กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ เตือนประชาชนระวังภัยไข้เลือดออกเดงกีระบาดในผู้ใหญ่ โดยในปีนี้พบผู้ป่วยเพิ่มจำนวนสูงมากขึ้นหลายเท่า พร้อมเผยแนวทางทางการวินิจฉัยและการรักษาไข้เดงกี และไข้เลือดออกเดงกีในผู้ใหญ่ ย้ำปีพ.ศ. 2556 ให้แพทย์ทั่วประเทศเฝ้าระวังสังเกตอาการผู้ป่วยให้ถี่ถ้วน
ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่างๆ และมีวิธีการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่การลดภาระความเจ็บป่วยจากโรค รวมถึงลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้กับประชาชน และในขณะนี้ได้เกิดการระบาดของโรคไข้แดงกีและไข้เลือดออกแดงกีในผู้ใหญ่ ทำให้ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ต้องออกมาประกาศเตือนประชาชนและแจ้งข่าวสารไปยังแพทย์ทั่วประเทศให้เตรียมรับสถานการณ์และหมั่นเฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วย ที่เข้ามารักษาที่คลินิกหรือโรงพยาบาลให้มากที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้วประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์การเกิดโรคบ่อยโดยเฉพาะในชุมชนเมือง แต่ในปี 2556 นี้ ไข้เดงกีและไข้เลือดออกแดงกี มีแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งอาจเกิดมาจากการขยายตัวของประชากร การเกิดชุมชนเมืองใหญ่ รวมทั้งการเดินทางอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้การกระจายของยุงลายที่นำเชื้อไวรัสเดงกีหลายสายพันธุ์ หรือบุคคลที่นำเชื้อนี้ไปด้วยในระยะที่มีอาการป่วย ในประเทศไทย โรคไข้เลือดออกพบได้ตลอดทั้งปีแต่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน และการระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย มักมีการระบาดปีเว้นสองปีแต่พบว่าในระยะหลังกลับพบว่ามีการระบาดไม่มีแบบแผนแน่นอนซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง
ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลและที่ปรึกษากรมควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถิติและสถานการณ์ปัจจุบันในการระบาดของโรคไข้เลือดออกเดงกีในประเทศไทยว่า ในปีพ.ศ. 2556 นี้ พบจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเดงกี เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการระบาดของโรคไข้เลือดออกเดงกีในปีที่ผ่านๆมา โดยมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกีในบางเดือนเพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 10-14 ปี (29.98%) รองลงมา เป็นผู้ป่วยอายุ 15-24 ปี (25.39%) และผู้ป่วยอายุ 7-9 ปี (12.51%) ภาคที่มีอัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเดงกีสูงสุด คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือรองลงมาเป็นภาคใต้ ภาคเหนือและภาคกลาง ตามลำดับ โดยพาหะนำโรคไข้เลือดออกเดงกีคือยุงลาย ดังนั้นการป้องกันโรค จึงต้องอาศัย การควบคุมการแพร่พันธุ์ยุงลายและป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเด็งกี ที่นำออกมาใช้กับประชากรทั่วไป
ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร เลขานุการและอนุกรรมการร่างแนวทางการวินิจฉัยไข้เดงกีและไข้เลือดออกเดงกีในผู้ใหญ่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าโรคไข้เดงกีและไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส dengue ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3, DEN-4 ที่นำโดยยุงลายในปัจจุบันโรคไข้เดงกีและไข้เลือดออกพบเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย มหาสมุทรแปซิฟิกและในตอนกลางและตอนใต้ของทวีปอเมริกา ทั้งนี้เด็กเป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้บ่อยที่สุด ในปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กเสมอไป ผู้ใหญ่และวัยรุ่น ก็เป็นโรคนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งการติดเชื้อในผู้ใหญ่แม้ว่าจะมีเปอร์เซ็นต์น้อยกว่าเด็ก (ประมาณร้อยละ 20-40) แต่ก็จะมีจำนวนผู้ป่วยใหญ่มีจำนวนสูงขึ้นมากในช่วงที่มีการระบาดของโรค
สำหรับผู้ใหญ่ที่มีโรคไข้เดงกีและไข้เลือดออกโดยทั่วไป มีอาการ/อาการแสดงและการดำเนินโรคคล้ายกับที่พบในเด็ก ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เดงกีจะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว มีจุดเลือดออก แต่ผู้ป่วยบางรายมีอาการมากเป็นโรคไข้เลือดออกและมักต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเช่น ปวดท้องมาก มีเลือดออกผิดปกติ ซึมลง บางรายอาจมีภาวะช็อกร่วมด้วย การติดเชื้อผู้ใหญ่มักพบว่าเป็นไข้เดงกีมากกว่าไข้เลือดออก แต่ในรายที่เป็นไข้เลือดออกมักพบได้บ่อยในวัยรุ่น ผู้ใหญ่อายุน้อย อาการแสดงรุนแรงคล้ายที่พบในผู้ป่วยเด็ก และผู้ป่วยไข้เลือดออกอาจมีอาการหนักเนื่องจากได้รับการรักษาที่ล่าช้าและผู้ใหญ่ส่วนมากจะไปพบแพทย์ช้าไปจนเมื่อมีอาการมากแล้ว จึงทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ผู้ใหญ่ยังมีโรคประจำตัวมากกว่าในเด็ก เช่น โรคแผลกระเพาะอาหารที่ทำให้อาการเลือดออกมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและโรคไต โรคตับ โรคหัวใจ ที่ทำให้การรักษายุ่งยากมากขึ้น ดังนั้นการจัดทำแนวทางการดูแลรักษาผู้ใหญ่ที่มีโรคไข้เดงกีและไข้เลือดออกจึงมีความสำคัญเพราะจะช่วยให้แพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยให้การวินิจฉัย การรักษาได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสม
ศ.นพ.สมิง เก่าเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการร่างแนวทางเวชปฏิบัติและการจัดการความรู้ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกีและการเฝ้าระวัง จะต้องมีการสังเกตจากผู้ป่วยที่มีอาการไข้เฉียบพลันร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น มีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระดูก และมีผื่น นอกจากนี้ผู้ป่วยจะมีไข้เฉียบพลันและไข้สูงลอย 2-7 วัน มีภาวะเลือดออกอย่างน้อยมี tourniquet test ให้ผลบวกร่วมกับอาการเลือดออกอื่น ๆ และมีจำนวนเกร็ดเลือดน้อยกว่า/เท่ากับ 100,000 ตัว/ลบ.มม.และเกิดภาวะเลือดข้นขึ้น ตับโตมักกดเจ็บ มีการเปลี่ยนแปลงในระบบไหลเวียนโลหิต หรือมีภาวะช็อก ซึ่งการป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกี ในขณะนี้ขอให้ประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งน้ำที่เพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโดยเฉพาะในพื้นที่ ที่มีผู้ป่วยในระยะ 500–1,000 เมตร รอบๆ บ้านและหมั่นปิดฝาโอ่ง เทน้ำในภาชนะที่ไม่ใช้แล้วทิ้งเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่พันธุ์ของยุงลาย โดยเป็นการป้องกันในเบื้องต้นในขณะนี้ ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกี จึงขอให้ประชาชนทั่วไปเฝ้าระวังด้วย หากมีอาการป่วยในเบื้องต้น ให้รีบพบแพทย์ทันที
สำหรับแพทย์ทั่วไป ที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางและวิธีการรักษาโรคไข้เลือดออกเดงกี สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี ชั้น 7 เลขที่ 2 ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 โทรศัพท์ 02-7166744 ต่อ 14หรืออีเมล์: [email protected], Download Guideline : www.rcpt.org/index.php/news/2012-09-24-09-26-20.html
-กภ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit