คสช.เดินหน้าหนุนยุทธศาสตร์จัดการระบบอาหาร หวั่นภัยคุกคามสุขภาพคนไทย

25 Oct 2013

กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

รองนายกฯไฟเขียวหนุนยุทธศาสตร์จัดการระบบอาหาร เพื่อเชื่อมความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลกระบวนการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบ เกษตรกร ผู้ประกอบการ ลดความกังวลของผู้บริโภค หลังพบสารเคมีตกค้างเพียบ แนะสร้างเครื่องมือตรวจคุณภาพผักผลไม้ในจุดกระจายสินค้าขนาดใหญ่นำร่อง สธ.เดินหน้าโครงการ Food Safety

เมื่อเร็วนี้ๆ ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มี นายพงศ์เทพ เทพกาญนา รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการหารือเรื่อง "การจัดการระบบอาหารของประเทศไทย" โดยให้ขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างจริงจัง นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การจัดการระบบอาหารของประเทศไทย เกิดจากแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทยในทุกมิติ เพื่อป้องกัน "ภัยคุกคามด้านสุขภาพ" ที่เกิดจากอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สำคัญ ซึ่งจะสนับสนุนให้คนไทยบริโภคอาหารได้อย่างมีคุณภาพ เพียงพอ และปลอดภัยมากที่สุด โดยจะมีการพิจารณาแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต การเพาะเลี้ยง การตัดแต่ง แปรรูป การปรุงอาหารและการขนส่ง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในทุกขั้นตอนและกระบวนการ

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สธ.จะเดินหน้าโครงการอาหารปลอดภัยหรือ Food Safety เพื่อดูแลและปกป้องสิทธิของผู้บริโภค ในสินค้าประเภทข้าวสาร ที่จัดจำหน่ายในประเทศ มีการตรวจสอบมาตรฐานเพื่อสร้างความมั่นใจเป็นการสร้างระบบมาตรฐานข้าวปลอดภัยครบวงจร และมาตรการติดฉลากแจ้งปริมาณส่วนผสม ของน้ำตาลและเกลือ ในผลิตภัณฑ์ต่างๆว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงอัตราการบริโภคที่เหมาะสมต่อสุขภาพ โดยเขียนฉลากด้วยภาษาอ่านง่าย เช่นที่บริเวณข้างขวดเครื่องดื่ม ให้ประชาชนตัดสินใจได้ว่าจะเลือกซื้อหรือไม่

ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานคณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดวงจรอาหารมี 17 หน่วยงานที่ดำเนินการในแต่ละขั้นตอน มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกว่า ๓๐ ฉบับ และคณะกรรมการขับเคลื่อนอีกมากกว่า ๑๐ ชุด ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน อาทิ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่มีมติและยุทธศาสตร์เรื่องความปลอดภัยทางอาหาร ,สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , กระทรวงมหาดไทย , กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นต้น แม้จะเป็นแนวทางการทำงานที่ดี แต่การบริหารจัดการยังมีความซับซ้อน ขาดเอกภาพในการแก้ปัญหา

ดังนั้น ยุทธศาสตร์การจัดการระบบอาหารของประเทศไทย จะสร้างบูรณาการให้การดำเนินงานร่วมกันเกิดประสิทธิภาพในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น ขณะที่ยุทธศาสตร์ฯยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นสร้างมาตรการด้านสุขภาพ เพื่อลดอัตราป่วย ตาย และผลกระทบจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้กับประชาชน ควบคู่ไปกับการดูแลสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะที่ดี ให้ความรู้ในการใช้สารเคมีให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นระบบ มุ่งสร้างเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ส่งเสริมการส่งออกอาหาร การลงทุนเรื่องบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ช่วยขยายพื้นที่ด้านการเพาะปลูก สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน และการส่งเสริมนโยบายจำนำข้าว ซึ่งเป็นหลักประกันรายได้ให้แก่ชาวนา

นายสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ กรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงการพัฒนานโยบายการจัดระบบอาหารในระดับพื้นที่ โดยใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพเป็นเครื่องมือว่า จังหวัดพิจิตรเคยมีปัญหาสุขภาพอย่างรุนแรง เนื่องจากชาวบ้านมีการใช้สารเคมีในการปลูกพืช ทำให้หน่วยงานในจังหวัด ผู้นำท้องถิ่น เกษตรกรและภาคประชาสังคม ได้ร่วมมือกันจัดทำแผนแก้ไขปัญหา โดยทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ระดมบุคลากรที่มีความสามารถระดับท้องถิ่นมาช่วยกันหาทางออก และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนให้ความสำคัญและร่วมสนับสนุนอย่างเต็มที่

“ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ระหว่างปี 2548-2553 มีการตรวจหาสารเคมีตกค้างในเลือดของเกษตรกร พบว่า เกษตรกรเหล่านี้มีปริมาณสารเคมีตกค้างในระดับสูงขั้นเสี่ยงและไม่ปลอดภัย เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่มีแนวโน้มการสะสมสารเคมีตกค้างเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากร้อยละ 23-25 เป็นร้อยละ 33-34 สอดคล้องกับแนวโน้มผู้เจ็บป่วยจากการสัมผัสสารเคมีการเกษตรและผู้ป่วยโรคมะเร็งที่สูงขึ้น จึงร่วมคิดกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร มีข้อสรุปว่าจังหวัดพิจิตรจะต้องเป็นสังคมสีเขียวหรือกรีนโซไซตี้ เป็นเมืองปลอดสารพิษ โดยทั้งเกษตรกร ผู้ป่วย ชมรมคนรักสุขภาพ หมออนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันพลิกฟื้นชีวิตมีการประกาศอิสรภาพจากสารพิษ เพื่อคืนแผ่นดิบอาบยาพิษ เป็นแผ่นดินทอง เมื่อดำเนินการมาระยะหนึ่ง คนพิจิตรกล้าที่จะบริโภค ปู ปลา ผักบุ้ง อีกครั้ง ขณะที่ดินน้ำก็คุณภาพดีขึ้น มีการผลิตปุ๋ยได้เอง มีการเปิดพื้นที่ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมาพบกัน เช่น มีตลาดสินค้าอินทรีย์ในโรงพยาบาลชุมชน และมองว่าจะขยายความสำเร็จตรงนี้ไปสู่ตำบลอื่นด้วย”

-นท-