วารสาร The Lancet ตีพิมพ์ผลวิจัยโรคมะเร็งเต้านมใหม่ล่าสุด โดยเปรียบเทียบการฉายรังสีเฉพาะจุดระหว่างผ่าตัดด้วยเครื่อง ZEISS INTRABEAM กับการฉายรังสีหลังผ่าตัดตามปกติทั่วไป

03 Dec 2013
ผลการทดลองทางคลินิกระดับนานาชาติ TARGIT-A ซึ่งใช้เวลาศึกษานาน 5 ปี บ่งชี้ว่า การฉายรังสีเฉพาะจุดระหว่างผ่าตัด (TARGIT) ด้วยเครื่อง ZEISS INTRABEAM มิได้มีประสิทธิภาพด้อยไปกว่าการฉายรังสีภายนอก (EBRT) ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมระยะแรก

ผลการทดลองทางคลินิก TARGIT-A ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet

The Lancet วารสารทางการแพทย์ชั้นนำของโลก ตีพิมพ์ผลวิจัยโรคมะเร็งเต้านมใหม่ล่าสุดซึ่งเผยว่า การฉายรังสีเฉพาะจุดระหว่างผ่าตัด (TARGIT) ด้วยเครื่อง ZEISS INTRABEAM(R) เพียงเล็กน้อยครั้งเดียวระหว่างการผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออก มิได้มีประสิทธิภาพด้อยไปกว่าการฉายรังสีภายนอก (EBRT) ตามปกติทั่วไป ซึ่งใช้เวลานาน 3-6 สัปดาห์หลังผ่าตัดมะเร็งแบบสงวนเต้านม ในผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่เข้าร่วมการทดลอง

“ประโยชน์สูงสุดของ TARGIT สำหรับผู้หญิงที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมคือ การรักษาเฉพาะจุดจะเสร็จสิ้นทั้งหมดระหว่างการผ่าตัด นอกจากนั้นยังเป็นพิษต่อเต้านม หัวใจ และอวัยวะอื่นๆน้อยกว่า ผลวิจัยของเราสนับสนุนให้ทำ TARGIT พร้อมกับการผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออกสำหรับผู้ป่วยที่ผ่านการคัดเลือกมาอย่างดีแล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยและแพทย์มีทางเลือกมากขึ้นในการรักษา ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย รวมทั้งช่วยรักษาเต้านมและชีวิตของผู้ป่วยเอาไว้ได้” ศจ.ชยันต์ เอส. ไวทยา FRCS MD, PhD จากคณะนักวิจัย TARGIT จากนานาชาติ ระบุในข่าวประชาสัมพันธ์ที่เผยแพร่พร้อมกับการตีพิมพ์ผลวิจัยในวารสาร The Lancet

นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2541 คณะนักวิจัย TARGIT จากนานาชาติ ได้ศึกษาว่าการฉายรังสีไปยังฐานของเนื้องอกระหว่างการผ่าตัดมะเร็งเต้านมระยะแรก จะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งกำเริบได้อย่างมีประสิทธิภาพพอๆกับการฉายรังสีภายนอก (EBRT) ตามปกติทั่วไปที่ใช้เวลา 3-6 สัปดาห์หรือไม่

โดยทั่วไปนั้น การทำ EBRT กับเต้านมทั้งเต้าจะทำหลังการผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออก (ผ่าแบบสงวนเต้านม) เพื่อลดความเสี่ยงมะเร็งกำเริบและลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต ปกติการทำ EBRT จะใช้เวลา 3-6 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยต้องเข้ารับการฉายรังสีที่ศูนย์รังสีรักษารวม 20-30 วัน อย่างไรก็ดี ในบางกรณีผู้ป่วยสามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้ แต่ไม่สามารถเดินทางไปยังศูนย์รังสีรักษาเพื่อเข้ารับการรักษาหลังผ่าตัดได้ทุกวัน ส่งผลให้ผู้ป่วยเหล่านี้ตัดสินใจผ่าตัดเอาเต้านมออกทั้งเต้า

ส่วนวิธี TARGIT ซึ่งทำระหว่างการผ่าตัดหลังจากที่เฉือนเอาเนื้องอกออกแล้วนั้น จะมีการใช้เครื่อง ZEISS INTRABEAM ฉายรังสีใส่เนื้อเยื่อบริเวณฐานของเนื้องอกภายในเต้านมโดยตรง ซึ่งผลการศึกษา TARGIT แสดงให้เห็นว่า การฉายรังสีเฉพาะจุดระหว่างผ่าตัดด้วยเครื่อง ZEISS INTRABEAM สามารถลดความเสี่ยงมะเร็งกำเริบได้อย่างมีประสิทธิภาพพอๆกับการฉายรังสีเต้านมทั้งเต้าหลังผ่าตัดซึ่งต้องใช้เวลานาน 3- 6 สัปดาห์ ในผู้ป่วยหญิงกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นมะเร็งเต้านมชนิด invasive ductal carcinoma

จนถึงปัจจุบัน TARGIT-A เป็นการทดลองทางคลินิกแบบสุ่มในศูนย์หลายแห่งว่าด้วยการฉายรังสีเฉพาะจุดระหว่างผ่าตัดเต้านมที่ใหญ่ที่สุด โดยมีผู้ป่วยเข้าร่วมถึง 3,451 คน ในศูนย์ 33 แห่งทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย TARGIT-A เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงสำหรับผู้ป่วยรายบุคคล ดังนั้นผู้ป่วยที่ผ่านการทำ TARGIT ระหว่างการผ่าตัด แต่พบว่ามีความเสี่ยงเพิ่มเติมที่ไม่คาดคิดมาก่อนในภายหลัง จะได้รับการทำ EBRT เสริมเข้าไปด้วย ซึ่งภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นกับผู้ป่วยราว 15% ทั้งนี้ ผลของมะเร็งกำเริบเฉพาะจุดตลอด 5 ปี รวมถึงบทวิเคราะห์แรกเกี่ยวกับอัตราการรอดชีวิตโดยรวมในการทดลอง TARGIT-A ได้รับการเผยแพร่แล้วในตอนนี้

เมื่อเปรียบเทียบ TARGIT กับ EBRT ส่วนต่างของอัตราการเกิดมะเร็งกำเริบเฉพาะจุดในช่วง 5 ปีระหว่างการรักษาทั้งสองแบบต่ำกว่า 2.5% ดังนั้นจึงถือว่า “ไม่ด้อยกว่า” เมื่อเทียบกับมาตรฐาน EBRT (ฉายรังสีทุกวันนาน 3-6 สัปดาห์) ในการรักษาโรคมะเร็ง ส่วนอัตราการเสียชีวิตโดยรวมอยู่ที่ 3.9% สำหรับ TARGIT และ 5.3% สำหรับ EBRT เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคมะเร็งอื่นๆน้อยกว่าเดิม

สำหรับการเปรียบเทียบเชิงสถิติของการเกิดมะเร็งเต้านมกำเริบ จำนวนผู้เสียชีวิต และผลข้างเคียงของวิธี TARGIT เทียบกับ EBRT นั้น คณะผู้เขียนได้สรุปว่า “การทำ TARGIT พร้อมกับการผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออก ซึ่งเป็นการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงนั้น ควรได้รับการพิจารณาในฐานะทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมการทดลอง TARGIT-A”

“เราขอยกย่องคณะนักวิจัย TARGIT จากนานาชาติซึ่งบุกเบิกโดยศจ.ชยันต์ ไวทยา และศจ.ไมเคิล บอม จากผลงานการวิจัยอันโดดเด่นเกี่ยวกับทางเลือกใหม่ในการรักษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมมากมาย ผลวิจัยนี้จะช่วยยกระดับการรักษาของนักรังสีรักษาและมะเร็งวิทยารวมถึงศัลยแพทย์เต้านมทั่วโลก และจะทำให้เครื่อง ZEISS INTRABEAM ถูกนำไปใช้มากขึ้นเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็ง” ดร.ลุดวิน มอนซ์ ประธานและซีอีโอของคาร์ล ไซส์ เมดิเทค เอจี (Carl Zeiss Meditec AG) กล่าว

สามารถอ่านผลวิจัย TARGIT-A ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet ได้ที่ http://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(13)61950-9/abstract

กรุณาดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.meditec.zeiss.de/presse

คาร์ล ไซส์ เมดิเทค เอจี

คาร์ล ไซส์ เมดิเทค เอจี (ISIN: DE0005313704) เป็นบริษัทเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นนำแห่งหนึ่งของโลก บริษัทนำเสนอเทคโนโลยีที่ทันสมัยและโซลูชั่นที่ใช้งานง่าย ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ นอกจากนั้นยังนำเสนอโซลูชั่นครบวงจรสำหรับการวินิจฉัยและรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตา ซึ่งครอบคลุมถึงการปลูกถ่ายดวงตาและวัสดุสิ้นเปลืองต่างๆ ขณะเดียวกันบริษัทได้สร้างสรรค์โซลูชั่นที่ทันสมัยในด้านการผ่าตัดด้วยกล้องจุลทรรศน์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ของบริษัทประกอบด้วยเทคโนโลยีที่เป็นความหวังสำหรับอนาคตมากมาย เช่น การฉายรังสีระหว่างผ่าตัด เป็นต้น ในปีงบการเงิน 2554/55 (สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน) พนักงานทั้งหมด 2,400 คนสร้างรายได้ให้กับบริษัทรวม 862 ล้านยูโร ทั้งนี้ บริษัทมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเยนา ประเทศเยอรมนี

คาร์ล ไซส์ เมดิเทค มีบริษัทในเครืออีกหลายแห่งทั้งในเยอรมนีและในต่างประเทศ โดยพนักงานกว่า 50% ของทั้งหมดปฏิบัติงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สเปน และฝรั่งเศส นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยและประยุกตใช้แห่งอินเดีย (CARIn) ในบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย และศูนย์นวัตกรรมคาร์ลไซส์เพื่อการวิจัยและพัฒนาในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ยังช่วยให้บริษัทมีรากฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในสองประเทศนี้ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ หุ้นราว 35% ของคาร์ล ไซส์ เมดิเทค เป็นหุ้นที่กระจายให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อย ส่วนที่เหลือประมาณ 65% ถือครองโดยคาร์ล ไซส์ เอจี กลุ่มบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสายตาและออปโตอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก คาร์ล ไซส์ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโซลูชั่นเชิงอุตสาหกรรม โซลูชั่นเชิงวิจัย เทคโนโลยีทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสายตาเพื่อผู้บริโภค ซึ่งก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมานานกว่า 160 ปี รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนมากมายทั่วโลก ทั้งนี้ บริษัท คาร์ล ไซส์ เอจี ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองโอเบอร์โคเซน เป็นของมูลนิธิคาร์ล ไซส์

กรุณาดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.meditec.zeiss.com

ข้อมูลติดต่อสำหรับสื่อมวลชน

แจน เกอร์ริต โอห์เลนดอร์ฟ (Jann Gerrit Ohlendorf)

ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท คาร์ล ไซส์ เมดิเทค เอจี

โทร. +49(0)3641-220-331, อีเมล: [email protected]

อลิซ สวินตัน (Alice Swinton)

ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท คาร์ล ไซส์ เมดิเทค อิงค์

โทร. +1-925-557-4317, อีเมล: [email protected]

สำหรับนักลงทุน

เซบาสเตียน ฟรีริคส์ (Sebastian Frericks)

ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท คาร์ล ไซส์ เมดิเทค เอจี

โทร. +49(0)3641-220-116, อีเมล: [email protected]

แหล่งข่าว: คาร์ล ไซส์ เมดิเทค เอจี