เช่นเดียวกับงาน “เดคูพาจ” ที่ “นางจิตฤทัย ทองปัทม์” ครูจาก “โรงเรียนสตรีระนอง” ผู้ได้ รับ “ทุนครูสอนดี” จากโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ในการจัดทำโครงการ “พัฒนางาน ประสานคน เพื่อเด็กและเยาวชนด้วยโอกาส” เพื่อฝึกทักษะอาชีพ “การจักสาน” และตกแต่งผลงานด้วย “เดคูพาจ” ให้กับเครือข่ายครูและเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสในพื้นที่ของจังหวัดระนอง เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ สร้างรายได้เสริม แบ่งเบาภาระครอบครัวระหว่างเรียน
โดยงาน "เดคูพาจ" (Decoupage) นั้นเป็น การนำ “กระดาษแน็พกิ้น” ที่มีลวดลายสีสันต่างๆ หรือ แสตมป์ ภาพถ่าย รูปภาพ ฯลฯ มาติดและตกแต่งบนชิ้นงาน ไม่ว่าจะเป็น ไม้ ขวดแก้ว กระเบื้อง กระถาง ตะกร้าพลาสติก ตะกร้าที่สานจากหวาย ใบลาน ผักตบชวา หรือบนพื้นผิวของภาชนะต่างๆ
“เพราะงานจักสานและงานเดคูพาจกำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นการที่เราจะสอนนักเรียนหรือฝึกให้นักเรียนทำอะไรสักอย่างก็น่าจะเป็นงานที่น่าสนใจ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ความน่าสนใจของงานเดคูพาจก็คือ เราสามารถสร้างสรรค์ออกแบบลวดลายได้ตามความต้องการของเรา ขั้นตอนการทำก็ไม่ยาก จึงนำเอามาใช้ฝึกสอนให้กับนักเรียนในโรงเรียนสตรีระนอง และครูเครือข่ายจำนวน 15 คน จาก 12 โรงเรียนในพื้นที่ เพื่อที่จะได้นำความรู้ไปถ่ายทอดต่อให้กับเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสในโรงเรียนของตัวเอง” ครูจิตฤทัยเล่าถึงความเป็นมาของการจัดทำโครงการ
โดยขั้นตอนการผลิตชิ้นงานจะเริ่มจากการ “ฝึกทักษะในการจักสาน” ภาชนะหรือกระเป๋าในรูปแบบต่างๆ โดยใช้เส้นพลาสติก ซึ่งจะใช้เวลาในการเรียนรู้ประมาณ 1-2 วัน เมื่อมีความชำนาญแล้วก็สามารถออกแบบให้มีรูปทรงต่างๆ ได้ตามต้องการขึ้นอยู่กับไอเดียของแต่ละคน เมื่อสานกระเป๋าเสร็จก็จะนำมาตกแต่งด้วย “เดคูพาจ” ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ง่ายใช้เวลาเรียนรู้ไม่นาน เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถทำได้ เริ่มจากการทา “กาวลาเท็กซ์” ลงบนชิ้นงานที่ต้องการตกแต่ง แล้วนำ “กระดาษแน็พกิ้น” หรือกระดาษลวดลายมาแปะลงบนชิ้นงาน เป่าด้วยไดร์เป่าผมเพื่อให้กาวแห้ง แล้วใช้ผ้าหรือฟองน้ำชุบน้ำหมาดๆ กดเพื่อให้กระดาษแนบสนิทกับชิ้นงาน แล้วทาด้วย “น้ำยาวานิช” เคลือบประมาณ 2-3 ครั้ง และในการเคลือบแต่ละครั้งจะต้องใช้ไดร์เป่าผมเป่าให้แห้งทุกครั้ง
“สำหรับงานเดคูพาจเป็นงานที่ทำง่ายมาก เพียงแต่เราเอากระดาษลายไปแปะบนชิ้นงานก็จะเสร็จแล้ว เพราะฉะนั้นนักเรียนก็จะสนุกกับการทำ แล้วหลังจากที่ได้ชิ้นงานแล้วก็สามารถจำหน่ายได้ด้วย โดยที่เราจะคิดกำไรประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของราคาทุน ที่ผ่านมาก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างดี ทำให้เด็กๆ มีรายได้ เพราะฉะนั้นเขาก็เลยมีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์งานขึ้นมา” ครูจิตฤทัยกล่าว
น.ส.มาลินี มโนธรรม หรือ “น้องแอฟ” นักเรียนชั้น ม.5 รร.สตรีระนอง เล่าว่ามีความชื่นชอบในงานศิลปหัตถกรรมด้านต่างๆ อยู่แล้ว เมื่อมาเรียนการทำเดคูพาจใช้เวลาเพียงครึ่งวันก็สามารถทำได้ และงานประเภทนี้เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความประณีต มีคนทำน้อย สามารถตกแต่งลงบนวัสดุได้ทุกชนิด “กระเป๋าเก่าๆ ก็มาตกแต่งให้เป็นของใหม่ได้ ตะกร้าหวาย พลาสติก ไม้ ก็สามารถทำได้ขึ้นอยู่กับไอเดียและฝีมือ ทำให้สามารถสร้างผลงานออกมาได้หลายหลาย โดยเฉพาะตอนนี้การทำเดคูพาสตกแต่งในเคสของโทรศัพท์มือถือกำลังเป็นที่นิยม ก็คิดว่าจะลองทำขาย เพราะนอกจากจะใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนให้เป็นประโยชน์แล้วยังมีรายได้จากการขายชิ้นงานได้อีกด้วย” น้องแอฟกล่าวน.ส.วริษา ธรรมศิริ หรือ “น้องมีน” นักเรียนชั้น ม.6 รร.สตรีระนอง เล่าว่างานเดคูพาสมีความน่าสนใจ ไม่จำเป็นต้องใช้ฝีมือทางศิลปะมาก เพียงแต่ต้องรู้จักเลือกแบบลวดลายและสีสันของกระดาษที่จะนำมาตกแต่งลงบนวัสดุให้เหมาะสมกับแต่ละชิ้นผลงานก็ออกมาสวยแล้ว
“ระหว่างทำเรายังสามารถคุยเล่นไปกับเพื่อนๆ ได้ ไม่เหมือนกับการงานศิลปะอื่นๆ ที่ต้องใช้สมาธิมาก และการที่เราสามารถผลิตข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ด้วยฝีมือของเราเองก็เป็นความภูมิใจ ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อเพราะที่บ้านของหนูมีฐานะยากจน งานเดคูพาสจึงเป็นงานที่สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เราได้ ทำของใช้ต่างๆ ขึ้นได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องไปพึ่งพาคนอื่นๆ” น้องมีนกล่าว
ด้านเครือข่ายครูในจังหวัดที่ร่วมกับ “ครูจิตฤทัย” ขยายผลการฝึกทักษะอาชีพออกไปสู่เด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ “นางสุทธิลักษณ์ บิลละโสย” จาก รร.เทศบาลบ้านเขานิเวศน์ กล่าวว่ากิจกรรมนี้เป็นการช่วยขยายโอกาสให้เด็กที่มีฐานะยากจน กำพร้า หรือพลัดถิ่น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ตัวเด็กๆ จะได้ฝึกทักษะอาชีพที่สามารถนำไปใช้ได้จริงแล้ว ผลงานที่คิดและประดิษฐ์ขึ้นยังสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนจากการประกวดแข่งขันทักษะฝีมือ จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนระดับภาค
“ทุกวันนี้เด็กๆ จะประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งจากเส้นพลาสติกและวัสดุจากธรรมชาติอย่างใบเตยป่าหรือเศษผ้า ก่อนนำมาตกแต่งให้สวยงามด้วยเดคูพาส โดยใช้เวลาว่างที่บ้านหรือหลังเลิกเรียนแล้วก็รวมกลุ่มนำไปขายที่สะพานปลาให้กับนักท่องเที่ยวและคนงานชาวพม่า ได้ความความสนใจอย่างดี และมีกำไรต่อชิ้นงานไม่น้อยกว่า 100-200 บาท” ครูสุทธิลักษณ์เล่าอย่างภูมิใจแทนลูกศิษย์
สำหรับแนวคิดในการต่อยอดการดำเนินงานนั้น “ครูจิตฤทัย” บอกว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานเหล่านี้เกิดความยั่งยืนก็คือ “การมีตลาดรองรับ” ซึ่งจะช่วยสร้างกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานของเด็กนักเรียนที่เข้าร่วมในโครงการ เพราะหลายคนสามารถออกแบบและสร้างสรรค์ชิ้นงานที่สวยงามและมีความหลายหลายมากขึ้น ประกอบกับทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง ได้เห็นความสำคัญของกิจกรรมดังกล่าว จึงให้การสนับสนุนในการนำสินค้าไปจำหน่ายที่ศูนย์ OTOP ของจังหวัด
“เพราะเมื่อเด็กๆ ถ้าทำเป็นแล้ว และสามารถขายได้ด้วย เขาก็จะมีกำลังใจ เพราะฉะนั้นการที่เราหาตลาดรองรับเอาไว้ให้กับเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ เขาก็จะเห็นความสำคัญของงานอาชีพเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนที่โรงเรียนสตรีระนอง หรือนักเรียนจากโรงเรียนเครือข่าย ก็หวังว่าอยากให้นักเรียนทุกคนอย่างน้อยก็ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีทักษะด้านงานอาชีพ แล้วยังสามารถเวลาว่างผลิตชิ้นงานไปถึงขั้นจำหน่ายได้เพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง และช่วยแบ่งเบาภาระของทางบ้านได้” ครูจิตฤทัยกล่าวสรุป.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit