สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการลอยกระทงออนไลน์

15 Nov 2013
สืบเนื่องจากวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินไทยของทุกปีถือเป็นวันลอยกระทงซึ่งในปี พ.ศ. 2556 นี้ตรงกับวันที่ 17 พฤศจิกายน ประเพณีการลอยกระทงคือการที่ผู้คนต่าง ๆ นำกระทงซึ่งแต่เดิมนิยมประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติและประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ธูปเทียนไปลอยยังแม่น้ำลำคลองเพื่อเป็นการขอขมาต่อแม่คงคา ที่ได้ใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ มาตลอดหนึ่งปี รวมถึงเป็นการเสดาะเคราะห์โดยให้เรื่องไม่ดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองได้ลอยไปพร้อมกับกระทง ตามหลักฐานที่ค้นพบระบุว่าประเพณีการลอยกระทงมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว

ในปัจจุบันด้วยวิถีชีวิตของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจึงส่งผลให้การลอยกระทงของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน จากเดิมที่ผู้คนนิยมประดิษฐ์กระทงขึ้นเองก็เปลี่ยนมาเป็นการนิยมซื้อกระทงสำเร็จรูป และไม่ได้มีแต่กระทงที่ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังมีกระทงที่ประดิษฐ์จากโฟม พลาสติก หรือแม้แต่ขนมปัง

นอกจากนี้ในปัจจุบันเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันกับผู้คนอย่างมาก จึงมีผู้นำเอาเทคโนโลยีนี้มาเกี่ยวข้องกับประเพณีการลอยกระทงโดยจัดให้มีบริการลอยกระทงออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกหรือไม่นิยมเดินทางไปลอยกระทงในสถานที่จริง ซึ่งเป็นที่นิยมจากผู้คนโดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่นในระดับหนึ่ง

แต่ขณะเดียวกันกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวอีกเป็นจำนวนมากนิยมใช้คืนวันลอยกระทงเป็นการนัดพบกันเพื่อไปเที่ยวสังสรรค์หรือเล่นสนุกคึกคะนองต่างๆ นอกเหนือจากการไปลอยกระทง ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ การทะเลาะวิวาท การเมาสุรา หรืออุบัติเหตุ ซึ่งทำให้ผู้ใหญ่ในสังคมโดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ตลอดจนนักวิชาการออกมาแสดงความห่วงใยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นรวมถึงแสดงความวิตกกังวลว่ากลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวอาจไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของประเพณีการลอยกระทง อย่างไรก็ตามกลุ่มวัยรุ่นน่าจะได้รับโอกาสให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวันลอยกระทงเพื่อให้สังคมได้รับรู้มุมมองของวัยรุ่นด้วยเช่นกันดังนั้น เนื่องในโอกาสวันลอยกระทง 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นต่อประเพณีวันลอยกระทงและความคิดเห็นต่อการลอยกระทงออนไลน์ของกลุ่มวัยรุ่นไทยในเขตกรุงเทพมหานคร

ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ,ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการและอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษา ร่วมแถลงผลวิจัยเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทงของวัยรุ่นไทยจำนวน 1,090 คนอายุระหว่าง 15-25 ปีไม่จำกัดวุฒิการศึกษา สำรวจระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน 2556ได้ร่วมแถลงสรุปผลการสำรวจว่า

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 51.74 อายุเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คือ 19 ถึง 22 ปี คิดเป็นร้อยละ 38.44 และส่วนใหญ่อยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า คิดเป็นร้อยละ 32.57

ในด้านพฤติกรรมการลอยกระทง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 88.72 ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของประเพณีการลอยกระทงว่าเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคาที่ได้ใช้น้ำในการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งทำให้น้ำเกิดความสกปรกมาตลอดหนึ่งปีรวมถึงเป็นการสะเดาะเคราะห์ด้วย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.68 ระบุว่าตนเองตั้งใจที่จะไปลอยกระทงในวันลอยกระทงปี พ.ศ. 2556 นี้ สำหรับบุคคลที่กลุ่มตัวอย่างอยากไปลอยกระทงด้วยมากที่สุดนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 38.08 ระบุว่าตนเองตั้งใจอยากจะไปลอยกระทงกับบุคคลในครอบครัวมากที่สุด รองลงมาตั้งใจอยากจะไปลอยกระทงกับแฟนหรือคนรักมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ30.59 ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ตั้งใจจะซื้อกระทงสำเร็จรูปเพื่อนำไปลอยในวันลอยกระทงโดยคิดเป็นร้อยละ 57.49 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 42.51 ตั้งใจจะประดิษฐ์กระทงเอง และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตั้งใจจะใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติในการลอยโดย คิดเป็นร้อยละ 38.21 สำหรับกิจกรรมหลังจากที่ลอยกระทงเรียบร้อยแล้ว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 45.82 ระบุว่าตนเองตั้งใจที่จะไปเที่ยว-สังสรรค์กับเพื่อนฝูง/แฟน/คู่รักต่อ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.93 ตั้งใจที่จะกลับบ้านเลย และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.25 ยังไม่แน่ใจ ส่วนปัญหาที่กลุ่มตัวอย่างระบุว่ามักจะเกิดขึ้นกับกลุ่มวัยรุ่นในคืนวันลอยกระทงสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ การทะเลาะวิวาท-ทำร้ายร่างกาย คิดเป็นร้อยละ 82.39 การล่วงละเมิดทางเพศ คิดเป็นร้อยละ 80.28 อันตรายจากการเล่นพลุ-ดอกไม้ไฟ คิดเป็นร้อยละ 78.17 การส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น คิดเป็นร้อยละ 75.23 และการเมาสุรา คิดเป็นร้อยละ 70.55 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.94 ระบุว่าอุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะ

ในด้านความคิดเห็นต่อการลอยกระทงผ่านระบบออนไลน์บนเว็บไซต์ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.61 ระบุว่าตนเองเคยร่วมลอยกระทงผ่านเว็บไซด์ที่จัดให้มีการลอยกระทงผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.56 มีความคิดเห็นว่าการจัดให้มีการลอยกระทงผ่านทางระบบออนไลน์บนเว็บไซต์เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.89 มีความคิดเห็นว่าการลอยกระทงออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์สามารถช่วยสร้างความรู้สึกการมีส่วนร่วมในวันลอยกระทงได้ แต่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76.24 มีความคิดเห็นว่าการลอยกระทงออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากการไปลอยกระทงในสถานที่จริง และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 72.75 มีความคิดเห็นว่าการลอยกระทงออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์จะไม่ส่งผลให้กลุ่มวัยรุ่นไปร่วมลอยกระทงในสถานที่จริงน้อยลง