นีออน, สวิตเซอร์แลนด์--17 ต.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
ในวันที่ 20 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันกระดูกพรุนโลก (World Osteoporosis Day) มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ (International Osteoporosis Foundation หรือ IOF) ได้รณรงค์ให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพกระดูกของตนเอง อาการกระดูกหักที่มีสาเหตุมาจากกระดูกพรุนมักจะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวด ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และสูญเสียสมรรถภาพในการดำเนินชีวิต อีกทั้งยังทำให้อายุสั้นลงอีกด้วย ผู้หญิงวัย 45 ปีขึ้นไปที่เป็นโรคกระดูกพรุน จะใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่าโรคอื่นๆ อาทิ โรคเบาหวาน ภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หรือมะเร็งเต้านม ข่าวดีก็คือ หากผู้หญิงทำความรู้จักกับการเกิดความเสี่ยงของโรคได้เร็วเท่าใด ผู้หญิงเราก็จะสามารถป้องกัน และยับยั้งโรคกระดูกพรุนได้
ผู้หญิงประมาณ 200 ล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากภาวะกระดูกพรุน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากภาวะกระดูกเริ่มเปราะบาง และแตกร้าวง่าย ด้วยจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทำให้จำนวนผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากภาวะกระดูกพรุนพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หากไม่หาทางแก้ปัญหา คนรุ่นใหม่ในอนาคตอาจมีอายุยืนขึ้น แต่คุณภาพชีวิตของคนรุ่นใหม่จะลดต่ำลงอย่างมาก แม้ผู้หญิงทุกวัยจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน แต่ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะสูญเสียมวลกระดูกไปอย่างรวดเร็ว
ศาสตราจารย์จอห์น เอ คานิส (John A. Kanis) ประธานมูลนิธิ IOF กล่าวว่า "โรคกระดูกพรุนเป็นภัยคุกคามร้ายแรงสำหรับสุขภาพของผู้หญิง ผู้หญิง 1 ใน 3 คนทั่วโลกที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป จะเผชิญกับภาวะกระดูกแตกที่เกิดจากโรคกระดูกพรุน ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงจำนวนมากยังละเลยต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆหลังจากวัยหมดประจำเดือน และรวมถึงการใช้มาตรการป้องกันโรค"
IOF แนะแนววิธีการที่จำเป็นต่อการดูแลกระดูก และกล้ามเนื้อให้แข็งแรงในช่วงที่อายุมากขึ้นไว้ดังนี้:
1) ออกกำลังกายเป็นเวลา 30-40 นาที ให้ได้ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ พร้อมทั้งฝึกการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักควบคู่กันไปด้วย ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ การฝึกเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (อาทิ ยางยืด และเครื่องยกน้ำหนัก) ก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น
2) ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อกระดูก ได้แก่ อาหารที่มีแคลเซียม และโปรตีนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย รวมถึงอาหารจำพวกผักผลไม้ เพื่อสร้างสมดุลให้กับความต้องการโปรตีนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ คุณต้องได้รับวิตามินดีในปริมาณที่เพียงพออีกด้วย ออกไปเจอแสงแดด ควบคุมอาหาร และทานอาหารเสริมหากจำเป็น
3) หลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง อาทิ การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเกินไป ควรควบคุมน้ำหนักให้สมส่วน ผู้หญิงที่มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนได้มากกว่าผู้หญิงที่มีรูปร่างสมส่วน
4) ตรวจหาว่าคุณมีปัจจัยที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ ปัจจัยเสี่ยงทั่วไป ได้แก่ ภาวะหมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี, การใช้ฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, ภาวะผิดปกติของระบบดูดซึมสารอาหาร (อาทิ โรคช่องท้องอักเสบ หรือโรคลำใส้เล็กอุดตันบางส่วน), การแตกหักของกระดูกเปราะในอดีต หรือคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคกระดูกพรุน และกระดูกร้าวมาก่อน สามารถทำแบบทดสอบวัดความเสี่ยงออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์: http://www.iofbonehealth.org
5) วัยหมดประจำเดือนเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพกระดูก และตรวจประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกร้าว (อาทิ การใช้เครื่อง FRAX) หากพบปัจจัยเสี่ยงควรทดสอบความหนาแน่นของมวลกระดูก หากมีการสั่งจ่ายยาต้องปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์อย่างเคร่งครัด
จูดี้ สเตนมาร์ก (Judy Stenmark) ซีอีโอมูลนิธิ IOF กล่าวว่า "ผู้หญิงเป็นเสาหลักของครอบครัว และสังคม ฉันอยากให้ผู้หญิงที่กำลังจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนร่วมใส่ใจสุขภาพกระดูกตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และความเป็นอิสระในอนาคต"
สามารถดูรายละเอียดได้ที่: http://www.worldosteoporosisday.org/media-centre
เกี่ยวกับวันกระดูกพรุนโลก
วันกระดูกพรุนโลก ตรงกับวันที่ 20 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งกำหนดขึ้นโดยมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ หรือ IOF และมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการตระหนักถึงภัยของโรคกระดูกพรุน และโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับระบบกระดูกและกล้ามเนื้อแก่ผู้คนทั่วโลก คุรสามารถเข้าร่วมแคมเปญใหม่เพื่อร่วมให้ความสำคัญกับการเป็นผู้หญิงที่มีสุขภาพแข็งแรงได้โดยการเสนอชื่อ “Woman of Steel” และร่วมแสดงการสนับสนุนโดยใส่เสื้อสีขาวในวันกระดูกพรุนโลก
เว็บไซต์: http://www.worldosteoporosisday.org
เฟซบุ๊ก: http://www.facebook.com/worldosteoporosisday
แฮชแท็ก: #womenofsteel
ในปี 2556 ได้รับความอนุเคราะห์ด้านการศึกษาวิจัยจาก ฟอนเทอร์ร่า (Fonterra), ไฟเซอร์ คอนซูเมอร์ เฮลธ์แคร์ (Pfizer Consumer Healthcare), เอ็มเจน/จีเอสเค (Amgen/GSK) และลิลลี่ (Lilly)
ติดต่อ:
ชารันจิต จาเก็ท
โทร. +41-22-994-01-02
มือถือ: +41-79-874-52-08
อีเมล: [email protected]
แหล่งข่าว: มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit