ค่ายสานฝัน ปั้นเด็กศิลป์ ‘Art Camp โดยมูลนิธิเอสซีจี’

03 Sep 2013

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--เอสซีจี

ฝันของเด็กๆ ที่รักในศิลปะและอยู่ในวัยเตรียมตัวสอบเอ็นทรานซ์ คงหนีไม่พ้นการที่เขาหรือเธอ สามารถสอบเข้าไปนั่งเรียนสายศิลปะในมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝันได้ น้องๆ นักเรียนโดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจึงนิยมที่จะไปติวศิลปะกับรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันกวดวิชาด้านศิลปะต่างๆ ซึ่งต่างจากเยาวชนอีกจำนวนหนึ่งที่แม้ฝันจะเป็นเด็กศิลป์ในระดับอุดมศึกษา แต่ก็ขาดโอกาสในการพัฒนาฝึกปรือฝีมือเพราะอาศัยอยู่ห่างไกลมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านศิลปะ

Art Camp โดยมูลนิธิเอสซีจี เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน ด้วยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิเอสซีจี องค์กรสาธารณกุศลที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมเพื่อพัฒนาคนให้เป็น ‘คนเก่งและดี’ กับคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าด้านศิลปะ ศิลปินแห่งชาติ และศิลปินอิสระ ร่วมกันจัดค่ายสอนศิลปะให้แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความฝันอยากเรียนต่อด้านศิลปะในระดับอุดมศึกษาและอาศัยอยู่ในจังหวัดที่ไม่มีมหาวิทยาลัยเปิดทำการสอนด้านศิลปะตั้งอยู่ ค่ายนี้ไม่เพียงเพิ่มพูนความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และการฝึกฝนทักษะ ทั้งด้านองค์ประกอบศิลป์ การเขียนลายเส้น และความคิดสร้างสรรค์เชิงศิลปะของเยาวชนเท่านั้น แต่ยังมุ่งพัฒนาครูผู้สอนศิลปะซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างบุคลากรที่ดี ด้วยการเสริมสร้างทักษะการถ่ายทอดความรู้ รวมถึงอัพเดทเทคนิคใหม่ๆ ในการทำงานศิลป์ ซึ่งความรู้ที่ได้เพิ่มเติมเหล่านี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนศิลปะและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ลูกศิษย์

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี หัวเรือใหญ่ในการจัดงานกล่าวว่า “Art Camp โดยมูลนิธิเอสซีจี เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มูลนิธิฯ ภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนสนับสนุนเด็กไทยให้พัฒนาศักยภาพและก้าวไปตามความฝันของตนเอง โดยตลอด 7 ปีของการจัดค่ายสอนศิลปะนี้ มีน้องๆ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ประสบความสำเร็จสามารถสอบเข้าเรียนต่อด้านศิลปะในมหาวิทยาลัยที่ตั้งใจได้กว่า 65% สำหรับในปีนี้เราเปิดค่ายอีกครั้งและได้รับการตอบรับที่ดีจากนักเรียนและคุณครูทั่วประเทศกว่า 150 คนเดินทางมาร่วมค่ายเพื่อฝึกฝนฝีมือด้านศิลปะ”

ด้านศาสตราจารย์เดชา วราชุน ศิลปินแห่งชาติ หนึ่งในวิทยากรกล่าวเสริมว่า “การเข้าค่ายในลักษณะที่เตรียมความพร้อมให้กับเด็กที่อยู่ต่างจังหวัดได้มีโอกาสที่จะเข้ามหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้น ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุดสำหรับเด็ก เขาจะได้สัมผัสกับความรู้จริงๆ ที่เขาควรจะได้รู้ก่อนจะไปสอบวิชาเฉพาะด้านศิลปะ อีกทั้งยังสามารถตัดสินใจได้ว่าตนเองมีความสามารถ มีความชอบในการศึกษาต่อสาขาไหน การที่ค่ายนี้คัดเลือกนักเรียนจากหลายๆ ที่ทั่วประเทศทำให้เกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายเยาวชนด้านศิลปะที่เกิดการแลกเปลี่ยนร่วมกัน ทำให้เห็นข้อดี ข้อด้อยในผลงานของตนเองและผู้อื่น การอบรมให้แก่ครูก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะครูคนหนึ่งต้องไปถ่ายทอดนักเรียนอีกหลายร้อยคน ถือเป็นการวางรากฐานความรู้ด้านศิลปะที่สำคัญ”

ตลอดเวลา 3 วัน 2 คืน น้องๆ ได้รับการแนะนำข้อมูลสาขาศิลปะที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัย และการอบรมเคี่ยวกรำในเรื่องพื้นฐานการวาดเส้นที่ถือว่ามีความสำคัญมากในการทำงานศิลปะ เริ่มตั้งแต่วิธีการจับดินสอ การฝึกฝนวาดเส้น โครงสร้าง ขนาดสัดส่วนและการลงน้ำหนักแสงและเงา โดยมีบททดสอบให้พัฒนาฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพมือ ภาพคนเหมือน (Portrait) ภาพคนเต็มตัว (Figure) ภาพทิวทัศน์ (Landscape) การออกแบบตกแต่งภายใน การออกแบบนิเทศศิลป์ และการออกแบบเครื่องแต่งกาย ซึ่งช่วยเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจในการวาดเส้นที่ดี และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ผลงานอีกด้วย ผลงานทุกชิ้นล้วนได้รับคำแนะนำดีๆ จากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ครูสังคม ทองมี, รองศาสตราจารย์ทินกร กาษรสุวรรณ และผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิกร คงคา

น้องพลอย ชลันลดา พงศ์พัฒนานุกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จังหวัดเชียงราย หนึ่งในผู้เข้าร่วมค่ายในปีนี้ได้กล่าวถึงความประทับใจว่า “รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะว่าวิทยากรที่มาให้ความรู้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและล้วนมีชื่อเสียง ทำให้เราบอกตัวเองว่าต้องทำให้ดีที่สุดเพราะถือเป็นโอกาสที่สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิต ค่ายนี้ทำให้เรารู้ศักยภาพของตัวเอง รู้ว่าตัวเองควรกลับไปฝึกฝนไปพัฒนาเรื่องใด นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้เรื่องกระบวนการคิดคอนเซปต์ การจัดการเวลา และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการสร้างผลงาน เพื่อทำให้ความฝันในการเรียนต่อของหนูเป็นจริง”

เช่นเดียวกับ น้องแป๋ง ไชยวัฒน์ มาลา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนดอนสารวิทยาคม จังหวัดชัยภูมิ กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า “ได้มีโอกาสเจอเพื่อนๆ จากทั่วประเทศ ทุกคนล้วนมีฝีมือและมีแนวความคิดที่แตกต่างกัน เมื่อได้มาอยู่รวมกัน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ก็ทำให้ผมได้เปิดมุมมองใหม่ๆ โดยเฉพาะคำแนะนำจากวิทยากร ทั้งเรื่องเส้นเรื่องแสงซึ่งเป็นความรู้ใหม่ที่จะช่วยแก้ปมด้อยในการสร้างงานของผม ขอขอบคุณที่จัดกิจกรรมดีๆ อย่างนี้ขึ้นมาครับ”

ด้านครูสอนศิลปะได้มีการอบรมลงมือทำ Workshop ภาพพิมพ์ ทั้งภาพพิมพ์สีน้ำมัน ภาพพิมพ์โฟมอัด และภาพพิมพ์ปูนพลาสเตอร์ ด้วยเทคนิคการใช้วัสดุแบบใหม่ๆ ให้เหล่าคุณครูได้โชว์ไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างผลงาน อีกทั้งยังได้รับฟังการบรรยายแนะนำเทคนิคการสอนจากยอดปรมาจารย์ด้านศิลปะชื่อดังระดับประเทศ อาทิ ศาสตราจารย์เดชา วราชุน, ศาสตราจาย์พิษณุ ศุภนิมิตร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ญาณวิทย์ กุญแจทอง และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนา สรรค์สร้างทรัพยากรบุคคลให้มีความสนใจ รัก และเข้าถึงความเป็นศิลปะอย่างแท้จริง

รณยุทธ์ ณรงค์ชัย ครูศิลปะจากโรงเรียนเซกา จังหวัดบึงกาฬ กล่าวเสริมว่า “ถือว่าเป็นเกียรติครั้งหนึ่งในชีวิตของครูสอนศิลปะที่ได้มาเจอทั้งศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชั้นเยี่ยมและคณาจารย์ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยด้านศิลปะอันดับหนึ่งของประเทศ ที่มาให้ความรู้กระบวนการทางศิลปะที่มีความแปลกใหม่หลากหลาย รวมถึงการได้ทำ Workshop ความตั้งใจหลังจบค่าย คือ การนำความรู้ที่ได้ทั้งหมดกลับไปพัฒนาต่อยอดปรับให้เข้ากับบริบทสังคมสอดคล้องกับความเป็นอยู่ทางวัฒนธรรม เพื่อให้เด็กๆ ได้ซึบซับความงามด้านสุนทรียศาสตร์เพื่อสร้างเยาวชนที่รักในงานศิลปะต่อไป”

ปิดท้ายกิจกรรมปีนี้ด้วยการพาน้องๆ และคุณครูที่มาร่วมค่ายไปเสพงานศิลป์ที่เขาใหญ่ อาร์ต มิวเซียมของพงษ์ชัย จินดาสุขซึ่งรวบรวมงานศิลป์จากศิลปินระดับแนวหน้าของเมืองไทยมาจัดแสดงในอาคารหอศิลป์ที่โอบล้อมด้วยความสมบูรณ์ของธรรมชาติ เดินชมประติมากรรม ภาพวาด รูปปั้นสำริดจนอิ่มเอมหัวใจ ก็ได้เวลาเอ่ยคำร่ำลา มูลนิธิเอสซีจีเชื่อว่าความสุขที่ได้ชมงานศิลปะชั้นครู การเรียนรู้สัมผัสสุนทรียศาสตร์ตลอดค่ายจะช่วยขยายโอกาสและสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ พกพาใส่กระเป๋ากลับไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะสานฝัน ฉันจะเป็นเด็กศิลป์ให้เป็นจริง

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net