นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แถลงข่าวเตรียมความพร้อมนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมสุดยอดครอบครัวโลก ครั้งที่ ๑๐ (World Family Summit+9) ระหว่างวันที่ ๒ – ๓ ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธรัฐเยอรมนี และ UN Stakeholders’ Forum-Challenges and achievements in the implementation of the Millennium Development Goals for women and girls – the road ahead ระหว่างวันที่ ๔ – ๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พร้อมหารือทวิภาคีไทย-สหรัฐ ในประเด็นต่อต้านการค้ามนุษย์กับเอกอัครราชฑูต Luis CdeBaca ผู้แทนประจำสำนักงานติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ ณ กรุงวอชิงตันดีซี โดยมี นายทรงศักดิ์ สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมแถลงข่าว
นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ภารกิจที่สำคัญในการเดินทางไปเข้าร่วมประชุมสุดยอดครอบครัวโลก ครั้งที่ ๑๐ (World Family Summit +9) ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธรัฐเยอรมนี ครั้งนี้มุ่งการบรรลุเป้าหมายความสมดุลของครอบครัว ตามแผนการพัฒนาหลังปี พ.ศ.๒๕๕๘ แนวทางใหม่ที่ครอบครัวทั่วโลกต้องการ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับการพัฒนารูปแบบใหม่ มีอยู่ ๕ ด้าน คือ ๑) การไม่ละทิ้งใครเบื้องหลัง ๒) กำหนดให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นแนวคิดหลัก ๓) พัฒนาการมีงานทำและการลดความยากจน ๔) การสร้างสันติภาพ และ ๕) การสร้างหุ้นส่วนระดับโลก โดยเป็นการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี จากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ไทย แองโกลา ตุรกี จีน และมาเลเซีย หลังจากนั้น คณะผู้แทนไทยจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุม UN Stakeholders’ Forum -Challenges and achievements in the implementation of the Millennium Development Goals for women and girls – the road ahead ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นภารกิจต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เพื่อสร้างความตระหนักของคำมั่นในการบรรลุเป้าหมายของความเสมอภาคทางเพศและการเสริมพลังสตรี โดยตนได้รับเชิญเป็นวิทยากรในหัวข้อ “วิธีการแบบมีส่วนร่วมในการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและการส่งเสริมเสียงของผู้หญิง ความเป็นผู้นำและสิทธิ – บทเรียนจากประสบการณ์ และเข้าร่วมการแลกเปลี่ยนหารือกับผู้แทนภาครัฐและ UN Women ในการเตรียมการ CSW ๕๘
นางปวีณา กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นการนำเสนอของประเทศไทยมี ๒ เรื่องคือ ๑) การดำเนินการของรัฐในการประกันการมี ส่วนร่วมของสตรีในการตัดสินใจ เช่น สมัชชาสตรี คณะกรรมการพัฒนาสตรีประจำ จังหวัด กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ๒) ตัวอย่างความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ “หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมทั้ง ๒ วาระแล้ว คณะผู้แทนไทยจะเดินทางไปหารือทวิภาคีไทย-สหรัฐ ในประเด็นต่อต้านการค้ามนุษย์ กับเอกอัครราชฑูต Luis CdeBaca ผู้แทนประจำสำนักงานติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ ณ กรุงวอชิงตันดีซี” นางปวีณา กล่าวท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit