มูลนิธิสดศรีจัดเวทีระดมสมองแก้ปัญหาการพนัน นักวิชาการพบสถิติเด็กและเยาวชนเล่นพนันมากถึง 2.8 ล้านคน

16 Oct 2013

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

มูลนิธิสดศรีจัดเวทีระดมสมองแก้ปัญหาการพนัน นักวิชาการพบสถิติเด็กและเยาวชนเล่นพนันมากถึง 2.8 ล้านคน เปิด 5 อันดับการพนันที่เด็กเล่นมากสุด ห่วงพนันฟุตบอลแทรกซึมนักศึกษาระบุเล่นมากถึงสัปดาห์ละ 4 พันบาทต่อคน ชูโมเดล แคนดา – นิวซีแลนด์จัดการปัญหาการพนันด้วยการ กำหนดอายุเด็กเล่นพนันห้ามต่ำกว่า 18 ปี และจัดเก็บภาษีกับธุรกิจพนันที่สร้างปัญหาให้สังคม ด้าน “ครูหยุย” ชี้ปัญหาการพนันเป็นจุดเริ่มต้นของการคอรัปชั่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดูแล ขณะที่พม.รับลูก เตรียมแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ เตรียมตั้งคอมเพล็กซ์สร้างพื้นที่สีขาว นำร่องพื้นที่กทม.

ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ร่วมกับ เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน จัดเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนัน 2556“ความท้าทายในการจัดการสำหรับบริบทของสังคมไทย”โดยมีการเสวนาในหัวข้อ “การป้องกันเด็กและเยาวชนไทยจากการพนัน ภายใต้ค่านิยมและความท้าทายในบริบทของสังคมไทย”

นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวปาฐกถาว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันเห็นชัดว่าเยาวชนไทยเล่นพนันมากขึ้น และกลุ่มที่มีอายุน้อยเริ่มเข้าสู่วงจรการพนันมากขึ้น ซึ่งสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เด็กและเยาวชนเล่นการพนันมากขึ้นมาจากพฤติกรรมของวัยรุ่นที่ชอบการแสวงหาความตื่นเต้น การเลียนแบบเพื่อนเพื่อการเข้าสังคม และวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมาหลายหน่วยงานก็พยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะมีข้อจำกัดในการแก้ปัญหา เช่น ขาดเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ ขาดการบูรณาการทั้งด้านองค์ความรู้ รวมถึงการตีความในเรื่องกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกัน ดังนั้นแนวทางในการแก้ปัญหาที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะดำเนินการคือจะประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป โดยในเบื้องต้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีแนวทางที่จะสร้างcomplex ต้นแบบ เพื่อสร้างกิจกรรม เพิ่มพื้นที่สีเขียวและสีขาวให้กับเด็กและเยาวชน โดยจะนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและทำให้เด็กห่างไกลจากการพนัน

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า จากผลสำรวจสถานการณ์การเล่นพนันในเด็กและเยาวชนอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปใน พบข้อมูลเด็กและเยาวชนเริ่มเล่นการพนันตั้งแต่อายุยังน้อยคือ 7 ปี โดยมีเด็กและเยาวชนที่เล่นการพนันครั้งแรกอายุไม่เกิน 24 ปี มากถึงร้อยละ 63หรือ2.8 ล้านคนของเด็กและเยาวชนในประเทศของเราเริ่มเล่นการพนันแล้ว โดยการพนันที่เด็กและเยาวชนเล่นมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ หวยใต้ดินที่เล่นมากถึง 1 ล้านคน รองลงมาคือสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เล่นมากถึง 9 แสนคน ตามมาด้วยการพนันในบ่อนที่เล่นมากถึง 7 แสนคน และการเล่นการพนันฟุตบอลที่เด็กและเยาวชนเล่นถึง 4 แสนคน ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนที่เริ่มเล่นการพนันตั้งแต่อายุยังน้อย และแสดงให้เห็นว่าเราปล่อยปละละเลยให้เด็กและเยาวชนของเราเล่นการพนันกันมาอย่างยาวนาน

นอกจากนี้แล้วยังมีผลสำรวจล่าสุดที่เราได้จัดทำมาเฉพาะในปีพ.ศ. 2556 นี้ คือการสำรวจสถานการณ์การเล่นการพนันในนักศึกษาทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัด พบสถิติของนักศึกษาที่เล่นการพนันมีมากถึงร้อยละ 29.2 โดยการพนันที่นักศึกษาเล่นมากที่สุด 5 อันดับคือ 1. ไพ่ 2.บิงโก 3. หวยใต้ดิน 4. สลากกินแบ่งรัฐบาล 5. การพนันฟุตบอล โดยเฉพาะการพนันฟุตบอลนั้นนักศึกษาที่ร่วมตอบแบบสำรวจกับเราระบุว่าเริ่มเล่นมาแล้วเฉลี่ย 3 ปี โดยจำนวนเงินที่เล่นคือ 822 บาทต่อคู่ และเล่นต่อสัปดาห์เป็นเงิน 2,215 บาท และเล่นต่อคู่สูงสุด 4,017 บาท โดยมีนักศึกษาที่เล่นการพนันฟุตบอลผ่านเว็บไซด์อีก 31 เปอร์เซ็นต์ โดยช่องทางที่นักศึกษาใช้ในการรับข้อมูลเพื่อศึกษาในการเล่นการพนันฟุตบอลคือสื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ และสื่อหนังสือกีฬา โดยผลกระทบจากการพนันฟุตบอลทำให้นักศึกษาประสบปัญหาจากการพนันร้อยละ 30 ประสบปัญหาทางการเงินจากการพนันร้อยละ 11 และในจำนวนนี้แก้ปัญหาโดยการกู้ยืมเงินร้อยละ 69

ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนกล่าวว่า ปัจจุบันนี้ได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการพนันในประเทศไทยจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยการเปิดสายด่วนเพื่อให้มีการปรึกษาปัญหาที่เกิดจากการเล่นการพนัน ซึ่งกระบวนนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งผลการสำรวจพบว่าคนที่เล่นการพนัน 1 คน จะส่งผลกระทบต่อคนอีก 8 คนที่ไม่ได้เล่นการพนัน ทั้งปัญหาในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นการแก้ปัญหาในการเล่นการพนันจริงๆ จะต้องแก้ที่ต้นเหตุเพื่อหยุดปัญหา โดยเราต้องป้องกัน ช่วยเหลือและแทรกแซงตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยรัฐบาลของประเทศแคนาดาเป็นผู้ดูแลและแก้ไขปัญหาการพนันในประเทศ เพราะรัฐบาลเป็นผู้รับประโยชน์จากธุรกิจการพนัน จึงเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องแก้ปัญหานี้อยากจริงจัง โดยใช้แนวทางของ Public health นอกจากนี้กฎหมายท้องถิ่นในแต่ละรัฐของประเทศแคนนาดาได้มีการกำหนดอายุขั้นต่ำในการเล่นการพนันของเด็กและเยาวชน นอกจากนี้แล้วยังมีมาตรการหลักในการรณรงค์เพื่อให้สังคมตระหนักรู้ถึงพิษภัยและโทษของการพนัน และมีการติดโปสเตอร์ แจกแผ่นพับในสถานประกอบการ รวมถึงจัดทำวิดีโอเพื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดจากการเล่นการพนัน ให้กับเด็กและเยาวชนได้ดู รวมถึงมีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อช่วยในการแก้ปัญหา โดยในรัฐควิเบกหน่วยงานที่จำหน่ายล็อตโต้ (Lotto-Quebec) ก็ได้ให้ทุนสนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยในการทำวิจัยและจัดทำโครงการเพื่อศึกษาปัญหาแก้ไขเรื่องการเล่นการพนัน รวมถึงมีการจัดทำโครงการ “Count Me Out” หรือ โครงการฉันไม่ยุ่งด้วยนะ ให้กับเด็กและนักเรียนระดับประถมศึกษารู้ถึงปัญหาการพนันและไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการพนัน

ส่วนในประเทศนิวซีแลนด์ ในปี ค.ศ.2001 รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ประกาศให้ปัญหาการพนันเป็นปัญหาสาธารณสุข และจัดทำนโยบายระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหาการพนัน และได้มีการพัฒนาโครงการในชื่อ “When is it not a game” หรือ เมื่อไหร่ที่ไม่เรียกว่าเกม โดยใช้บรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนให้กับเด็กเพื่อให้รู้เท่าทันปัญหาการพนัน นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังได้จัดทำแผนบูรณาการเพื่อลดปัญหาการพนันให้เหลือน้อยที่สุด พร้อมทั้งยังมีการส่งเสริมสุขภาพให้การศึกษาและป้องกันการเล่นการพนันในระดับเบื้องต้น นอกจากนี้รัฐบาลยังได้จัดตั้งองค์กรอิสระในชื่อ PGFNZ เพื่อให้คำปรึกษากับเยาวชนในสื่อสังคมออนไลน์พร้อมกันนี้ยังได้มีการปรับแก้กฎหมายการพนันในปี 2013 โดยกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะเล่นการพนันจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปี และหากผู้ประกอบการการพนันปล่อยให้เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปีเข้าเล่นจะมีความผิดทางอาญา รวมทั้งได้มีการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีกับธุรกิจการพนันทุกๆ 3 ปี โดยหากได้รับเรื่องร้องเรียนจากธุรกิจการพนันประเภทใดมากที่สุดก็จะจัดเก็บภาษีจากการพนันชนิดนั้นมากขึ้นด้วย เพื่อนำเงินไปแก้ปัญหาการพนัน ทั้งนี้ตนขอเสนอการแก้ปัญหาการพนันในประเทศไทย 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนจะต้องมีการสำรวจปัญหาการพนันของเด็กและเยาวชนไทยในระดับชาติ และจัดทำชุดข้อมูลความรู้เกี่ยวกับปัญหาการพนันในสังคม รวมถึงสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับเด็กและเยาวชนหรือการสร้างพื้นที่สีขาว ส่วนระยะกลางรัฐบาลจะต้องกำหนดให้ปัญหาการพนันเป็นวาระแห่งชาติและใช้แนวทาง Public Health ในการแก้ปัญหารวมถึงเพิ่มเติมปัญหาการพนันให้เข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดตั้งกองทุนอิสระเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง อีกทั้งต้องมีการปรับปรุงและแก้ไขข้อบังคับกฎหมาย เกี่ยวกับปัญหาการพนันอย่างจริงจังและเข้มงวดกับการโฆษณาผ่านสื่อ และกำกับการพนันออนไลน์ให้ชัดเจน ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ควรมีการสนับสนุนการทำงานของกองทุนอิสระหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอยู่ อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อแก้ปัญหา และควรมีการจัดหาบริการให้ครอบคลุมและทั่วถึงเพื่อป้องกัน บำบัดและเยียวยาผู้ที่ติดพนัน รวมถึงควรมีการจัดทำคู่มือเพื่อให้เกิดการพนันอย่างรับผิดชอบ

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์กรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กล่าวว่า การพนันถือเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดการทุจริตการคอรัปชั่นตามา ปัญหาของการพนันนั้นไม่ได้กระทบแค่คนคนเดียว แต่จะกระทบกับผู้คนหลากหลายส่วนที่อยู่ในครอบครัวของผู้ที่เล่นการพนัน โดยการพนันในระดับชาตินั้นจะเกี่ยวโยงกับการฟอกเงิน ในสนามกอล์ฟก็มีการเล่นการพนัน ทั้งนี้การเล่นการพนันระดับประชาชนนั้นจากการที่ตนได้ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์ปัญหาพบว่าผู้หญิงจะชอบเล่นไพ่ โดยเล่นเป็นวงเล็กๆ ในจำนวนเงินที่ไม่มาก ครั้งละ 30-40 บาท หากแต่เล่นบ่อย ส่วนผู้ชายชอบเล่นม้า เล่นครั้งเดียวแต่เล่นจนหมดตัว ดังนั้นการพนันจึงไม่ใช่สิ่งที่ดีเราจึงจำเป็นต้องเร่งหาหนทางป้องกันให้เด็กและเยาวชนของเราไม่ให้เข้าสู่วงจรของการพนันให้ได้

ดร.วิเชียร ตันศิริคงคลคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า สำหรับการจัดการปัญหาเรื่องการพนันในสังคมไทยนั้น จะใช้การบังคับใช้ตามกฎหมายเป็นหลักตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 แต่ก็ต้องยอมรับว่าจัดการได้บ้างและไม่ได้บ้าง ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่รัฐและระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทย นอกจากนี้ปัญหาการพนันที่ถูกสะสมมานานเนื่องจากในอดีตมักถูกมองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบกับใคร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐจึงทำให้เกิดการปล่อยปละละเลยแต่ก็เป็นที่น่ายินดีที่ปัจจุบันเริ่มมีหลายหน่วยงานเข้ามาเห็นถึงปัญหาของการพนันว่าส่งผลกระทบในหลากหลายด้านทั้งเศรษฐกิจสังคมทำให้เกิดการร่วมกันแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น แต่ด้วยเทคโนโลยีทำให้ปรากฏการณ์การพนันการล้ำไปมากกว่าองค์ความรู้และการบังคับใช้กฏหมาย ดังนั้นเราจะต้องหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ซึ่งการพนันออนไลน์ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นต้นแบบว่ารัฐสามารถจัดการปัญหาการพนันได้ดีหรือไม่ เพราะปัจจุบันในร้านอินเตอร์เน็ตบางร้านก็ถูกแอบแฝงให้เป็นบ่อนคาสิโน และปัจจุบันคาสิโนออนไลน์ก็ถูกย่อขนาดลงมาให้อยู่ในโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนทำให้การเข้าถึงการพนันง่ายขึ้น ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ทีต้องแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งตนเชื่อว่าพรบ.คุ้มครองเด็กและเยาชนที่กำลังปรับแก้อยู่ในขณะนี้จะกลายเป็นกฎหมายที่สร้างความหวังให้กับสังคมไทยเรื่องการแก้ปัญหาการพนัน

-นท-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net