สินเชื่อแฟคตอริ่ง โครงการรับจำนำข้าวของธนาคารนั้น ไม่มีขั้นตอนการใช้ใบประทวนในการขอสินเชื่อกับธนาคาร แต่ผู้ประกอบการจะนำเอกสารการโอนสิทธิ์ในการรับเงินแทนของค่าเช่าคลังสินค้าและค่าตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) ที่อยู่ระหว่างรอรับเงินจากองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อตก.) หรือ องค์การคลังสินค้า (อคส.) เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องกับธุรกิจ และธนาคารจะเป็นผู้เรียกเก็บหนี้จาก อตก. และ อคส. ซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐแทน จึงไม่มีผลกระทบต่อความเสี่ยงของธนาคารแต่อย่างใด
กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวอีกว่า สินเชื่อโครงการนี้ ธนาคารมีวงเงินรองรับ 5,000 ล้านบาท และให้วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกินร้อยละ 80 ของหนี้การค้าที่นำมาโอน ซึ่งโครงการจะสิ้นสุดภายใน 31 ธันวาคม 2556 นี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ธนาคารเริ่มโครงการครึ่งปีหลังของปีนี้ ได้อนุมัติวงเงินไปแล้ว 290 ล้านบาท และมีการเบิกจ่ายไปเพียง 64.65 ล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา เอสเอ็มอีแบงก์ เคยออกสินเชื่อแฟคตอริ่งโครงการรับจำนำข้าวเมื่อปี 2552 มาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งมีผู้มาใช้สินเชื่อวงเงิน 265 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเป็นหนี้เสีย