น้ำท่วมไทย ไม่กระทบเบี้ยภัยพิบัติ

24 Oct 2013

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--คิธ แอนด์ คินฯ

กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติลั่นอัตราเบี้ยประกันภัยพิบัติในตลาดไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นเหตุผลกระทบน้ำท่วมไม่รุนแรงเข้าข่ายภัยพิบัติ ขณะที่บริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศเชื่อมั่นในไทยรับประกันภัยต่อไม่อั้น ยันดูแลผู้ถือกรมธรรม์เต็มที่

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดจะไม่ส่งผลกระทบให้ต้องปรับขึ้นอัตราเบี้ยประกันภัยพิบัติ ซึ่งปัจจุบันกองทุนฯ กำหนดที่ร้อยละ 0.5 - 1.25 ต่อปี โดยกลุ่มครัวเรือนคิดที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ร้อยละ 1 ต่อปี และกลุ่มอุตสาหกรรม ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรม เพราะพื้นที่ที่ท่วมส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งเกิดเหตุน้ำท่วมอยู่เป็นประจำแทบทุกปี ไม่ได้มีน้ำเหนือ ที่ไหลลงมาสมทบ ดังนั้น สถานการณ์จึงยังห่างไกลจากวิกฤติอุทกภัยที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2554 ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมที่เคยได้รับผลกระทบได้มีการเตรียมพร้อมรับมือและบริหารจัดการ ความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก อาทิ การสร้างเขื่อนถาวรและระบบการระบายน้ำในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง ส่งผลให้บริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศมีความเชื่อมั่น และเข้ามารับความเสี่ยงในประเทศไทยมากขึ้น “แม้สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยังไม่ถือเป็นภัยพิบัติ แต่กองทุนฯ ก็ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือจากการจ่ายค่าสินไหมอย่างเต็มที่” นายพยุงศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ กองทุนฯ มียอดจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติสะสมตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2555 - 20 กันยายน 2556 จำนวน 1,694,315 ฉบับ เป็นกรมธรรม์ที่ยังมีความคุ้มครองอยู่จำนวน 1,380,434 ฉบับ โดยมีทุนประกันภัยพิบัติที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ 84,792 ล้านบาท เป็นทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ ที่ยังมีความคุ้มครองอยู่จำนวน 44,719 ล้านบาท

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจ SMEs และกลุ่มอุตสาหกรรม ให้ความสนใจในการทำประกันภัยพิบัติมากขึ้น โดยมีทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ รวมกันทั้งสิ้น 15,560 ล้านบาท แบ่งเป็นนอกเขตนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 13,504 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 87 และในเขตนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 2,056 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 ซึ่งธุรกิจ SMEs และอุตสาหกรรมที่อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีมาตรการในการป้องกันน้ำท่วมทั้งจากภาครัฐบาลและภาคเอกชน เป็นอย่างดี จึงส่งผลให้บริษัทประกันภัยรับความเสี่ยงไว้เองมากขึ้นและส่งต่อให้กองทุนฯ ลดลง

โดยกลุ่มธุรกิจ SMEs มีทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ ทั้งสิ้น 6,635 ล้านบาท แบ่งเป็นนอกเขตนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 6,544 ล้านบาท หรือสัดส่วนร้อยละ 99 ที่เหลืออยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 91 ล้านบาท หรือร้อยละ 1 ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมมีทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ รวม 8,925 ล้านบาท แบ่งเป็นนอกเขตนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 6,960 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78 และในเขตนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 1,965 ล้านบาท หรือสัดส่วนร้อยละ 22

-กผ-