นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ว่า ฝนที่ตกหนักในภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 21พฤศจิกายน 2556 ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 12 จังหวัด สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ ยะลา สตูล ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี สุราษฎร์ธานีและชุมพร ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ตรัง และนราธิวาส รวม 29 อำเภอ 142 ตำบล 735 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 33,584 ครัวเรือน 122,227 คน ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ร่วมกับจังหวัดดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ภายใต้การปฏิบัติการของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่มระดับจังหวัด โดยประสานจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลาย ให้เร่งสำรวจและประเมินความเสียหาย ช่วยเหลือสงเคราะห์เยียวยาผู้ประสบภัยและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย พร้อมซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ทั่วถึง เป็นธรรม ครอบคลุมตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ส่วนจังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดนำเครื่องสูบน้ำติดตั้งในพื้นที่ลุ่ม ริมสองฝั่งแม่น้ำ เร่งระบายน้ำที่ท่วมขัง พร้อมบูรณาการสรรพกำลังทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน หน่วยทหารและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยนำเครื่องอุปโภคบริโภคแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และประสานการอพยประชาชนทันทีที่สถานการณ์รุนแรง ตลอดจนระดมวัสดุอุปกรณ์ ทั้งเรือเล็ก เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ สุขาเคลื่อนที่ รถไฟฟ้าส่องสว่าง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า รถบรรทุกน้ำ ออกให้บริการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่าเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในภาคใต้ ปภ. ได้สั่งการ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด จัดชุดเคลื่อนที่เร็วและวัสดุอุปกรณ์ปฏิบัติการประจำจุดเสี่ยงต่างๆ ทั้งดินถล่มบริเวณ ที่ลาดเชิงเขา น้ำล้นตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำ และคลื่นซัดฝั่งริมชายฝั่งทะเล เพื่อให้สามารถปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาคใต้ได้อย่างทันท่วงที ท้ายนี้ ขอฝากเตือนประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ให้ติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งที่ลาดเชิงเขา ที่ลุ่มริมแม่น้ำ ซึ่งมีปริมาณฝนตกมากอยู่แล้ว หากมีฝนตกลงมาเพิ่ม อาจทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น สำหรับประชาชนที่ประสบภัย สามารถติดต่อแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit