้าน หรือ 3 Center of Excellence รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน 2 ประการ ในแง่ของการสร้างศูนย์ความเป็นเลิศนั้น กลยุทธ์แรกคือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเช่น การวิจัยพัฒนาพลังงานทดแทนพวกไบโอดีเซลหรือเอทานอล การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างรถยนต์น้ำหนักเบา หรือ Lightweight Vehicle เช่น การใช้อัลลอยแทนเหล็ก การทำสี ยางรถ ลงไปถึงกระทั่งใช้วิธีการเชื่อมด้วยเลเซอร์ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องพลังงานได้ เพราะยิ่งรถมีน้ำหนักเบาก็ยิ่งประหยัดน้ำมัน กลยุทธ์ข้อที่ 2 คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานให้สูงตามความต้องการและการขยายตัวของโรงงานผลิต กลยุทธ์ที่สามเพื่อสร้างความเป็นเลิศคือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการ คือทำอย่างไรให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิต ลดต้นทุน พัฒนาห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สถาบันยานยนต์ เสริมว่านอกเหนือจากการเป็นศูนย์ความเป็นเลิศ 3 ด้านแล้วยังต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน ได้แก่ การสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเช่น ศูนย์ทดสอบยานยนต์ครบวงจร ซึ่งปัจจุบันทางสถาบันยานยนต์เอง ก็มีศูนย์ทดสอบให้บริการต่างๆ อาทิ ทดสอบมาตรฐานอุตสาหกรรม เช่น ทดสอบด้านมลพิษ ระบบห้ามล้อ ทดสอบเรื่องยาง เป็นต้น นอกจากนี้ ทางสถาบันฯ ยังได้จัดทำ Automotive Intelligence Unit หรือศูนย์สารสนเทศยานยนต์ ที่รวบรวมข้อมูล ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นสถิติยานยนต์ ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบการ รวมไปถึงเรื่องของเทคโนโลยียานยนต์ต่างๆ นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรม นั่นคือเรื่องของนโยบายที่ออกมาสนับสนุน ยกตัวอย่างเช่น นโยบายส่งเสริมการลงทุน นโยบายและมาตรการเรื่องภาษีสรรพสามิต เช่น นโยบายภาษีจูงใจ ซึ่งผู้ใช้รถอีโคคาร์ หรือรถที่ใช้น้ำมัน E20 E85 จะได้ลดภาษี เป็นต้น
ดร.อรรถวิท แสดงความเชื่อมั่นว่าการจัดงานแสดงสินค้ายานยนต์ ชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่ง 2557 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม 2557 ณ ไบเทค บางนา นั้น นอกจากจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้ขยายธุรกิจแล้ว ยังถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยตอกย้ำและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ ตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อความเป็นเลิศในระดับอาเซียนและระดับโลก
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit