กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรได้เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับแนวทางการใช้ การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย Q กับสินค้าข้าวสาร ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่เกี่ยวกับข้าวมาแล้วจำนวน 9 ฉบับ ครอบคลุมตั้งแต่ระดับฟาร์ม โรงสี โรงบรรจุจนถึงสินค้าข้าว แบ่งออกเป็น ระดับฟาร์ม ได้แก่ 1. GAP ข้าวหอมมะลิ 2.GAP ข้าว ระดับโรงสีและโรงบรรจุ ได้แก่ 1.GAP โรงสีข้าว 2.GMP ข้าวกล้องงอก ระดับผลิตภัณฑ์ข้าว ได้แก่ 1.ข้าวหอมมะลิไทย 2.ข้าวหอมไทย 3.ข้าว 4.ข้าวกล้องงอก 5.ข้าวอินทรีย์ ซึ่งยังไม่เคยมีการติดเครื่องหมาย Q บนบรรจุภัณฑ์ข้าวสารเพื่อรับรองคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าข้าว
นายชวลิต กล่าวว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ผลิตเข้าสู่ระบบมาตรฐานมากขึ้น และให้ผู้บริโภคสนใจชื้อสินค้าข้าวสารที่ได้มาตรฐาน ซึ่งมาจากฟาร์ม GAP และจากโรงสี GMP กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำแนวทางการใช้เครื่องหมาย Q กับสินค้าข้าวสาร เป็นการรับรองที่เชื่อมโยงจากเกษตรกรที่ผลิตตามมาตรฐาน GAP ไปยังโรงสี โรงบรรจุข้าวที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GMP/HACCP และสินค้าข้าวผ่าน การตรวจสอบตามมาตรฐานสินค้าข้าว โดยผู้ผลิตต้องแสดงว่ามีระบบการตามสอบ เพื่อให้หน่วยรับรองสามารถตรวจสอบได้ตลอดเส้นทาง โดยผู้ที่สามารถขอการรับรองและใช้เครื่องหมาย Q กับสินค้าข้าวสาร ได้แก่ ผู้บรรจุข้าวสาร ซึ่งอาจประกอบกิจการโรงสีด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือกลุ่มสหกรณ์/วิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินการปลูกและสี/บรรจุข้าวสารด้วย
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานเกี่ยวกับแนวทางการใช้ การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย Q กับสินค้าข้าวสารเกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ที่ประชุมจึงมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอน ข้อปฏิบัติ ตลอดจนระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การใช้เครื่องหมาย Q กับสินค้าข้าวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการได้ในทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าได้บริโภคข้าวที่ได้มาตรฐานมีความปลอดภัยสูง ขณะเดียวกันผู้ผลิตก็สามารถจำหน่ายสินค้าข้าวได้ในราคาที่เป็นธรรม เป็นการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าข้าวของไทยสำหรับตลาดในประเทศและเพื่อการแข่งขันในเวทีการค้าโลก โดยให้เสนอรายละเอียดดังกล่าว ให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
อนึ่ง ข้าวสารเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉลี่ยประเทศไทยผลิตข้าวได้ปีละประมาณ 30-31 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 20 ล้านตันข้าวสาร ผลผลิตข้าวร้อยละ 55 ใช้บริโภคในประเทศ ที่เหลือร้อยละ 45 ส่งออกตลาดต่างประเทศ ดังนั้น การควบคุมระบบการผลิตข้าวสารด้านความปลอดภัยและคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำจึงเป็นมาตรการสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง -กภ-