กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ว่าการของไทยในธนาคารโลก ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศและการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2556 ณ ธนาคารโลก กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1.การประชุมกลุ่มผู้ออกเสียงเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA Group) ในวันที่ 10 ตุลาคม 2556 เพื่อรับฟังรายงานสภาวะเศรษฐกิจและความคืบหน้าการดำเนินงานและนโยบายที่สำคัญของ SEA Group ในธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ อาทิ การปรับยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและการเงินของกลุ่มธนาคารโลก การย้ำเป้าหมายของกลุ่มธนาคารโลกในการลดความยากจนให้เหลือร้อยละ 3 ภายในปี 2573 ร่วมกับการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึง และการปรับมาตรการเฝ้าระวัง (Surveillance Measures) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศให้เหมาะสมตามรายประเทศ เป็นต้น
2.การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประจำปี 2556 ในวันที่ 11 ตุลาคม 2556 ซึ่งมีการกล่าวสุนทรพจน์ของผู้บริหารสูงสุดของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยนายจิม ยอง คิม (Mr. Jim Yong Kim) ประธานธนาคารโลกยืนยันเป้าหมายการดำเนินงานหลัก 2 ประการ (Twin Goals) ได้แก่ 1) การขจัดปัญหาความยากจนที่สุด (ประชากรที่มีรายได้ต่อวันน้อยกว่า 1.25 เหรียญสหรัฐ) ให้เหลือร้อยละ 3 ของประชากรโลก ในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และ 2) การส่งเสริมการเติบโตอย่างทั่วถึงในกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุดร้อยละ 40 ในขณะที่ นางคริสทีน ลาร์การ์ด (Madame Christine Lagarde) กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ กล่าวถึงบทบาทของกองทุนฯ ในยูโรโซน และให้คำมั่นที่จะสนับสนุนประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วซึ่งกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา โดยกองทุนฯ จะเน้นบริการที่ยืดหยุ่นและรองรับความต้องการของประเทศสมาชิก (Country Focus) อนึ่ง ก่อนหน้าการประชุมประจำปีฯ ผู้ว่าการธนาคารโลกได้มีการหารือกับประธานธนาคารโลกอย่างไม่เป็นทางการเรื่องการจัดตั้งกองทุน Green Climate Fund เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายในปี 2557 และมีเป้าหมายการเพิ่มทุนให้ได้ประมาณ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี ภายในปี 2563 3.การเข้าร่วมเสวนาในเวที Resilience Dialogue ภายใต้หัวข้อการลดความยากจนและการสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับเหตุการณ์ภับพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นายมัวริซิโอ คาร์ดีนาส (Mr. Mauricio Cardenas) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโคลัมเบีย นางราเชล ไคท์ (Ms. Rachel Kyte) รองประธานธนาคารโลก และนางคริสตาลีนา จีออจีวา (Mrs. Kristalina Georgieva) กรรมาธิการสหภาพุโรป โดยการเสวนาได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวทางการรับมือและพัฒนาระบบป้องกันรองรับที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ของไทยในปี 2554 รวมทั้งกล่าวถึงการนำแผนแม่บท เพื่อการป้องกันอุทกภัยมาปรับใช้ในโครงการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยบางส่วน และกล่าวย้ำว่าการมีระบบป้องกันที่ดีจะช่วยประหยัดงบประมาณในการบริหารจัดการอุทกภัย เนื่องจากงบประมาณที่ใช้ในการแก้ไขจะสูงมากกว่างบประมาณที่ใช้ในการป้องกัน
4.การประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของอาเซียนกับกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในวันที่ 11 ตุลาคม 2556 โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญ คือ ท่ามกลางสถานการณ์ความผันผวนของตลาดการเงินโลก แต่ภูมิภาคอาเซียนก็ยังแข็งแกร่งด้วยการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจให้มีการบริโภคและการลงทุนในประเทศมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการค้าระหว่างกันในภูมิภาค นอกจากนั้น ความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคและการปฏิรูประบบสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็งมากกว่าปี 2540 ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศก็พร้อมที่จะสนับสนุนอาเซียนการพัฒนากลไกความร่วมมือทางการเงินในระยะต่อไป
5.การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภายใต้กรอบการประชุมผู้นำเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) อย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 3 ประกอบด้วย กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหพันธรัฐรัสเซีย และสหรัฐอเมริกา โดยที่ประชุมเห็นว่าเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกยังมีความแข็งแกร่งและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และ EAS ควรมีการหารือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดแนวทางและแผนการดำเนินงานร่วมกันในการรองรับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกลุ่ม G 20 เพื่อร่วมกันสร้างพลังร่วมในการส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน และสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน
6.นอกจากการประชุมที่กล่าวข้างต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังได้หารือทวิภาคีกับนายเอเซล แวน ทรอทเซนเบอร์ก (Mr. Axel Van Trotsenburg) รองประธานธนาคารโลก เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและความร่วมมือระหว่างกันที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับธนาคารโลก (Country Partnership Strategy : CPS) ฉบับใหม่ ปี 2557-2560 การศึกษาเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำในด้านการติดตามและประเมินผลโครงการ เพื่อเป็นการป้องกันและรองรับเหตุการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของไทยกับนานาประเทศในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ได้หารือถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะเพิ่มบทบาทสนับสนุนการทำงานของสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ หรือ International Development Association : IDA ซึ่งเป็นกองทุนของธนาคารโลกที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศยากจน เพื่อการพัฒนา
7.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีในประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจกับสถาบันการเงินชั้นนำของต่างประเทศ ได้แก่ CitiBank, Mizuho Financial Group, Bank of Tokyo Mitsubishi UFJ, JBIC, Credit Suisse, Barclays, Standard Chartered Bank และ HSBC โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยปัจจุบันที่ถึงแม้มีการชะลอตัวบ้างแต่ยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราเงินเฟ้อในระดับบริหารจัดการได้ อัตราว่างงานที่ต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่สูง หนี้สาธารณะต่อ GDP ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 45 และฐานะการคลังที่อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่งท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายปรับสมดุลของเศรษฐกิจไทยจากการพึ่งพิงการส่งออกเป็นตัวจักรสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจมาเป็นการพึ่งพิงอุปสงค์ภายในประเทศ ได้แก่ การอุปโภคบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐ นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการเพิ่มรายได้ การลดรายจ่ายและการเพิ่มโอกาสให้กับประชาชน พร้อมทั้งได้อธิบายถึงความจำเป็นและประโยชน์ของกฎหมายให้รัฐบาลลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งและคมนาคมวงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาทและกฎหมายให้รัฐบาลลงทุนในการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งสถาบันการเงินต่างๆ ได้แสดงความสนใจที่จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการระดมทุนในตลาดทุนต่างประเทศผ่านการออกพันธบัตรสกุลดอลลาร์สหรัฐสำหรับโครงการภายใต้พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... และลงทุนในด้านการเงินและการธนาคารสำหรับกระบวนการลงทุนทั้งสองด้านดังกล่าวด้วย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แสดงความเห็นว่าหากจะมีการระดมทุนจากต่างประเทศก็จะเป็นเพียงส่วนน้อยของจำนวนเงินลงทุนและจะมีการวางแผนออกพันธบัตรระยะยาวอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาครวมทั้งการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้ยกตัวอย่างโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่ไทยได้เข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุนทั้งในด้านการพัฒนากฎระเบียบและโครงสร้างทางการเงิน
8.นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะผู้ว่าการสำรองชั่วคราวของไทยในธนาคารโลก ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 88 ในวันที่ 12 ธันวาคม 2556 ซึ่งสมาชิกทั้ง 188 ประเทศ ยืนยันเป้าหมายการดำเนินงานหลัก 2 ประการของธนาคารโลกในการขจัดปัญหาความยากจน และการส่งเสริมการเติบโตอย่างทั่วถึง ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบกับกลยุทธ์ 4 ประการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของเป้าหมาย 2 ประการข้างต้น ได้แก่ กลยุทธ์การเป็นธนาคารเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ (Solution Bank) กลยุทธ์การกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย (Operationalizing Goals) กลยุทธ์การทำงานแบบบูรณาการระหว่างองค์กรทั้งหมดภายใต้กลุ่มธนาคารโลก (One World Bank Group) และกลยุทธ์การทำงานร่วมกับพันธมิตรและภาคเอกชน
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02 273 9020 ต่อ 3681-นท-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit