กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--คอร์แอนด์ พีค
แพทย์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เผยปัญหาสิวของวัยรุ่นกำลังเป็นปัญหาบั่นทอนกำลังทรัพย์และกระทบต่อรายจ่ายในยุคเศรษฐกิจถดถอย เมื่อต้องหันไปใช้บริการรักษาตามคลินิกหรือสถานเสริมความงามที่มีค่าบริการราคาแพง แพทย์ย้ำการเลือกวิธีการดูแลรักษาสิวเป็นเรื่องสำคัญ ควรเลือกวิธีที่เหมาะสมและระวังการเกิดโรคแทรกซ้อน สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ จึงเตรียมจัดโครงการประกวดคลิป “สวยใสไร้สิว” สร้างแรงจูงใจให้วัยรุ่นใส่ใจตัวเองมากขึ้น
ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ ประธานประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยเตรียมจัดการประกวดคลิปการดูแลผิวพรรณของวัยรุ่น โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนในระดับชั้นมัธยมปลายทั่วประเทศ จัดส่งคลิปวีดีโอสั้น ในชื่อหัวข้อ “สวยใสไร้สิว...การดูแลผิวพรรณ” มีความยาวประมาณ 3 นาที โดยให้ถ่ายคลิปuploadขึ้นYoutube และส่งlink มาที่อีเมล์ของสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ ที่ [email protected] หรือจัดส่งมาเป็นซีดีส่งทางไปรษณีย์ วงเล็บมุมซองว่า ประกวดโครงการ“สวยใสไร้สิว” มาที่ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เลขที่ 2 อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี ชั้น 9 ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 หรือโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-716-5256 ทั้งนี้สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ จะนำคลิปวีดีโอ ที่ส่งเข้าประกวดขึ้น Facebook ของสมาคมฯ โดยจะทำการคัดเลือกคลิปวีดีโอจากผู้เข้าร่วมประกวดจำนวน10 ทีม ที่ได้รับการกด Like มากที่สุด มีเนื้อหาที่มีประโยชน์และสร้างสรรค์ เพื่อเข้ารอบสุดท้าย เข้าแข่งขันการตอบปัญหาในงาน “เยาวชนหน้าใส...ใส่ใจการดูแลผิวหนัง” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพุธที่26 มีนาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ทีมที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัล 5,000 บาท พร้อมโล่ห์เกียรติยศ รองชนะเลิศอันดับ1 ได้รับรางวัล3,000 พร้อมโล่ห์เกียรติยศ รองชนะเลิศอันดับ2 ได้รับรางวัล2,000 พร้อมโล่ห์เกียรติยศ และรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล รางวัลละ 1,000 บาท พร้อมโล่ห์เกียรติยศ คลิปที่ได้รับเลือกทั้ง 5 คลิป จะได้รับการนำเสนอบนเว็บไซต์ของสมาคมฯและ Facebook ของสมาคมฯต่อไป
พญ.มาริษา พงศ์พฤฒิพันธ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและคณะอนุกรรมการวิชาการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาของผิวพรรณกับปัญหาสิวกำลังสร้างผลกระทบทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างมากมายโดยเฉพาะเยาวชนทั้งชายและหญิง รวมไปถึงส่งผลกระทบต่อรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น เมื่อต้องเข้ารับการรักษาตามคลินิกเสริมความงามต่างๆ ทั้งๆ ที่ ปัญหาสุขภาพการเกิดสิว เป็นคุณลักษณะที่บ่งบอกถึงการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยประชากรอายุระหว่าง 11-30 ปี เป็นสิวกันมากถึงร้อยละ 80 โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงมักจะเริ่มมีสิวก่อนมีประจำเดือนครั้งแรกประมาณ 1 ปี อย่างไรก็ตาม กลุ่มประชากรส่วนหนึ่งอาจยังคงมีสิว แม้จะอายุเกิน 30 ปี และเป็นอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงอายุ 40 ปี ซึ่งประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง และเมื่อเป็นสิวแล้ว จะเกิดความรู้สึกอายและหาแนวทางการเลือกรับการรักษาอย่างถูกต้องสิวจึงเป็นปัญหาหนักใจต่อความมั่นใจ บุคลิกภาพ และการเข้าสังคมมาอย่างยาวนาน
พญ.มาริษา กล่าวว่า สิวเป็นโรคของต่อมขน (Pilosebaceous Unit) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากในวัยรุ่น สิวพบมากในบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่หนาแน่น ได้แก่ ใบหน้า แผ่นหลัง และหน้าอก ลักษณะเป็นตุ่มสิวอุดตัน และสิวอักเสบเป็นตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง ถุงน้ำ (Cysts) เมื่อสิวหายแล้วอาจพบรอยแดงและรอยดำ ตามหลังสิวอักเสบ และเกิดเป็นรอยแผลป็นจากสิว ส่วนสิวที่เกิดจากอักเสบของต่อมขน เกิดจากสาเหตุหลัก 4 ประการ คือ 1.เซลล์ที่เส้นขนแบ่งตัวมากผิดปกติ จนปิดกั้นทางออก ทำให้ไขมันรวมทั้งขี้ไคล (Keratin) จากเซลล์และแบคทีเรียสะสมอยู่ในต่อมขน เนื่องจากไม่มีทางระบาย เกิดเป็นตุ่มคอมีโดน (Comedone) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสิว 2.ต่อมไขมันผลิตไขมันมากเกินไป และมีการสะสมอยู่ในต่อมขนมากจนทำให้คอมีโดนขยายขนาดขึ้น 3.เกิดการอักเสบที่ต่อมขนนั้นจากแบคทีเรียที่สะสมอยู่ และ 4. การติดเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes ในบริเวณที่เป็นสิวนั้นจะกระตุ้นให้การอักเสบขยายวงกว้างกลายเป็นตุ่มนูน ตุ่มหนอง ถุงน้ำ
ผศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและคณะอนุกรรมการวิชาการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการรักษาสิวอย่างปลอดภัยและได้ผลในระยะยาวหรือการรักษาสิวที่ประสบความสำเร็จนั้นประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. การรักษาด้วยยา ไม่ว่าจะเป็นยาทาหรือยารับประทาน2.การรักษาเสริม เช่น การกดสิว ฉีดสิว และ 3.การปฎิบัติตัวอย่างถูกต้อง ซึ่งมีความสำคัญมากไม่แพ้ปัจจัยด้านอื่นๆ ซึ่งหากได้ทำประกอบกันแล้ว การรักษาสิวอย่างปลอดภัยจะได้ผลในระยะยาว ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากสำหรับวัยรุ่น ยารักษาสิวทั้งชนิดทามีหลายชนิด แต่ละชนิดจะมีจุดประสงค์ที่จะแก้ไขแต่ละสาเหตุ เช่น บางตัวลดการอุดตัน บางตัวช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบ ลดรอยแดง ลดแผลเป็น เป็นต้น และยารักษาสิวส่วนใหญ่ทำให้เกิดการระคายเคือง ดังนั้นวิธีใช้ต้องใช้ให้ถูกต้อง ตามลำดับ
ส่วนยารับประทานจะใช้ในผู้ที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฎิชีวนะชนิดรับประทาน อาทิ ยาในกลุ่ม Tetracycline Doxycycline หรือ Erythromycin เป็นต้น ยาปฎิชีวนะชนิดรับประทานออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ และเป็นกลไกลสำคัญในการเกิดสิว นอกจากยาจะสามารถลดจำนวนแบคทีเรียแล้ว ยาบางชนิดยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบอีกด้วย โดยปกติ หลังการรักษาด้วยยาปฎิชีวนะแล้วประมาณ 4 – 8 สัปดาห์ จะพบว่าอาการดีขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องเกิน 3 เดือน ยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย จนเกินความจำเป็น ได้แก่
กรดวิตามินเอชนิดรับประทาน (Isotretinoin) หรือ โรเอคคูเทน Roaccuatane ทั้งยาที่เป็นoriginal และlocal made ออกฤทธิ์รักษาสิวโดยยับยั้งทุกกลไกในการเกิดโรค จึงเป็นยาที่ใช้ได้ผลดีมากในการรักษา แต่เนื่องจากมีผลข้างเคียงสูง จึงสงวนไว้ใช้ในรายที่มีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้ เช่น เป็นสิวรุนแรงมาก, ได้รับการรักษาด้วยยาอื่นๆ แล้วไม่ดีขึ้น, ลดการเกิดแผลเป็นสิวชนิดรุนแรง, เป็นสิวรุนแรงปานกลาง แต่มีการกลับเป็นซ้ำบ่อย ๆ และผู้ป่วยมีความเครียดอย่างมากจากการเป็นสิว
ผลข้างเคียงของยาที่พบ คือ ผิวแห้ง ปากแห้งและตาแห้ง อาการนี้พบในผู้ป่วยแทบทุกราย โดยเฉพาะถ้าให้ยาในปริมาณสูง สำหรับผิวและริมฝีปาก ผู้ป่วยควรทาครีม หรือสีผึ้งวาสลีนเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นและบรรเทาอาการ ในผู้ป่วยที่ใส่เลนส์สัมผัส (Contact Lenses) ควรงดสวมชั่วคราวในระหว่างการใช้ยานี้ ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 15 มีอาการปวดเมื่อยหลัง และกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ยาบางชนิดก่อให้เกิดความพิการอย่างรุนแรงต่อทารกในครรภ์ เมื่อให้ยานี้ในผู้ป่วยสตรี แพทย์จะเน้นย้ำให้ผู้ป่วยคุมกำเนิดในช่วงรับการรักษา และภายหลังหยุดยาไปแล้วอย่างน้อย 1 เดือน ผลข้างเคียงในระบบทางเดินอาหาร กล่าวคือ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหารและบางรายตับอักเสบได้ แต่พบไม่บ่อย มีความผิดปกติของระดับไขมันในเลือดผู้ป่วยร้อยละ 25 -45 พบว่ามีปริมาณไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์(Triglyceride)สูงขั้นและผู้ป่วยร้อยละ31อาจจะมีปริมาณไขมันคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ในเลือดเพิ่มขึ้น อารมณ์แปรปรวนและซึมเศร้า แต่พบได้ไม่บ่อย ความผิดปกติของกระดูกในระยะยาว ซึ่งพบได้น้อยมาก แผ่นกระดูกปิดก่อนกำหนด มีผลให้กระดูกจะสั้นกว่าปกติ จึงไม่ควรใช้ในเด็กต่ำกว่า 18 ปี และการรักษาเสริมประกอบกับการใช้ยา การกดสิว ฉีดสิว หรือยิงเลเซอร์ จำเป็นแค่ไหน และได้ผลหรือไม่?
นอกจากการใช้ยาในการรักษาสิวแล้ว การรักษาเสริมที่หลากหลาย อาทิ การกดสิว การฉีดสิว ก็มีส่วนช่วยเสริมการรักษามาตรฐานให้ได้ผลดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจำไว้ ได้แก่ วิธีการเหล่านี้ก็ยังเป็นเพียงการรักษา “เสริม” เท่านั้น ไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงและป้องกันสาเหตุการเกิดสิว อีกทั้งการรักษาบางชนิดมีค่าใช้จ่ายสูง และต้องทำอย่างต่อเนื่องหลายครั้งจึงจะเห็นผล จึงควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนทุกครั้ง
การรักษาด้วยแสงและเลเซอร์ การรักษาด้วยแสง และเลเซอร์มีกลไกลคือ ใช้แสงในช่วงคลื่นที่เหมาะสม เพื่อลดจำนวนเชื้อสิว P.acnes และลดการทำงานของต่อมไขมัน อย่างไรก็ตามการศึกษาในปัจจุบัน ยังไม่สามารถประเมินถึงประสิทธิภาพ และผลการรักษาในระยะยาวของเครื่องมือชนิดต่างๆ ได้ รวมทั้งการรักษาแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูง และมักจะต้องทำการรักษาหลายครั้ง ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเพียงที่สนันสนุนการรักษาสิวด้วยแสงและเลเซอร์เพียงอย่างเดียว แต่คาดว่าในอนาคต แสงและเลเซอร์น่าจะมีบทบาทในการรักษาสิวมากขึ้น
สิววัยรุ่น รักษาอย่างไร : การรักษาสิวอย่างปลอดภัยและได้ผลในระยะยาว หรือการรักษาสิวที่ประสบความสำเร็จนั้น ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การรักษาด้วยยา ไม่ว่าจะเป็นยาทาหรือยารับประทาน การรักษาเสริม อาทิ การกดสิว ฉีดสิว และการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง ซึ่งมีความสำคัญมากไม่แพ้ปัจจัยด้านอื่นๆ ซึ่งหากทำได้ทั้ง 3 ประการประกอบกันแล้ว การรักษาสิวอย่างปลอดภัยและได้ผลในระยะยาว ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับวัยรุ่นอีกต่อไป
สื่อมวลชนสอบถามเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง) บริษัท คอร์แอนด์ พีค จำกัด
โทรศัพท์ 02-439-4600 ต่อ 8202
อีเมล์ : [email protected]
-นท-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net