SMEs ตั้งแผนธุรกิจแก้ ลดความเสี่ยงจากต้นทุนค่าแรง -แก๊ส-ลอจิสติกส์

12 Nov 2013
สสว. เร่งเสริมความรู้ SMEs Advance ด้านสร้างกลยุทธ์บริหารความเสี่ยงในอนาคต รับมือภาวะการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม จากค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และลอจิสติกส์สืบต่อเนื่องจากค่าแรงงาน ผู้บริหารระดับสูง SMEs Advance สอดรับเตรียมตั้งแผนรองรับเพื่อเสริมแนวทางปรับตัว สร้างระบบป้องกันในทางธุรกิจ
SMEs ตั้งแผนธุรกิจแก้ ลดความเสี่ยงจากต้นทุนค่าแรง -แก๊ส-ลอจิสติกส์

ดร. วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้มีศักยภาพและมีประสิทธิภาพทางธุรกิจในทุกๆด้านเหนือประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง จึงหวังผลในการจัดอบรมให้กับผู้บริหารระดับสูงใน “SMEs Advance” จำนวน 2 รุ่น รวมกว่า 220 คน ภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจ SMEs ได้มีส่วนช่วยผลักดันให้ผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจ SMEs สร้างเสริมจุดแข็งและลดจุดอ่อนในองค์กรธุรกิจและการประกอบธุรกิจของตนเองได้เพิ่มขึ้นจากการถ่ายทอดความรู้ครั้งนี้

สำหรับการเสริมสร้างจุดแข็งให้ผู้บริหาร SMEs ดร. สมประสงค์ โกศลบุญ อาจารย์พิเศษ คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ วิทยากรท่านหนึ่งในการอบรม “SMEs Advance” กล่าวเพิ่มว่า จากแนวโน้มการทำธุรกิจของธุรกิจ SMEs ต่อไปในอนาคต ต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนด้านต่างๆที่ถีบตัวสูงขึ้น ขณะนี้ต้นทุนค่าแรงงานไม่มีทางหวนกลับลดไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป ขณะเดียวกันต้นทุนสินค้าทางอ้อมที่แฝงมา ทั้งค่าขนส่งและค่าพลังงานหรือไฟฟ้า ก็มีแต่จะยิ่งสูงขึ้นอีก มีทางเดียวคือ เจ้าของธุรกิจ SMEs ต้องหาวิธีการปรับตัวเพื่อให้ก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

"SMEs ใดยังไม่เปลี่ยนแปลงเพื่อปรับขบวนการผลิตหรือวิธีการผลิตเพื่อรับมือกับปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้น อาจจะส่งผลให้ไม่มีความสามารถสร้างธุรกิจให้มั่นคงอยู่ต่อไปได้ การปรับตัวควรทำทั้งระบบ ทั้งด้านการจัดการในองค์กร การจัดการทางด้านการผลิต และการจัดการทางด้านตลาดที่เหมาะสมและสอดคล้องกัน รวมถึงการบริหารทางการเงินของธุรกิจ SMEs วันนี้ควรต้องเริ่มพิจารณาในการหาช่องทางทางการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะธุรกิจส่งออก จะต้องหาเทคนิคเฉพาะที่อาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมบ้าง แต่ได้ต้นทุนที่ต่ำลง เช่น การทำฟอร์เวิร์ด เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการค้าและค่าเงิน หากเป็นธุรกิจที่ค้าขายผ่านชายแดน ก็ควรหาระบบการจัดการที่ถูกกว่า เช่น การเอาท์ซอร์ส เป็นต้น" ดร. สมประสงค์กล่าว

ทางด้านนักบริหารระดับสูงอบรม SMEs Advance รุ่น 2 นายวิชัย ตันประวัติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มณีแลนด์ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ทำธุรกิจด้านการเกษตรและอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า การขึ้นค่าแก๊สและค่าแรง ทำให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนกำไรลดน้อยลง ดังนั้นการได้ร่วมอบรมกับทางสสว.ในหลักสูตร SMEs Advance ทำให้ได้รับความรู้กลยุทธ์การบริหารต้นทุนและการบริหารงานด้านต่างๆ และยังได้กลุ่มเครือข่ายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยรวมแล้วมีผลดีทำให้องค์กรสามารถลดต้นทุนลงได้ เพราะสามารถเข้าถึงโดยตรงกับแหล่งผลิตและได้แหล่งผลิตที่มีราคาถูกลง จึงทำให้ได้รับผลกระทบไม่มาก อีกทั้งยังทาง สสว.ยังทำให้ผู้อบรมได้รับข้อมูลข่าวสารที่ทันโลกทันเหตุการณ์

อีกหนึ่งผู้บริหารระดับสูง อบรม SMEs Advance รุ่น 2 นางสกุลรัตน์ ทิพย์วรรณงาม บริษัท เฟรมเลสคอร์ปอเรชั่น จำกัด ผลิตและจำหน่ายฉากกันอาบน้ำและกระจกนิรภัย กล่าวว่า ต้นทุนที่ขึ้นและกระทบกับทางบริษัทคือ ค่าแรงงานและค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ แต่ด้วยว่า ที่ผ่านมากิจการของบริษัทไม่ได้ต้องใช้เงินกู้มาเพื่อทำธุรกิจ ต้นทุนที่ขึ้นจึงไม่เป็นปัญหาต่อการดำเนินงานขององค์กร อีกทั้งบริษัทฯก็ไม่ได้ตั้งเป้าหมายยอดขายไว้สูง ยอดขายที่เข้ามาในขณะนี้ยังสามารถเติบโตต่อไปได้

"หากเมื่อใด ยอดขายตกลง บริษัทฯ จะเร่งหาทางและวางแผนให้ยอดขายขยับดีขึ้น โดยใช้กลยุทธ์วิธีการขายเข้ามาช่วยขยายตลาดเพิ่ม ในขณะที่คู่แข่งก็มีอยู่ในระดับหนึ่งแต่ยังไม่เกิดการแข่งขันมากนัก อย่างไรก็ตามก็จะนำความรู้จากการอบรมที่ได้จากโครงการ SME Advance เช่น กลยุทธ์การขายโดยเน้นในเรื่องการสร้างจุดเด่นในเรื่องการให้บริการ โดยตอบสนองลูกค้าให้เร็ว เข้าถึงลูกค้าว่าลูกค้ามีความต้องการอย่างไร รู้เขารู้เรา รู้สเปคที่แท้จริงของลูกค้า สร้างความได้เปรียบเหนือกว่าคู่แข่งขัน ด้วยการสร้างระบบการบริการที่ดี อาทิ การให้บริการช่างติดตั้งฟรี ทีมงานมีความแข็งแกร่งในด้านความชำนาญ เสริมทักษะความรู้และการอบรมให้กับทีมช่าง ทั้งนี้บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับช่างมากเพราะช่างที่มีความชำนาญหายากขึ้น" นางสกุลรัตน์ กล่าว

เช่นเดียวกัน นักบริหารระดับสูงอบรม SMEs Advance รุ่น 2 นายกัลป์ หอพรศิริ เจ้าของธุรกิจและผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท โซป วิลล่า จำกัด ผลิตและจำหน่ายสบู่จากวัตถุดิบธรรมชาติ น้ำมันรำข้าว กล่าวด้วยว่า จากการขึ้นค่าแรงช่วงที่ผ่านมาและราคาวัตถุดิบน้ำมันจากธรรมชาติที่สูงขึ้นประมาณ 20 % เช่น มะพร้าว ปาล์ม รวมทั้งน้ำมันหอมระเหยและสมุนไพร ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทสูงขึ้นตามไปด้วย

"สำหรับหลักสูตร SMEs Advance ที่ได้เข้าร่วมการอบรมนี้ เป็นประโยชน์ต่อองค์กรอย่างมาก โดยกำลังมีความคิดนำความรู้ที่ได้มาเพื่อประยุกต์ใช้ในองค์กรให้เป็นรูปเป็นร่างและมีการวางแผนการจัดการด้านต่างๆอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะกลยุทธ์การบริหารจัดการด้านต้นทุนที่เกิดขึ้น สิ่งที่ต้องทำคือ การมี Economy of Scale การบริหารสต็อก เพื่อเก็บรักษาวัตถุดิบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกันต้องมีต้นทุนต่ำสุด หรือนำการ Outsource ในส่วนการผลิตมาพิจารณาเปรียบเทียบประสิทธิภาพ เพื่อเลือกหากลยุทธ์ที่ดีกว่า เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อยอดขายและสัดส่วนกำไรที่น้อยลง" นายกัลป์ กล่าวเสริม