5 จังหวัดเสี่ยงลุ่มเจ้าพระยา ตื่นตัวทำประกันภัยพิบัติ

16 Oct 2013

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--คิธ แอนด์ คินฯ

5 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงตามประมาณการของกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ (กองทุนฯ) บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตื่นตัวทำประกันภัยพิบัติ โดยมีทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ รวม 23,074 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.67 เมื่อเทียบกับทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ ทั้งประเทศ สะท้อนบทบาทของกองทุนฯ ในการคุ้มครองทรัพย์สินและกิจการในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ เปิดเผยว่า สถิติการทำประกันภัยพิบัติในช่วงวันที่ 28 มีนาคม 2555 - 20 กันยายน 2556 ของ 5 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงตามประมาณการของกองทุนฯ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี และกรุงเทพฯ มีความตื่นตัวในการทำประกันภัยพิบัติในระดับสูง ซึ่งทั้ง 5 จังหวัดมีทุนประกันภัยต่อ ตามสัดส่วนของกองทุนฯ รวม 21,757 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.65 เมื่อเทียบกับทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ ทั้งประเทศ จำนวน 44,719 ล้านบาท

โดยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงที่มีทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ สูงที่สุดคือกรุงเทพฯ จำนวน 13,793 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ นนทบุรี จำนวน 2,650 ล้านบาท ปทุมธานี จำนวน 2,492 ล้านบาท พระนครศรีอยุธยา จำนวน 1,949 ล้านบาท และนครปฐม จำนวน 874 ล้านบาท

นอกจากนั้น กรุงเทพฯ ยังมีทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ ในส่วนของผู้ทำประกันภัยทั้ง 3 ประเภทสูงที่สุด ได้แก่ บ้านอยู่อาศัย จำนวน 9,727 ล้านบาท ธุรกิจขนาดกลางและย่อม จำนวน 1,796 ล้านบาท และอุตสาหกรรม จำนวน 2,270 ล้านบาท ในขณะที่จังหวัดนนทบุรีมีทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ ประเภทบ้านอยู่อาศัยสูงเป็นอับดับสอง จำนวน 2,217 ล้านบาท จังหวัดปทุมธานี มีทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ ประเภทธุรกิจขนาดกลางและย่อมสูงเป็นอันดับสอง จำนวน 356 ล้านบาท และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ ประเภทอุตสาหกรรมสูงเป็นอันดับสอง จำนวน 1,499 ล้านบาท จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติในการสร้างหลักประกันให้กับทรัพย์สินและกิจการในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากอุทกภัย และพื้นที่ดังกล่าวยังมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย โดยจะเห็นได้จากเมื่อเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 ได้สร้างความเสียหายให้แก่โรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดปทุมธานีหลายแห่ง ซึ่งประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร สวนอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร และสวนอุตสาหกรรมบางกระดี

“พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เป็นต้น ดังนั้น การสร้างหลักประกันเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินและกิจการเมื่อประสบภัยพิบัติ จึงไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือเฉพาะภาคเอกชนแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจของ ประเทศ และเป็นปัจจัยผลักดันให้นักลงทุนต่างชาติยังคงตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยและขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง” นายพยุงศักดิ์ฯ กล่าว

-กผ-