สมาคมศูนย์ส่งเสริมธุรกิจยูโรเปียน – อาเซียน หรือ อีเอบีซี เปิดตัวเอกสารท่าทีและจุดยืน ประจำปี 2556 ชี้มุมมองด้านการค้าการลงทุนของภาคธุรกิจยุโรปพร้อมข้อเสนอแนะ

06 Sep 2013

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์

สมาคมศูนย์ส่งเสริมธุรกิจยูโรเปียน – อาเซียน หรือ อีเอบีซี เปิดตัวเอกสารท่าทีและจุดยืนประจำปี 2556 ชี้มุมมองด้านการค้าการลงทุนของภาคธุรกิจยุโรปพร้อมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทย

ภาคธุรกิจยุโรปเสนอให้มีการพัฒนาด้านการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎระเบียบที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพรวมทั้งให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการทำเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรปเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าการลงทุน

สมาคมศูนย์ส่งเสริมธุรกิจยูโรเปียน – อาเซียน (อีเอบีซี) องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนของสหภาพยุโรป นำเสนอเอกสารท่าทีและจุดยืนของภาคธุรกิจยุโรปในประเทศไทยประจำปี 2556 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 นับแต่การก่อตั้งอีเอบีซีช่วงปลายปี 2554 โดยนำเสนอมุมมองของภาคธุรกิจยุโรปในด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (อียู) พร้อมด้วยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงระบบการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎระเบียบของไทยรวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนและเร่งผลักดันให้การเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-อียู ประสบความสำเร็จเพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุน รวมถึงสนับสนุนและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทย อีเอบีซี นำโดยนายร๊อลฟ-ดีเตอร์ ดาเนียล นายกสมาคมฯ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท สเต็ดเล่อร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำเสนอวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์หลักในการจัดทำเอกสารท่าทีและจุดยืนเพื่อนำไปสู่การหารือสร้างความร่วมมือในการดำเนินการกับภาครัฐให้มีผลเป็นรูปธรรมอย่างเป็นทางการ ในโอกาสต่อไป โดยมีฯพณฯ นายเดวิด ลิปแมน เอกอัครราชทูต-หัวหน้าสำนักงานคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทยให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ทั้งนี้ ในงานมีผู้แทนจากภาครัฐบาลไทย เอกอัครราชทูตจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป คณะทูตานุทูต และผู้บริหารจากภาคธุรกิจของยุโรปและไทยรวมกว่า 150 คนเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ณ โรงแรมโฟร์ ซีซั่น

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจยุโรปเชื่อมั่นว่า ภายใต้พลวัตการแข่งขันทางเศรษฐกิจโลกที่เข้มข้น อีกทั้งโอกาสและความท้าทายที่เป็นผลมาจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาเซียน การขับเคลื่อนและยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยการจัดทำนโยบายและการบังคับใช้กฎระเบียบที่มีความโปร่งใสมากขึ้น ลดและขจัดอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนและการประกอบธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการเปิดเสรีภาคบริการซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจดังเห็นได้จากตัวอย่างหลายประเทศพัฒนาแล้วที่มีระดับรายได้สูง ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับสิงคโปร์และมาเลเซียมากกว่าในอดีต สามารถก้าวทันกับคู่แข่งในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ประเทศไทยยังจำเป็นต้องวางแผนสร้างความมั่นคงทางพลังงานด้วยการเข้าถึงแหล่งพลังงานใหม่ที่ยั่งยืนและคุ้มค่า อุปสรรคทั้งหมดเหล่านี้ล้วนมีทางออกและภาคธุรกิจยุโรปพร้อมที่จะสนับสนุนด้วยประสบการณ์ความรู้ บุคลากรที่เชี่ยวชาญและแหล่งเงินทุน

ฯพณฯ นายเดวิด ลิปแมน เอกอัครราชทูต-หัวหน้าสำนักงานคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจยุโรป มีความแน่นแฟ้นและเอื้อประโยชน์เกื้อกูลต่อกันและกันกับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และนับวันจะทวีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น สำหรับเอกสารแสดงท่าทีและจุดยืนของภาคธุรกิจยุโรป ปี 2556 นี้ถือเป็นเอกสารสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเจรจาหารือกันระหว่างผู้แทนของภาคธุรกิจยุโรปในไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ซึ่งผมหวังว่า การหารือดังกล่าวจะส่งผลให้มีการพัฒนาภาคการค้าและการลงทุนให้มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและภาคสังคมที่แข็งแกร่งอันจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจยุโรปและประชาชนชาวไทยโดยรวม นอกจากนี้ ผมยังมั่นใจว่า การเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงทางการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป ที่กำหนดจะจัดขึ้นในประเทศไทยในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าจะมีความรุดหน้าและบรรลุผลสำเร็จด้วยดี”

มุมมองที่นำเสนอในเอกสารแสดงท่าทีและจุดยืนของภาคธุรกิจยุโรปประจำปี 2556 ได้ชี้ถึงปัญหาระดับโครงสร้างที่สำคัญและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข รวมทั้งนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ซึ่งรวบรวมมาจากประสบการณ์ตรงของผู้ประกอบการชั้นนำในภาคธุรกิจต่างๆ ผ่านการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจ 9 กลุ่มของอีเอบีซี อาทิ ยานยนต์ สุขภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประกันภัย อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งประธานและผู้แทนกลุ่มธุรกิจทั้ง 9 กลุ่มของอีเอบีซีได้นำเสนอรายละเอียดประเด็นสำคัญและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ควรได้รับการปรับปรุงและแก้ไขในแต่ละสาขาเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจะทำให้ประเทศไทยสามารถยกระดับความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนกับต่างประเทศอย่างรวดเร็วตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและทักษะเพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคตอันใกล้ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว

นายร๊อลฟ-ดีเตอร์ ดาเนียล ยังได้กล่าวเสริมว่า “อีเอบีซีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดทำและเผยแพร่เอกสารท่าทีและจุดยืนของภาคธุรกิจยุโรปประจำปี 2556 นี้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เอกสารฉบับนี้จะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนและผลักดันให้มีการหารือระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น เพิ่มโอกาสทางการค้าการลงทุนและยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและสหภาพยุโรปให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ปัจจุบัน ภูมิภาคอาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยแต่ละประเทศต่างเตรียมตัวและทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาตนเองให้พร้อมแข่งขันประเทศไทยจึงอาจตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค หากไม่ใช้โอกาสเปิดเวทีการค้าและการลงทุนที่โปร่งใสเพื่อดึงดูดแรงงานที่มีคุณภาพ เทคโนโลยีที่ทันสมัย และเงินทุนเข้าประเทศเพื่อเสริมสร้างการเติบโตให้แก่ประเทศในระยะยาว อีเอบีซีหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เอกสารท่าทีและจุดยืนฉบับนี้จะเป็นแนวทางสำหรับผู้กำหนดนโยบายเพื่อนำไปใช้ในการวางแนวทางการพัฒนาประเทศไทยในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงในขณะนี้ และข้อเสนอแนะที่นำเสนอไว้ในเอกสารฉบับนี้จะมีการนำไปใช้ในการพิจารณาหารือในรายละเอียดร่วมกันต่อไป”

-กภ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net