กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
ร้านเหล้า-จากข่าวเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ กรณีมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)จัดเสวนา “ผ่าทางตันร้านเหล้ารอบสถาบันการศึกษา”ซึ่งสรุปผลการเสวนาเสนอให้มีการจัดระเบียบร้านเหล้ารอบสถาบันการศึกษาโดยการบังคับใช้กฎกระทรวงการคลัง เรื่อง ข้อบังคับเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตขายสุราแทน เพราะพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ไม่ได้ห้ามจำหน่ายรอบๆสถาบันการศึกษา เพียงแค่ห้ามจำหน่ายในสถาบันการศึกษาเท่านั้น อีกทั้งยังได้เสนอให้มีการจัดทำโซนนิ่งรอบสถาบันการศึกษาไม่ให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ได้เริ่มต้นการนำร่องระยะ 300 เมตร ลดจากเดิมที่เคยยื่นขอเสนอต่อกระทรวงการคลังเอาไว้ที่ 500 เมตร อย่างไรก็ตาม ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวยังคงติดขัดในกระบวนการมาหลายปี และปัจจุบันยังไม่มีการประกาศใช้แต่อย่างใด
ในกรณีดังกล่าวหนังสือพิมพ์อ่างแก้ว ได้ทำการสำรวจร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.)เบื้องต้นพบว่า ข้อมูลจากกรมพัฒนารายได้ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ เขตเทศบาลตำบลสุเทพ ระบุว่า มีร้านค้าจดทะเบียนประกอบการร้านเหล้า ร้านอาหารและเครื่องดื่ม บริเวณรอบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงปี 2554 – 2556 เพิ่มขึ้นจำนวน 9 ร้าน และมีร้านที่ได้ยกเลิกกิจการในช่วงปี 2554 – 2556 จำนวน 3 ร้าน นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจสถานประกอบการร้านเหล้าหรือสถานบันเทิงรอบ มช. ในรัศมี 300 เมตร พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 17 ร้าน โดยแบ่งเป็นเส้นหน้ามหาวิทยาลัย(ถนนห้วยแก้ว) จำนวน 2 ร้านด้านข้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 11 ร้าน และเส้นหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(ถนนสุเทพ) จำนวน 4 ร้าน
ด้าน รศ.ดร ธนารักษ์ สุวรรณประพิศ รองคณะบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แสดงว่าเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงฯการจัดโซนนิ่งร้านเหล้าและสถานบันเทิงรอบสถาบันการศึกษาในระยะ 300 เมตร ว่าเป็นไปได้ยากที่อยากจะผลักดันให้ออกมาบังคับใช้ ทั้งนี้ ตนเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาระดับประเทศ เพราะหากกฎหมายบ้านเมืองยังไม่ศักดิ์สิทธิ์ไม่สามารถควบคุมได้ ปัญหาเหล่านี้ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่สิ่งที่สามารถทำได้ คือ ขอความร่วมมือจากหอพักนักศึกษารวมถึงหน่วยงานในมหาวิทยาลัยคณะต่างๆให้จัดกิจกรรมภายใต้แผนโครงการ “ปัญญาชน คนไม่เมา” ด้วยการปลูกจิตสำนึกให้รู้จักตระหนักรู้ ให้รู้จักคิดเป็น คิดถูก รู้ว่าหากจะดื่มก็ควรรู้ว่าจะดับที่สามารถควบคุมตัวเองได้และไม่สร้างความเดือนร้านแก่ผู้อื่น หลักสำคัญก็ขึ้นอยู่กับตัวนักศึกษาเอง เพราทางมหาวิทยาลัยก็ไม่สามารถไปสั่งห้ามได้ ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งยังอยากให้เกิดความร่วมมือของมหาวิทยาลัย ชุมชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันดูแลด้วย
รศ.ดร.ธนารักษ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เองจะมีโครงการ USR-University Social Responsibility ได้ประสานงานกับเทศบาลตำบลสุเทพ ชุมชนย่านนิมมานเหมินทร์ และเทศบาลตำบลช้างเผือก เพื่อดูแลการดื่มเหล้าของนักศึกษา โดยจะมีการประชุมร่วมกันถึงผลกระทบของชุมชนที่มาจากการดื่มเหล้าของนักศึกษา ซึ่งจะหารือและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป นอกจากนี้ทางกรมสรรพสามิต ตำรวจ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และตัวแทนสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมถึง มช.จะร่วมกันในการออกตรวจสถานประกอบการร้านเหล้า และสถานบันเทิง โดยจะเป็นการสุ่มตรวจในแต่ละพื้นที่ทั่ว จังหวัดเชียงใหม่ อย่างไรก็ตามหากพบเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม หรือสร้างความเดือดร้อนก็สามารถแจ้งไปได้ที่ เบอร์ 0-5321-1048 ของสำนักงานสาธารณสุข
ด้าน ด.ต.ธนัง เบ้าสิงสวย เสนาธิการตำรวจ กองสืบสานสอบสวน สภ.ภูพิงค์ราชนิเวชน์ เผยว่า สำหรับร้านเหล้านั้นมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว คือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในการขอใบอนุญาตของผู้ประกอบการ รวมถึงบทลงโทษหากพบการกระทำความผิด อาทิ ส่งเสียงดัง ส่วนเจ้าหน้าที่มีหน้าที่เพียงควบคุม ตรวจสอบให้เป็นไปตามใบอนุญาต แต่ในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตได้ห่างเหินไป ไม่ค่อยมาตรวจสอบในเรื่องของร่างกฎหมายการจัดโซนนิ่งรอบสถาบันการศึกษา 500 เมตร เป็น 300 เมตรนั้น ตนยังไม่ทราบว่ามีความพยายามยื่นร่างวกฎหมายดังกล่าวอยู่ในเรื่องร้านเหล้าเจ้าหน้าที่ได้ไปตรวจสอบดูแลในช่วงกลางคืนเท่านั้น ตามเวลา เปิด – ปิดของสถาบันบริการที่กำหนดไว้ในกฎหมาย อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนที่ผ่านมาจากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่า มีร้านที่ถูกร้องเรียนว่าส่งเสียงดังจำนวน 4 ร้าน และร้านที่มีการจำหน่ายสุราแก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 2 ร้าน
ด้านผู้ประกอบการร้านเหล้าที่ประกอบกิจการในระยะ 300 เมตรใกล้ มช.รายหนึ่ง กล่าวว่า ตนไม่ทราบกรณีพยายามแก้ไขกฎกระทรวงจัดโซนนิ่งร้านเหล้ารอบสถานศึกษา จึงไม่ได้ติดตาม เพราะร้านตนมีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และเปิดมาเกือบ 2 ปีแล้ว ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางมาตรวจความเรียบร้อยทุกอาทิตย์ จึงไม่ค่อยมีปัญหาการกระทำผิดกฎหมาย จากการสอบถาม พบว่า กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการของร้านดังกล่าวร้อยละ 70 เป็นกลุ่มนักศึกษา
ด้านนายนภดล ศิวานนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเชิงดอยสุเทพ ได้ร้องเรียนกับกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อ่างแก้วว่า มีนักศึกษามากินเหล้าบริเวณร้านที่ใกล้โรงเรียน แม้ว่าร้านเหล้าปิดแล้ว แต่ก็ยังซื้อมากินต่อบริเวณหน้าโรงเรียน ในหลายครั้งได้ทิ้งเศษขวด แก้วพลาสติกไว้เกลื่อนหน้าโรงเรียน บางครั้งมีขวดแตก ตอนเช้ามีพระมาบิณฑบาต บ้างก็เหยียบจนเป็นแผล ก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องทิ้งเศษขยะพวกขวดเหล้าจำนวนมาก จนต้องยื่นหนังสือไปถึงอธิการบดี มช. เมื่อปีที่แล้ว ทำให้เงียบหายไปพักหนึ่ง แต่ล่าสุดเมื่อ 15 ก.ค. ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันขึ้นอีก
ส่วนนายอนุพงษ์ จันทวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มช. แสดงความเห็นต่อการจัดโซนนิ่งร้านเหล้ารอบสถานศึกษาในระยะรัศมี 300 เมตร ว่า การมีสถานบันเทิงใกล้สถานศึกษาอาจจะมีความปลอดภัยกับนักศึกษามากกว่า เพราะจะได้ไม่ไปไหนไกล และร้านใกล้สถานศึกษามีความเข้มงวดในการเปิดปิดอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ตัวนักศึกษาเอง เพราะร้านที่อยู่ไกลมหาวิทยาลัย ก็มีความนิยมจากนักศึกษาไม่ต่างจากร้านใกล้ๆเช่นกัน หากนักศึกษาประสงค์จะใช้บริการสถานบันเทิงเหล่านั้นจริง
ที่มา หนังสือพิมพ์อ่างแก้ว ปีที่ 38 ฉบับที่ 2 วันที่ 30 ก.ค – 19 ส.ค. 2556
ติดต่อ:
นายรักพงศ์ คำซาว โทร.087-3024761
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit