ที่ห้างสรรพสินค้าซิตี้มอลล์ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยูเสดประเทศไทย (USAID) จัดเวทีเสวนา “ฉลาดซื้อ ฉลาดกิน ฉลาดใช้ภัยไม่มี” โดยมีตัวแทนกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สสจ. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน อสม. สคบ. และ กสทช.ร่วมระดมความเห็น
นายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการถามเภสัชกรวรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบอาหารและยาใช้รักษาโรคที่เป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริโภค โดยในการตรวจจับที่ผ่านมาพบว่า อดีตจะพบปัญหาการจำหน่ายยาหรืออาหารเสริมที่โอ้อวดสรรพคุณเกินความจริงตามชนบท แต่ปัจจุบันพบมีการนำมาจำหน่ายในเขตเมืองด้วยปัญหาการจำหน่ายยาหรือาหารที่เป็นอันตรายกับผู้บริโภค จึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะในชนบท คนในเมืองก็มีโอกาสได้รับอันตรายด้วย ส่วนตัวยาที่ห้ามใช้มีหลายตัว แต่ที่พบมีการนำใช้มากที่สุดคือ กลุ่มตัวยาสเตียรอยด์ผสมอยู่ในกลุ่มอาหารเสริม เช่น โสมสกัด น้ำผลไม้ลดน้ำตาลในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาหารลดความอ้วน และเครื่องสำอาง บางผลิตภัณฑ์ยังพบสารบางตัวที่มีฤทธิ์ต่อการทำลายตับสูงกว่าปกติถึง 300 เท่า
โดยตัวยาที่ถูกผสมอยู่ในอาหารและเครื่องใช้ต่างๆนี้ เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวคือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือด เมื่อรับประทานเข้าไปมากๆ ทำให้เสียชีวิตได้ และบางคนที่ไม่ป่วย เมื่อได้รับสารพิษจากตัวยาที่ผสมอยู่ก็ทำให้กลายเป็นผู้ป่วยได้ ส่วนอาการทำให้เสียชีวิตอย่างเฉียบพลันคือ หัวใจวายจากการได้รับสารพิษเกินปริมาณ
แนวทางการแก้ไขการลักลอบขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อประชาชน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการออกแบบชุดตรวจสอบผลิตภัณฑ์เบื้องต้นให้ อสม.ใช้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยและถ้ายังมีความสงสัยเพื่มเติม เจ้าหน้าที่ อสม.ก็จะส่งผลิตภัณฑ์นั้นมาให้ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจซ้ำอีกที เพื่อยืนยันความผิดปกติของผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี ได้ทำเวปไซค์ชื่อ www.tumdee.org ใช้เผยแพร่รูปร่างหน้าตา ชื่อของผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องสำอาง ที่เป็นอันตรายและห้ามจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้สะดวก จะได้ไม่ซื้อมาใช้อีก
สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว ต้องมีการเพิ่มบทลงโทษผู้ผลิตหรือจำหน่าย ซึ่งปัจจุบันมีอัตราโทษน้อย และต้องใช้มาตรการทางการคลังเข้ามาแก้ปัญหาด้วย เพราะถ้าทำความผิดมากเพียงใด ก็ควรให้ได้รับโทษและยึดทรัพย์สินมาชดใช้ตามความเสียหายที่ก่อขึ้น จะทำให้ผู้ผลิตและจำหน่ายเกรงกลัวไม่กล้าทำอีก
“ปัจจุบันแม้จะมีการตรวจจับได้ ผู้ผลิตก็เปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์แล้วกลับมาทำผิดซ้ำอีก จึงยังแก้ปัญหาการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์อันตรายในตลาดไม่ได้”
ขณะที่ เภสัชกรหญิงกาญจนา มหาพล หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการตรวจจับผลิตภัณฑ์อันตรายมีการสร้างเครือข่ายตรวจสอบผ่าน อสม. และมีการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายตามร้านที่มีอยู่กว่า 9,000 ร้านของจังหวัด ที่ผ่านมาตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์อันตรายหลายยี่ห้อ โดยส่วนใหญ่ไม่ติดฉลากแสดงแหล่งผลิต หรือหากมีการติดฉลากก็ใส่ที่อยู่ปลอม
ปัจจุบันสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ทำโครงการ “หมู่บ้านกักกันสุขภาพ” โดยให้เครือข่าย อสม.เป็นกลไกสำคัญที่จะเข้าตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายตามร้านค้าในชุมชน ตามตลาดนัดเคลื่อนที่ และการขายตรง หากพบความผิดปกติจะส่งตัวอย่างของผลิตภัณฑ์มาให้ตรวจสอบ แล้วเข้าจับกุมยึดผลิตภัณฑ์อันตรายออกจากแผงจำหน่ายทันที ซึ่งก็เป็นกระบวนการหนึ่งใช้ป้องกันไม่ให้ประชาชนเป็นเหยื่อผลิตภัณฑ์ปลอมที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้
สำหรับนายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้ประชาชนภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว่า การโฆษณาผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เป็นตัวจักรสำคัญทำให้ประชาชนหลงเชื่อมาใช้ผลิตภัณฑ์อันตราย โดยปัจจุบันพบว่ามีการโฆษณาประชาสัมพันธ์อาหารเสริมยี่ห้อหนึ่งผ่านสถานีโทรทัศน์ระดับแนวหน้าของเมืองไทยสามารถช่วยลดความลดไขมันลดความอ้วนได้ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด เพราะอาหารไม่ใช่ยา และยาก็ไม่ใช่อาหาร
อาหารกินเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารในแต่ละวัน แต่ไม่ใช่ใช้แก้ไขการป่วยเป็นโรคได้ ส่วนยาก็ใช้ควบคุมอาการป่วยไม่ให้ลุกลาม เพราะหลายโรคไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จึงมีการโฆษณาเกินความจริง และใช้วิธีการหลีกเลี่ยงกฎหมาย
โดยเฉพาะตามสถานีวิทยุชุมชนปัจจุบันพบมีการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม น้ำผลไม้หมักอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบการกระจายเสียง ซึ่งทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีการเฝ้าฟังและบันทึกเทปการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ทั้งฟรีทีวี ทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี และสถานีวิทยุชุมชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้โฆษณาเหล่านี้เป็นระยะ แต่ก็ยังพบการฝ่าฝืนและที่สำคัญคือ แม้เป็นผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่มีการโฆษณาโออวดสรรพคุณสินค้าเกินจริง ทำให้คนป่วยหลงเชื่อมากินแทนยาที่แพทย์ให้ ทำให้เสียชีวิตก็มีเกิดขึ้น
“จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกันสอดส่องดูแลและเอาผิดกับเจ้าของผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง ไม่ใช่จับมาแล้วก็เปรียบเทียบปรับเป็นเงินแค่ 5,000 บาท ก็กลับไปทำใหม่ เพราะมีรายได้มากกว่าค่าปรับหลายพันเท่า” นายพชรกล่าว
ด้านนายวิรัตน์ คำคูณ ผู้แทนของ กสทช.อุบลราชธานี กล่าวถึงการควบคุมดูแลการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ เจ้าหน้าที่ กสทช.ไม่มีอำนาจไปตรวจจับการโฆษณาชวนเชื่อได้โดยตรง เมื่อตรวจพบหรือได้รับการร้องเรียน ก็ต้องส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อปรากฏหลักฐานการทำผิดชัดเจนก็จะถอนใบอนุญาตการตั้งสถานีวิทยุหรือสถานีโทรทัศน์ได้เท่านั้น
ขณะที่นางแสงดาว ดวงแก้ว ประธาน อสม.บ้านหัวดูน ต.ขามใหญ่ อ.เมืองอุบลราชธานี กล่าวถึงการตั้งกลุ่มป้องกันตนเองจากภัยของผลิตภัณฑ์อันตราย จะมีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์แบบขายตรงที่มีผู้นำมาเสนอขายให้กับชาวบ้าน โดยจะพูดคุยกับผู้นำมาจำหน่าย เพื่อขอดูตัวผลิตภัณฑ์ หากไม่ให้ตรวจสอบก็จะไม่อนุญาตให้นำมาขายในชุมชน
“เมื่อคนขายเห็นว่าเราเอาจริง และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความผิดปกติ ก็ไม่กล้าเอาผลิตภัณฑ์ให้ดู จะรีบเดินหนีขึ้นรถขับออกไปจากชุมชน ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหาการหลอกขายผลิตภัณฑ์อันตรายได้” ผู้แทน อสม.รายนี้กล่าว
ด้านนายประวิทย์ หันวิสัย เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนสมาคมผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ดกล่าวถึงกระบวนการสร้างความรู้ให้กับชาวบ้านในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ว่า อดีตในจังหวัดร้อยเอ็ดจะมีคนนำผลิตภัณฑ์ไปเดินเร่ขายตามหมู่บ้านในชนบท เมื่อคนในชนบทซื้อไปกินแล้วรู้สึกอาการป่วยดีขึ้นทันที จะหลงเชื่อซื้อมากินต่อเนื่อง เมื่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิเข้าไปพูดคุยก็ไม่ยอมให้รายละเอียด กระทั่งต่อมาเมื่อกินยาเข้าไปมากๆ เกิดผลข้างเคียงทำให้ตัวบวมฉุถึงยอมบอกความจริง
ที่ผ่านมาชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ไม่กล้าร้องเรียนผู้นำผลิตภัณฑ์มาขาย หรือบางรายก็ไม่รู้ช่องทางการร้องเรียน ทำให้กระบวนการขายอาหารเสริมหรือยาที่เป็นอันตรายยังสามารถดำเนินธุรกิจของตนไปได้เรื่อยๆ มูลนิธิต้องเข้าไปช่วยเหลือ ไปแก้ความเชื่อแบบผิดๆ ทำให้ขณะนี้สถานการณ์ในจังหวัดดีขึ้น แต่ก็ยังมีการนำผลิตภัณฑ์อันตรายวางจำหน่าย แต่มีปริมาณน้อยลง
ระหว่างการดำเนินรายการปรากฏว่า มีประชาชนที่เข้าร่วมรับฟังนำตัวผลิตภัณฑ์หลายชนิดให้เจ้าหน้าที่เภสัชกรทำการทดสอบ พบมีผลิตภัณฑ์บางตัวอยู่ในข่ายต้องสงสัยจะมีอันตรายต่อผู้ใช้ เจ้าหน้าที่จึงขอเก็บตัวอย่างไปทดสอบด้วย
รวมทั้งประชาชนที่มาร่วมฟังได้แสดงความเห็นว่า บทลงโทษผู้ทำผิดยังสถานเบาทำให้ไม่เกรงกลัว และพบว่าสถานีวิทยุชุมชนส่วนใหญ่ยังมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอย่างผิดกฎหมาย โดยบางสถานีถูกสั่งปิดไปแล้ว แต่ก็เปลี่ยนชื่อสถานีมาเปิดดำเนินการใหม่อีกด้วย
สำหรับการเสวนาครั้งนี้ สามารถชมเทปรายการย้อนหลังได้ที่สร้าง สุขแชนแนล วีเคเบิลทีวี โสภณเคเบิลทีวี ราชธานีเคเบิลทีวี และทางทีวีดาวเทียม Next step ช่องของดีประเทศไทย รวมทั้งสถานีวิทยุ Clean radio FM 92.50 MHz อุบลราชธานี
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit