การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่แผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของอาเซียนสำหรับปี 2554-2558 และรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับทราบรวมทั้งมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของอาเซียนตลอดจนได้สร้างเครือข่ายและส่งเสริมความร่วมมือด้านกาท่องเที่ยวระหว่างหน่วยงานการท่องเที่ยวภาครัฐ กับภาคเอกชน
นายขจร วีระใจ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียนระดับชาติ ประจำปี 2556 และได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ "บทบาทของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายใต้บริบทของอาเซียน"
ในการบรรยายพิเศษ นายขจรกล่าวสนับสนุนการดำเนินงานของกรมการท่องเที่ยวในเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ว่า ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยที่การท่องเที่ยวถูกจัดให้เป็นวาระเร่งรัดสำคัญในการพัฒนาของภูมิภาคอาเซียน
"จากข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในอาเซียนถึงปีละเกือบ 90 ล้านคน โดยครึ่งหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเดียวกันเอง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า นักท่องเที่ยวจากอาเซียนนั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวของภูมิภาคเป็นอย่างมาก และจำนวนก็ยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีสถิติการขยายตัวของรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ร้อยละ 18 ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา"
ถ้าแต่ละประเทศแย่งกันพัฒนาการท่องเที่ยวของตนเองโดยปราศจากการวางแผนและการจัดการเรื่องการท่องเที่ยวโดยคำนึงถึงความร่วมมือนั้น สามารถนำมาซึ่งผลกระทบด้านลบต่อชุมชนและสภาพแวดล้อมของประเทศได้เช่นกัน นายขจรกล่าวว่า "ทางกรมการท่องเที่ยวจึงได้เป็นตัวแทนของประเทศไทย ร่วมกับองค์กรด้านการท่องเที่ยวระดับชาติในภูมิภาค จัดทำแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียนซึ่งเป็นแผนในการดำเนินงานความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน เพื่อส่งเสริมบทบาทของการท่องเที่ยวในฐานะกลไกทางเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาภูมิภาคอาเซียน รวมทั้ง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2558""สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ถึงแม้ว่าไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสมาชิกอื่นในอาเซียน แต่เมื่อพิจารณาในด้านของรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวแล้ว ประเทศไทยยังมีการพัฒนาที่ช้าไปบ้าง กล่าวคือ รายได้จากการท่องเที่ยวไทยมีอัตราการเพิ่มที่ร้อยละ 17.6 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียนอยู่ที่ร้อยละ 18 เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาว่าเราจะมีแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างไรที่จะมุ่งสู่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อประเทศและสังคมโดยรวม" นายขจรกล่าว
จากความร่วมมือดังกล่าว แผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียนจึงมิได้มุ่งเน้นแต่เป้าหมายของการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเยือนภูมิภาคอาเซียนเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมุ่งเน้นถึงการบรรลุเป้าหมายทางสังคมอื่นๆ ด้วย รวมถึง การสร้างความแข็งแกร่งของการท่องเที่ยวอาเซียนในตลาดการท่องเที่ยวโลก รวมไปถึงได้จัดทำกลยุทธ์ด้านการตลาดของอาเซียนในรายละเอียดอีกด้วย โดยมีการกำหนดกลุ่มตลาด สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่ชัดเจน
รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวให้ข้อคิดในตอนท้ายว่า ในการทำอาเซียนให้เป็นจุดหมายเดี่ยว หรือ Single Destination นั้น อาเซียนต้องมีการประสานงาน บูรณาการร่วมกันกับภาคส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมขนส่ง ด้านการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง การพัฒนาบุคลากร ด้านวัฒนธรรม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่จะต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศให้ได้แบบไร้รอยต่อ ดังนั้น การพัฒนาในองค์กรเออีซีที่ใหญ่มากนี้ เป็นงานที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่จะต้องอาศัยการประสาน การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศแล้ว แต่ยังต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก 10 ประเทศด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit