ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า” ศิลปะดนตรีและอุตสาหกรรมบันเทิงและอีเว้นท์ในประเทศไทยมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีมูลค่าตลาด กว่า 150,000 ล้านบาท และมีบทบาททางด้านสังคมเป็นอย่างมาก ทั้งผ่านทางอินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งส่งผลให้ตลาดของเทคโนโลยีทางด้าน IT เติบโตตามไปด้วยในรูปแบบของ Digital Multimedia การก้าวสู่การเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมและนวัตกรรมทางด้านบันเทิงแห่งอาเซียน” เราต้องเร่งผลิตและพัฒนาบุคลากรคุณภาพเพื่อรองรับการเติบโตของตลาด ซึ่งยังขาดแคลนบุคลากรทางด้านนี้มาก วิศวกรรมดนตรี-มัลติมีเดีย มีความสำคัญต่อประเทศชาติ ยกตัวอย่าง ประเทศเกาหลี บรรจุไว้ในแผนของประเทศที่จะส่งออกดนตรี – บันเทิง เพราะว่าสามารถสื่อถึงคุณค่าวัฒนธรรมและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ได้ ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศชาติ ในปี 56 เกาหลีมีรายได้เฉพาะ จากเพลงสูงลิ่วกว่า 4 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้าว่าจะเป็น 1 ใน 10 ของโลก ประเทศไทยมี ครีเอทีฟเก่ง ๆ แต่เรายังขาดเทคโนโลยี ด้านวิศวกรรมดนตรียุคของการปฏิรูปสื่อ เช่น ประมูล 4G , ทีวีดิจิตอล และเทคโนโลยี อุปกรณ์พกพาทางด้านการสื่อสาร (Mobility)โดยเฉพาะ สมาร์ทโฟน กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน วัตถุประสงค์ที่เปิดหลักสูตรป.ตรี วิศวกรรมดนตรี-สื่อประสมเป็นแห่งแรกในอาเซียนนี้ จะตอบสนองการพัฒนาบุคลากรผู้สร้างดนตรี มิใช่เป็นเพียง End User แต่เป็นผู้สร้างนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมบันเทิงและอีเว้นท์แห่งอาเซียน ช่วยยกระดับคุณภาพของอุตสาหกรรมกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ อุตสาหกรรมดนตรีและเพลง , งานประชุมและนิทรรศการนานาชาติ (MICE) และธุรกิจอีเว้นท์ออร์กาไนเซอร์ โดยในภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม ก็มีแนวโน้มเติบโตสูงและขาดแคลนบุคลากรมาก กลุ่มเป้าหมายผู้เรียนหลักสูตรนี้ จะมุ่งนักศึกษาไทยและจากประเทศในอาเซียน “คุณประนัปดา พรประภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด กล่าวว่า “บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัดจะส่งเสริมสนับสนุนหลักสูตรวิศวกรรมดนตรี-มัลติมีเดีย เพื่อพัฒนา วิศวกรทางด้านดนตรีและมัลติมีเดียในอนาคต และความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยยกระดับประเทศไทยให้เป็นฮับวิศวกรรมดนตรี บันเทิงและอีเว้นท์แห่งอาเซียน ทางโรงเรียนดนตรีสยามกลการ ซึ่งก่อตั้งมากกว่า 40 ปี เปิดสอนทั่วประเทศ จำนวน 90 แห่ง ช่วยปูพื้นฐานทางด้านดนตรี เพื่อไปสู่การเรียนปริญญาตรี ด้านวิศวกรรมดนตรี-มัลติมีเดีย ในรั้วมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์เด่นครบวงจรของยามาฮ่า ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับโลก ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดนตรี , เครื่องมือผลิตงานดนตรี , เครื่องเสียงพีเอ และเครื่องเสียงในอาคาร ที่ส่งเสริมความก้าวหน้าของวิศวกรรมดนตรี-มัลติมีเดีย ซึ่งคาดการณ์ว่าภายใน 2 ปี ตลาดดนตรีศึกษาและผลิตภัณฑ์ จะเติบโตไม่น้อยกว่า 15% ส่วนความร่วมมือสนับสนุน คณะวิศวกรรมลาดกระบังมีหลายรูปแบบ เช่น การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์การเรียนการสอน , การไปดูงานและฝึกงาน , การร่วมมือด้านพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัยต่าง ๆ “ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน ประธานโครงการจัดตั้งหลักสูตร สาขาวิศวกรรมดนตรีและมัลติมีเดีย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้ความคิดเห็นพร้อมยกตัวอย่างว่า “หลักสูตรปริญญาตรี วิศวกรรมดนตรีและมัลติมีเดีย เป็นหลักสูตรสองภาษา (Bilingual) ซึ่งคาดว่าจะเปิดสอนรต้นปี 2557 กลุ่มเป้าหมายนักศึกษาจากไทย และประเทศในอาเซียน วิชาเรียนมี 144 หน่วยกิต แบ่งออกเป็น กลุ่มวิชาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ กลุ่มวิชาพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มวิชาบังคับทางวิศวกรรมศาสตร์ และกลุ่มวิชาเฉพาะสาขาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม รวมทั้งการฝึกปฏิบัติงานจริงในภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ หลักสูตรวิศวกรรมดนตรี-มัลติมีเดีย มีความแตกต่างจากวิชาดนตรีทั่วไป กล่าวคือ เราจะผลิตวิศวกรที่มีความรู้เข้าใจดนตรี ทำหน้าที่วิเคราะห์ สังเคราะห์ และออกแบบ รวมถึงการนำไปประยุกต์ใช้งานและการสร้างนวัตกรรมทางด้านดนตรี
เนื้อหาการเรียนการสอนของวิศวกรรมดนตรี-มัลติมีเดีย จะมุ่งเน้นการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก (Teach Less Learn More) โดยมีคณาจารย์ผู้เชียวชาญสร้างความเข้าใจและทักษะในการเรียนรู้ หลักสูตรดังกล่าวยังเป็นการผสมผสานทั้งความเป็นศาสตร์ คือ วิศวกรรมศาสตร์โดยมุ่งเน้นการนำเอาองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า+อิเล็กทรอนิกส์+สื่อสาร/โทรคมนาคม + IT ไปประยุกต์ร่วมกับความเป็นศิลป์ คือ ดนตรี องค์ประกอบทางแสง สี และเสียง รวมทั้งทางด้าน Graphics และ Animation เข้าด้วยกัน นอกจากการเรียนรู้ทางทฤษฎีแล้ว ยังเน้นการปฏิบัติ รวมทั้งการทำงานจริงในภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาผ่านโครงการสหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ (Cooperative Education) ซึ่งในต่างประเทศหลักสูตรในลักษณะเดียวกันนี้ ได้มีการเปิดดำเนินการสำหรับการเรียนการสอน และการทำงานวิจัย เช่น มหาวิทยาลัยไมอามี่ (Miami) , มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Standford) ประเทศสหรัฐอเมริกา , มหาวิทยาลัยแมคกริล (McGill) ประเทศคานาดา , มหาวิทยาลัยควีนแมร์รี่ แห่งลอนดอน (Queen Mary University of London) ประเทศอังกฤษ และยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศยุโรป รวมทั้งยังมีการรองรับจากสมาคมวิชาชีพ ระดับนานาชาติ เช่น IEEE Signal Processing Society และ Audio Engineering Society (AES) เป็นต้น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังจะเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ได้เปิดหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและมัลติมีเดีย เพื่อยกระดับศักยภาพบุคคลากรของประเทศไทย”
ผศ.ดร. ศรวัฒน์ ชิวปรีชา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวถึงสายอาชีพเมื่อนักศึกษาจบแล้วจะไปทำงานอะไรบ้าง “บัณฑิตที่จบแล้วสามารถทำงานในสถานประกอบการ ต่าง ๆ เช่น งานในกลุ่มอุตสาหกรรมดนตรี เช่น ด้าน Sound Engineering , Light and Sound Control ทั้งในภาคสนามและใน Studio งานด้านผสมเสียง บันทึกเสียง และการทำ Mastering การผลิตงานด้านเสียงและดนตรี การสร้าง Effect ทางเสียง สามารถนำความรู้มาประมวลผลสัญญาณและอะคูสติก การเข้ารหัสลับทางเสียง (Cryptography) และการสร้างลายเสียงทางน้ำ (Audio Watermarking) สำหรับการแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งการออกแบบงานด้านวิศวกรรมเกี่ยวกับ Live Show ทั้งในลักษณะ Concert และละครเวที, งานในกลุ่มอุตสาหกรรมภาพยนตร์ /โฆษณา /เกมส์ / แอนิเมชั่น การผลิตสื่อประสม มัลติมีเดีย การสังเคราะห์เสียง (Sound Synthesis) สำหรับการผลิตเกมส์และแอนิเมชั่น การสร้าง Effect ทางเสียงและทางภาพ สำหรับการผลิตโฆษณาและภาพยนตร์ ระบบเซ็นเซอร์และควบคุม Special Effect ต่าง ๆ การประมวลผลสัญญาณภาพและวิดีโอ ระบบเครือข่ายการ Download Digital Contents ต่าง ๆ และเกมส์ Online รวมทั้งด้าน Mobile Applications บนระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่, งานในสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ ออกแบบระบบอะคูสติกใน Studio ห้องส่ง การควบคุมเสียงและภาพในการบันทึกเทปและออกอากาศสด ควบคุมระบบถ่ายทอดสัญญาณ (Broadcasting) การสื่อสารผ่านดาวเทียมใยแก้วนำแสง การเชื่อมโยงสัญญาณไมโครเวฟ และระบบ Cable TV , Satellite TV ,งานในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดนตรี การประมวลผลสัญญาณ ระบบทางด้านดิจิตอล ไมโครโปรเซสเซอร์มาสร้าง Audio/Sound Effect สำหรับเครื่องดนตรีต่าง ๆ การสร้าง Mixer , Equalizer,Amplifier สำหรับงานด้านระบบเสียง การวิเคราะห์เสียงของเครื่องดนตรีไทย การสร้างมาตรฐานเสียงและการผลิตเครื่องดนตรีไทย, งานในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านวิศวกรรมความปลอดภัยทางเสียงและโสตทัศนะอุปกรณ์ทางการแพทย์ ระบบการหักล้างเสียงรบกวน การออกแบบและสร้างเครื่องช่วยฟังและอุปกรณ์ช่วยสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยินและการมองเห็น, งานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ วิศวกรด้านระบบเสียงในรถยนต์ การออกแบบระบบอะคูสติกในห้องโดยสาร เครื่องเสียงติดรถยนต์ ระบบสื่อสารในรถยนต์ระหว่างรถยนต์กับรถยนต์ (Vehicle - to –Vehicle) สำหรับรองรับระบบขนส่งอัจฉริยะ (ITS) , รวมทั้งงานในกลุ่มอุตสาหกรรม Consumer Electronics วิศวกรด้านระบบเครื่องเสียงและระบบอะคูสติก โรงละคร โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง ฯลฯ การผลิตลำโพง ตู้ลำโพงและ Amplifier และอาชีพอิสระอื่น ๆ รวมทั้งสามารถทำงานวิจัยหรือศึกษาต่อในระดับสูง และอุปสรรคที่ควรแก้ไข พร้อมสิ่งที่ควรส่งเสริม เพื่อประเทศไทยก้าวสู่ฮับวิศวกรรมดนตรี บันเทิง และอีเว้นท์แห่งอาเซียน”
นอกจากนี้ยังมีการจัดเสวนา ห้วข้อ “วิศวกรรมดนตรี...ก้าวที่ท้าทายของไทยสู่ฮับอุตสาหกรรมบันเทิงและอีเว้นท์แห่งอาเซียน” โดยมี 6 กูรูและศิลปินมือหนึ่งร่วมเสวนา คือ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน , ผศ.ดร. ศรวัฒน์ ชิวปรีชา กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม . คุณสุระ เกนทะนะศิล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด มหาชน ผู้ดำเนินงานทีวี ดิจิตอล ได้พูดถึงการเปลี่ยนโฉมของวงการวิทยุและโทรทัศน์หลังจากที่มีการลงทุน TV Digital รวมถึงเทคโนโลยีการกระจายเสียงที่มาแรงในตอนนี้ และให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ การที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ฮับวิศวกรรมดนตรี บันเทิง และอีเว้นท์แห่งอาเซียน , คุณโสฬส ปุณกะบุตร โปรดิวเซอร์มือทองของประเทศไทย ให้มุมมองด้านบทบาทของวิศวกรรมดนตรี (Music Engineering and Multi-Media) ที่จะมีส่วนในการเสริมศักยภาพบุคลากร โปรดิวเซอร์ดนตรี ในวงการบันเทิงและอีเว้นท์ , คุณโต๋ ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร นักร้องและนักเปียโนมือหนึ่งของประเทศไทย ร่วมเสวนาความคิดเห็นเกี่ยวกับจุดเด่นของประเทศไทยในการเข้าสู่การเป็นฮับวิศวกรรมดนตรี บันเทิง และอีเว้นท์แห่งอาเซียน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit