‘Parkinson’s disease and Movement Disorder Clinic’ คลินิกรักษาและดูแล โรคพาร์กินสันและการเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

02 Dec 2013
‘การเคลื่อนไหวผิดปกติ’ (Movement Disorder) คืออาการที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมร่างกายตนเองได้เป็นปกติเนื่องจากการทำงานบกพร่องของสมองและระบบประสาท โดยอาจเกิดขึ้นกับร่างกายทุกส่วนพร้อมกัน หรืออาจเกิดเฉพาะเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง พญ.ปนิดา พิบูลนุรักษ์ แพทย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า การเคลื่อนไหวผิดปกติเกิดจากความผิดปกติของการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย และอาการที่แสดงออกจะขึ้นอยู่กับว่าสมองส่วนที่บกพร่องมีหน้าที่ควบคุมร่างกายส่วนใด อาการที่พบบ่อยคือ การสั่น กระตุก ร่างกายบิดเกร็ง หรือมีท่าทางการเดินที่ผิดธรรมชาติ

“หนึ่งในการเคลื่อนไหวผิดปกติที่พบบ่อยคือโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) ซึ่งเป็นโรคที่มีสาเหตุจากการสูญเสียเซลล์สมองในส่วนที่สร้างสาร ‘โดปามีน’ (Dopamine) สารสื่อประสาทที่มีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ เรียบเรียงความคิด และควบคุมการเคลื่อนไหว ดังนั้น ผู้ป่วยพาร์กินสันจึงมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท การควบคุมร่างกาย และการทรงตัว อาการที่เด่นชัดที่สุดคือ การสั่น โดยเฉพาะที่มือข้างใดข้างหนึ่งซึ่ง มักเกิดขึ้นขณะที่มือข้างนั้นอยู่เฉย ๆ แต่จะลดลงหรือหายไปเมื่อเคลื่อนไหว อาการอื่นๆได้แก่อาการเกร็งที่แขนขาและลำตัว ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายได้ช้าลง ตัวค้อม และอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณที่เกิดการเกร็ง

“ส่วนการเคลื่อนไหวผิดปกติที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของสมองในส่วนอื่น ๆ ก็อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น อาการหน้ากระตุก มือหรือเท้าบิด ปากบิดเบี้ยว คอบิด หรือลำตัวบิดหรือเอียง เป็นต้น”

การรักษาการเคลื่อนไหวผิดปกติแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ รักษาโรคอันเป็นสาเหตุของความผิดปกติ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่รักษาให้หายขาดได้ และกลุ่มที่ต้องรักษาด้วยวิธีประคองอาการ และ การรักษาตามอาการ

“สำหรับการรักษาที่โรคจะเริ่มต้นด้วยการใช้ยาร่วมกับทำกายภาพบำบัด โดยในผู้ป่วยพาร์กินสัน แพทย์จะให้ยาที่ส่งผลต่อการเพิ่มสารโดปามีนในสมองให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องกินยาต่อเนื่องสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการปรับขนาดยาให้เหมาะสมตามอาการเพื่อลดผลข้างเคียงจากยา ส่วนการกายภาพบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองในการใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ด้วยการเสริมสร้างการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องเหมาะสมกับร่างกายแต่ละส่วน และบริหารร่างกายเฉพาะส่วนเพื่อแก้ไขความผิดปกติต่าง ๆ เช่น หลังโกง ไหล่ติด หรืออาการปวดเมื่อยตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นต้น”

การรักษาวิธีหนึ่งที่ใช้กับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน คือ การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation) หรือ ‘DBS’ เนื่องจากการรักษาด้วยวิธีนี้สามารถควบคุมอาการของโรคได้อย่างต่อเนื่อง และอีกประการหนึ่งคือ ในผู้ป่วยพาร์กินสันที่รักษาด้วยการกินยามาแล้วเป็นเวลานาน การออกฤทธิ์ของยาจะมีผลสั้นลง วิธีการนี้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่เคยรักษาด้วยยาได้ผล แต่รับการรักษามาจนถึงจุดที่การออกฤทธิ์ของยาหดสั้นลง จนเหลือเพียง 2-3 ชั่วโมง หรือมีผลข้างเคียงจากยามาก

“การทำ DBS แพทย์จะฝังขั้วไฟฟ้าที่มีขนาดเล็กมากลงไปในสมองของผู้ป่วย โดยใช้เครื่องมือที่มีลักษณะเป็นกรอบโลหะเพื่อให้ศีรษะของผู้ป่วยนิ่งอยู่กับที่ และเพิ่มความแม่นยำในการวางแนวฝังขั้วไฟฟ้า ร่วมกับการถ่ายภาพสมองด้วยวิธี MRI หรือ CT Scan และใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการคำนวณแนวการฝังขั้วไฟฟ้าและเครื่องตรวจคลื่นสมอง เพื่อยืนยันว่าขั้วไฟฟ้าที่จะฝังลงไปอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ขณะทำการฝังขั้วไฟฟ้า ผู้ป่วยต้องอยู่ในสภาวะรู้สึกตัวตลอดเวลา เพื่อให้แพทย์สอบถามและตรวจอาการได้ และเนื่องจากเนื้อสมองไม่สามารถรับรู้ความรู้สึก ผู้ป่วยจึงไม่มีอาการเจ็บปวดระหว่างผ่าตัด

“จากนั้นเมื่อขั้วไฟฟ้าถูกฝังลงในสมองแล้ว แพทย์จะให้ผู้ป่วยดมยาสลบ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยได้รับความเจ็บปวดจากการต่อขั้วไฟฟ้าเข้ากับเครื่องกระตุ้นกระแสไฟฟ้าซึ่งจะถูกฝังที่ใต้ชั้นผิวหนังบริเวณหน้าอกส่วนบน โดยกระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาราว 5 ชั่วโมงหรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับว่าเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าถูกฝังเพียงข้างเดียวหรือสองข้าง ข้อดีของ DBS คือทำให้สามารถควบคุมอาการสั่น การแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวเชื่องช้า และการบิดเบี้ยวของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่องกว่าการรักษาด้วยยา และ ผู้ป่วยก็จะสามารถลดขนาดยาลงได้ ซึ่งจะทำให้ผลข้างเคียงของการใช้ยาลดลง

“ส่วนในกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติเฉพาะส่วน เรามีวิธีการรักษาโดยการฉีดยาเพื่อควบคุมอาการเฉพาะจุด ที่เรียกว่า Botulinum toxin ซึ่งจะออกฤทธิ์สกัดกั้นการส่งผ่านกระแสประสาทบริเวณกล้ามเนื้อด้วยการลดการหลั่งสารอะเซติลโคลีน (acetylcholine) ทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อลดลง ช่วยระงับความเจ็บปวด และลดการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ จึงควบคุมอาการบิดเกร็ง การสั่น และกระตุกเฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่งของผู้ป่วยได้ดีขึ้น”

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการตรวจรักษาและการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอย่างเป็นระบบ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จึงได้ก่อตั้งคลินิกโรคพาร์กินสันและการเคลื่อนไหวผิดปกติ (Parkinson’s Disease and Movement Disorder Clinic) ขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่มีมาตรฐานจากคณะแพทย์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดย พญ.อรพร สิทธิ์บูรณะ แพทย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า จุดมุ่งหมายที่สำคัญในการก่อตั้งคลินิกเฉพาะทางเพื่อเน้นการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาจากการเคลื่อนไหวผิดปกติให้ได้รับการรักษาและคำปรึกษาอย่างเหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละรายรวมถึงครอบครัวและผู้ดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีและมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด

คลินิกโรคพาร์กินสันและการเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยังมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยเช่นกิจกรรมการฝึกเดินในผู้ป่วยที่มีปัญหาการเดินลำบากและการทรงตัวไม่ดี กิจกรรมการออกกำลังกายและเต้นรำสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันโดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้ป่วยได้มีปฏิสัมพันธ์อันดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันและกันซึ่งจะช่วยให้อารมณ์และจิตใจของผู้ป่วยดีขึ้นและยังจะได้รับความรู้และคำแนะนำต่างๆจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

อีกทั้งความรู้ต่างๆที่ได้จากผู้ป่วยจะนำมาพัฒนาให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่เพื่อปรับปรุงและเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคพาร์กินสันและการเคลื่อนไหวผิดปกติให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ