สุภิญญาแย้ง ไม่เห็นด้วยการฟ้องทีดีอาร์ไอและสื่อสาธารณะ

06 Sep 2013

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--กสทช.

กสทช.สุภิญญา ไม่เห็นด้วยกับการฟ้องร้องดร.เดือนเด่น – ทีดีอาร์ไอ และณัฐฐา – ไทยพีบีเอส พร้อมย้ำ! กสทช.ต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ ควรใช้วิธีดีเบตข้อมูลผ่านสื่อสาธารณะแทน

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน เปิดเผยความเห็นหลังมีข่าว สำนักงาน กสทช. และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทค. 4 คน(ไม่รวม กสทช.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา) ร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทใส่ข้อความเป็นเท็จ กับ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) และนางสาวณัฐฐา โกมลวาทิน ผู้สื่อข่าวและผู้ดำเนินรายการ “ที่นี่ไทยพีบีเอส” จากกรณีการนำเสนอข่าวการออก (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ... หรือ ร่างประกาศสัมปทานจำแลง(ที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์)เมื่อกลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนางสาวสุภิญญา กล่าวว่า “การฟ้องร้องครั้งนี้ตนไม่เห็นด้วยอย่างมาก เพราะถือเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อ เสรีภาพนักวิชาการ และเสรีภาพในการนำเสนอข่าวที่ทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรอิสระภาครัฐจากคนภายนอก การฟ้องร้องครั้งนี้กลับยิ่งทำให้องค์กรได้รับความเสียหายมากกว่า เพราะการที่ กสทช.ถูกวิพากษ์วิจารณ์และอาจไม่พอใจกับข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบนั้น ก็สามารถใช้สิทธิในการโต้แย้ง (Rights of Reply) เพื่อชี้แจงข้อมูลผ่านการแถลงข่าว ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการใช้งบประมาณซื้อพื้นที่สื่อเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์งานของ กสทช. ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด รวมทั้งพบว่าสถานีโทรทัศน์บางช่องได้เชิญกรรมการบางท่านไปออกรายการเพื่อชี้แจง แต่กลับได้รับการปฏิเสธไม่ร่วม การกระทำเช่นนี้ย่อมอาจถูกมองได้ว่าเป็นการปฏิเสธการตรวจสอบจากภายนอก ซึ่งขัดเจตนารมณ์การเป็นองค์กรอิสระที่ต้องมีหลักธรรมาภิบาลเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้เคยมีความพยายามของ กสทช. บางท่านเสนอวาระเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. เพื่อเสนอให้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของกรรมการเสียงข้างน้อย ซึ่งตนเองไม่เห็นด้วยกับวาระดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าเป็นการลิดรอนสิทธิในการแสดงความเห็นของกรรมการที่เห็นต่าง แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะขยายไปสู่การฟ้องร้องนักวิชาการและสื่อสาธารณะ คงต้องมีการทำบันทึกถามว่า การฟ้องร้องครั้งนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของบอร์ดกสทช.11คน หรือยัง เพราะ 7 คนที่เหลือ ยังไม่ได้เห็นชอบอาจจะถูกเข้าใจผิดจากสังคมได้ ส่วนตัวอยากขอให้สำนักงานกสทช.และบอร์ดกทค. 4 ท่าน ทบทวนการฟ้องร้องนี้ แล้วใช้การดีเบตต่อสาธารณะในการให้ข้อมูลข้อโต้แย้งแทน

“หากคดีนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ดิฉันในฐานะ กสทช. จะร่วมเบิกความเป็นพยานให้ฝ่ายจำเลย และถึงเวลานั้น ดิฉันอาจมีความจำเป็นที่จะขอเรียกเอกสารหลักฐานภายในสำนักงานกสทช.ที่เกี่ยวข้องเพื่อเปิดเผยในชั้นศาลและสาธารณะต่อไป” สุภิญญากล่าว.

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net