เอคเซนเชอร์ (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กว่า ACN) เผยงานวิจัยล่าสุดพบว่า ผู้บริหารกิจการในอาเซียนร้อยละ 96 มุ่งมั่นนำระบบวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ (อนาลิติกส์) หรือระบบที่ประมวลผลจากข้อมูลจริงมาช่วยในการตัดสินใจ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าผู้บริหารในสหราชอาณาจักร (ร้อยละ 86) และสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 85) อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารอาเซียนร้อยละ 89 เผยว่า บริษัทส่วนใหญ่ยังไม่ได้นำระบบอนาลิติกส์เข้ามาใช้ในองค์กรอย่างทั่วถึงหรือมีการบูรณาการในทุกระดับ
ระบบวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ (Analytics) ทวีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการสร้างความแตกต่างในสินค้าและบริการ ขณะที่องค์กรธุรกิจอาเซียนร้อยละ 80 เชื่อว่าข้อมูลของตนนั้นมีความเฉพาะตัวเมื่อเทียบกับของคู่แข่ง แต่ผู้บริหารร้อยละ 73 กลับระบุว่าการประสานข้อมูลในองค์กรถือเป็นความท้าทายหลัก และผู้บริหารกว่าครึ่งคือร้อยละ 67 ประสบปัญหาในการกำหนดผลลัพธ์ที่จะได้จากข้อมูล นอกจากนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจยังมักไม่ได้รับความร่วมมือจากภายในองค์กร และความรับผิดชอบและการใช้งานขึ้นอยู่กับหน่วยธุรกิจหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมทุกฝ่าย อีกทั้งยังไม่คาดกว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในช่วงสองสามปีข้างหน้า
นายนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ความสำเร็จขององค์กรในการนำระบบวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นต้องอาศัย 3 ปัจจัยด้วยกันคือ หนึ่ง การ ตกลงร่วมกันของผู้บริหารระดับสูงและกระบวนการทำงานที่รัดกุม เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรจะได้ข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์และมีความชัดเจน มีการนำไปปฏิบัติให้เกิดผล และวัดประสิทธิภาพได้ สอง บริษัทควรใช้กลยุทธ์ “สร้าง ซื้อ และเป็นพันธมิตร” ในการสรรหาบุคลากรที่ดีที่สุดในภาวะที่ทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะ อนาลิติกส์มีจำกัด ท้ายที่สุดคือ ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้ข้อมูลมีความเที่ยงตรงและเป็นเอกภาพ มีคุณภาพ และเข้าถึงได้”
ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจในอาเซียนต่างนำระบบอนาลิติกส์เข้าไปใช้ในกระบวนการตัดสินใจของฝ่ายงานต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายปฏิบัติการที่เน้นการเติบโตเป็นหลัก เช่น นำไปใช้ในการวิเคราะห์หาโอกาสในตลาดใหม่ (ร้อยละ 89) และการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ (ร้อยละ 87)
ช่องว่างของทรัพยากรด้านอนาลิติกส์
ด้วยสภาวะการขาดแคลนมืออาชีพด้านอนาลิติกส์ ทำให้บริษัทอาเซียนส่วนใหญ่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการใช้บริการจากผู้ให้บริการด้านอนาลิติกส์ (ร้อยละ 68) รวมทั้งลงทุนในเครื่องมือและซอฟต์แวร์ระบบ (ร้อยละ 66)
ขณะเดียวกัน ผู้บริหารในอาเซียนก็ได้พัฒนาทีมงานภายในไปด้วย เป็นการลดช่องว่างการขาดแคลนทรัพยากรผู้เชี่ยวชาญระบบอนาลิติกส์อีกทางหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันบริษัทอาเซียนราวสองในสาม (ร้อยละ 62) ได้กำหนดให้มีผู้ดูแลงานด้านนี้โดยเฉพาะ เช่น ประธานเจ้าหน้าที่ด้านข้อมูล ทำหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบกลยุทธ์การบริหารข้อมูล สำหรับบริษัทที่ยังมิได้แต่งตั้งผู้บริหารด้านนี้เป็นการเฉพาะ ก็คาดว่าจะดำเนินการดังกล่าวต่อไปในอนาคต
“การจัดคนให้เหมาะสมกับงาน ฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่กลับเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการบริหารระบบวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สิ่งสำคัญที่บริษัทอาเซียนต้องทำในการสร้างฐานบุคลากรที่มีความสามารถคือ กำหนดยุทธศาสตร์การสรรหาบุคคลที่สอดรับกับทิศทางในอนาคต และจัดโครงสร้างให้รองรับการสรรหาบุคลากรที่มีทักษะด้านที่ขาดแคลน องค์กรธุรกิจต้องใช้ยุทธศาสตร์นี้ในการสรรหาบุคลากรจากทั่วโลก และประสานความสามารถของพวกเขาให้เข้ากับองค์กรให้ได้” นนทวัฒน์กล่าว ผลตอบแทนจากการลงทุนในระบบอนาลิติกส์
แม้บริษัทในอาเซียนจะมองว่าองค์กรของตนมีระบบจัดการข้อมูลที่ดีมีคุณภาพอยู่แล้ว แต่การจัดเก็บและประสานข้อมูลในองค์กรยังถือเป็นหนึ่งในความท้าทายอันดับต้นๆ ส่วนการใช้ข้อมูลให้เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ โดยบริษัทอาเซียนถึงร้อยละ 67 ระบุว่าเรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายหลักเลยทีเดียว สิ่งที่ยากสำหรับองค์กรหลายแห่งคือ การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ การผลักดันให้นำข้อมูลเชิงลึกที่ได้ไปใช้ และให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการ
การวิจัยของเอคเซนเชอร์พบว่า ผลตอบแทนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากอนาลิติกส์จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมี การเริ่มต้นจากประเด็นปัญหา จากนั้นจึงได้ข้อมูลเชิงลึก นำไปสู่การตัดสินใจ การปฏิบัติการ และกลายเป็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนและวัดผลได้ในที่สุด ซึ่งกิจการชั้นนำหลายแห่งก็กำลังสร้างระบบตอบรับข้อมูลแบบเรียลไทม์ ช่วยให้องค์กรสามารถเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล เลือกสรรข้อมูลเชิงลึก ตัดสินใจ และตอบสนองได้อย่างทันท่วงที
การใช้อนาลิติกส์ขององค์กรธุรกิจในประเทศไทย
· ผู้นำองค์กรธุรกิจไทยให้ความสำคัญต่อการใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ (อนาลิติกส์) ซึ่งสอดคล้องกับผู้บริหารประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยร้อยละ 77 ระบุว่าผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญกับอนาลิติกส์เป็นอย่างมาก และแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจดังกล่าว โดยจัดให้มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบมีแบบแผนและใช้โปรโตคอลร่วมกัน (ร้อยละ 83) นอกจากนี้องค์กร ร้อยละ 63 ยังได้แต่งตั้ง “ประธานเจ้าหน้าที่ด้านข้อมูล” หรือบุคคลเพื่อดูแลกลยุทธ์การบริหารข้อมูลโดยตรง
· บริษัทไทยมักใช้ระบบอนาลิติกส์เพื่อการตัดสินใจในด้านที่เน้นการเติบโตเป็นหลัก โดยร้อยละ 88 ใช้อนาลิติกส์ระดับปานกลางหรือเข้มข้น เพื่อวิเคราะห์หาโอกาสในตลาดใหม่ ส่วนร้อยละ 85 ใช้ อนาลิติกส์ระดับปานกลางถึงเข้มข้น เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการใหม่
· การใช้อนาลิติกส์ในประเทศไทยยังคงเป็นไปในเชิงเทคนิคมากกว่าในระดับยุทธศาสตร์ มีองค์กรธุรกิจเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่ระบุว่าใช้อนาลิติกส์ในองค์กรอย่างทั่วถึง ทุกระดับชั้น มีการนำไปใช้อย่างสม่ำเสมอและประสบผลสำเร็จด้วยดี ส่วนองค์กรกว่าร้อยละ 22 เห็นว่ามีตัวอย่างระบบอนาลิติกส์ที่สัมฤทธิผลจริง แต่ยังไม่ได้ประสานงานร่วมกัน แยกกันทำงานอยู่
· สำหรับบริษัทไทยแล้ว ผลตอบแทนจากการลงทุนในระบบอนาลิติกส์ยังมองไม่เห็นชัดเจน มีองค์กรธุรกิจเพียงร้อยละ 21 ที่ “พึงพอใจมาก” กับผลที่ได้รับ ส่วนร้อยละ 71 ระบุว่าการใช้ข้อมูลให้เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจ เป็นความท้าทายหลักขององค์กร
ข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัย
การวิจัยเรื่อง “อนาลิติกส์ อิน แอ็คชั่น: พัฒนาการครั้งใหญ่และอุปสรรคที่มีต่อการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน” (Analytics in Action: Breakthroughs and Barriers on the Journey to ROI) จัดทำขึ้นจากการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้บริหาร 1,000 คนจากองค์กรภาครัฐและเอกชน 1,000 แห่งที่มีพนักงานมากกว่า 1,000 คนในสหรัฐฯ (300 แห่ง) ในสหราชอาณาจักร (300 แห่ง) และในอาเซียน (400 แห่ง) ผู้บริหารที่เข้าร่วมการสำรวจประกอบด้วย กรรมการและผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหลักในองค์กร ซึ่งครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม (เช่น หน่วยงานภาครัฐ ภาคบริการทางการเงิน วัตถุดิบและทรัพยากร การสื่อสาร อุตสาหกรรมไฮเทค การผลิต และค้าปลีก) อีกทั้งมาจากหน่วยธุรกิจต่างๆ (เช่น การขายและการตลาด ลูกค้าสัมพันธ์ ทรัพยากรบุคคล และการเงิน) การสัมภาษณ์ผู้บริหารในสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ จัดทำขึ้นในเดือนสิงหาคมและกันยายน 2555 ส่วนการสัมภาษณ์ผู้บริหารในอาเซียน 5 ประเทศ จัดทำขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2556 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยนี้ และข้อมูลผลการวิจัยในรูปแบบกราฟฟิกสามารถดูได้ที่ เว็บไซต์ Accenture.com/ASEANanalytics
ข้อมูลเกี่ยวกับเอคเซนเชอร์
เอคเซนเชอร์ เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ การบริหารเทคโนโลยีและบริการเอาท์ซอร์สชั้นนำของโลก และด้วยประสบการณ์ การทำงานอย่างลึกซึ้ง ผนวกกับศักยภาพที่สมบูรณ์แบบในทุกภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ รวมทั้งการมีผลงานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับบริษัทชั้นนำของโลก ทำให้เอคเซนเชอร์สามารถร่วมมือกับลูกค้า ทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินการพัฒนาและยกระดับองค์กรของลูกค้าให้เป็นองค์กรที่มีศักยภาพและมีสมรรถภาพสูงสุด ปัจจุบัน มีพนักงานมากกว่า 275,000 คนในกว่า 120 ประเทศ และมีรายได้สุทธิ 28,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 872,300 ล้านบาท) ในปีการเงินสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2556 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.accenture.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit