ผลการสำรวจพบว่าทัศนคติด้านบวกของธุรกิจในประเทศไทยได้ลดลงถึงจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปี 2011 โดยลดลง -28% ในไตรมาส 3 ของปี 2013 จาก 22% เมื่อไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งหมายความว่าผู้บริหารธุรกิจมีทัศนคติด้านลบมากกว่าด้านบวกต่อสภาวะเศรษฐกิจในระยะเวลาอีก 12 เดือนข้างหน้า
ทัศนคติของผู้บริหารที่มีต่อโอกาสการเติบโตของธุรกิจได้สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลต่อเศรษฐกิจมหภาคในระดับที่กว้างขึ้น โดย 31% ของธุรกิจไทยคาดว่ารายรับจะเพิ่มสูงขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า หากทว่า -10% คาดว่าผลกำไรจะเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ภาพรวมการส่งออกยังคงซบเซา โดยมีผู้บริหารธุรกิจเพียง 2% ที่คาดว่ากำไรจะเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับผลสำรวจในไตรมาสที่ 2 ซึ่งลดลงจากค่าเฉลี่ยที่ 17% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2012 ทั้งนี้ สัดส่วนของธุรกิจที่วางแผนลงทุนในโรงงานและเครื่องจักรได้ลดลงจาก 18% ในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 4% ในไตรมาสที่ 3
เอียน แพสโค กรรมการบริหาร แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า "เศรษฐกิจไทยได้ดำเนินมาถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปี 2013 กล่าวคือ การส่งออกมีความซบเซาและคาดว่าจะขยายตัวเพียง 1% ส่วนค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราการว่างงานในระดับต่ำมาก พฤติกรรมการบริโภคทั่วโลกที่หันมานิยมสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง การกีดกันทางการค้าที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมการบริการบางประเภท นโยบายการรับจำนำข้าวซึ่งมีภาพลักษณ์ในทางลบ ตลอดจนความสามารถในการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำในระยะเวลาที่ผ่านมา ล้วนเป็นภาระหนักอึ้งที่ทับถมความสามารถในการแข่งขันสำหรับประเทศไทย"
"อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากปัจจัยภายนอกจะพบว่าเศรษฐกิจไทยมีความสดใสมากขึ้น และคาดว่าจะมีการเติบโตในปี 2014 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทยกำลังดำเนินไปอย่างแข็งแกร่งและการท่องเที่ยวยังคงมีความเฟื่องฟู ยิ่งไปกว่านั้น การที่นโยบายประชานิยมมีความบรรเทาเบาบางลง เราจึงน่าจะเห็นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้เกิดการกระตุ้นอุปสงค์ ในขณะเดียวกัน ภาครัฐควรมีการสนับสนุนอุปทานด้วยการลดภาษีนิติบุคคลและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่"
นอกจากนี้ รายงาน Focus on: Thailand ยังระบุว่าความวิตกกังวลต่อการขาดแคลนบุคลากรซึ่งธนาคารโลกได้รายงานไว้เมื่อเร็วๆ นี้ ได้กลายเป็นอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เพราะการที่มีบุคคลว่างงานเพียง 300,000 คน - หรือ 0.8% ของบุคคลในวัยทำงานทั้งหมด - ทำให้ค่าแรงเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 50% ในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษก่อนหน้าปี 2010 ทั้งนี้ กว่า 50% ของธุรกิจในประเทศไทยบ่งชี้ว่าการขาดแคลนแรงงานมีทักษะเป็นข้อจำกัดข้อหนึ่งในการวางแผนขยายธุรกิจ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ ASEAN (42%) อยู่ 10% เนื่องจาก ASEAN มีอัตราการว่างงานสูงกว่า
เอียน แพสโค กล่าวเพิ่มเติมว่า "เราหวังว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจะดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่ 2 ของปี 2014 อย่างไรก็ดี เราคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เท่ากับหรือน้อยกว่า 4.5% ในปี 2014 ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่ใช้ความเคร่ดครัดในการพิจารณาความสมดุลระหว่างปัจจัยต้านและปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจกว่าระดับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้พิจารณา"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit