เตรียมคลอดแผนยุทธศาสตร์ ๕ ปี ปฏิรูปการผลิตบุคลากรสุขภาพ

22 Oct 2013

กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

อนุกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษากำลังคนด้านสุขภาพ เปิดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์ฯ ที่มุ่งเน้นปฏิรูปการศึกษา หนุนบริการประชาชนด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ และดูแลชุนชนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น เตรียมเสนอสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ปลายปีนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาก่อนร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป

เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ คณะอนุกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษากำลังคนด้านสุขภาพที่มี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธาน ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่างแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษากำลังคนด้านสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๕๗ - พ.ศ. ๒๕๖๑) โดยมีภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ประโยชน์กำลังคนด้านสุขภาพ จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้แทนสถาบันการศึกษาของบุคลากรด้านสุขภาพ องค์กรวิชาชีพ ภาคประชาสังคม อสม. และผู้แทนสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัด เข้าร่วมกว่า ๑๐๐ คน ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพ

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ฯ เปิดเผยว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เป็นขั้นตอนของกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้องในการยกระดับและพัฒนาการผลิตบุคลากรด้านสุขภาพในประเทศไทยให้มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของระบบสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมเชื่อมโยงกับชุมชนและมิติทางสังคมมากยิ่งขึ้น โดยดึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายที่ผลิตบุคลากรและผู้ใช้ประโยชน์เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อทำให้วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่ยกร่างขึ้นนี้ สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ก่อนนำเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ที่จะจัดขึ้นเพื่อพิจารณาร่าง แผนยุทธศาสตร์ฯข้างต้น ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

“การศึกษาของบุคลากรด้านสุขภาพมีการปฏิรูปครั้งใหญ่เมื่อ ๑๐๐ ปีมาแล้ว โดยเปลี่ยนจากการเรียนการสอนบนฐานประสบการณ์สู่การมุ่งเน้นการเรียนการสอนบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการทดลองวิจัยหลักอันเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการก่อตั้ง สถาบันการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพแผนปัจจุบันที่กระจายไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย แต่ปัจจุบันสถานการณ์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและระบาดวิทยา เช่น โรคไม่ติดต่อที่เพิ่มมากขึ้น โรคระบาดในสัตว์ หรือโรคติดต่ออุบัติใหม่ ซึ่งสัมพันธ์กับพฤติกรรมการสุขภาพส่วนบุคคล ครอบครัวได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก รวมถึงสภาวะความเปลี่ยนแปลงของสังคมและระบบสุขภาพ เช่น สังคมผู้สูงอายุ ภัยพิบัติธรรมชาติ การเกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นโยบายเมดิเคิลฮับ หรือการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน ระบบการศึกษาของบุคลากรด้านสุขภาพจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เพื่อที่จะสามารถผลิตบุคลากรในสาขาต่างๆที่เหมาะสม มีปริมาณเพียงพอ มีการกระจาย อย่างทั่วถึง มีจิตสาธารณะและหัวใจของความเป็นมนุษย์ และมีคุณภาพที่พึงประสงค์ สามารถตอบสนองต่อความจำเป็นสุขภาพของประเทศได้ นอกจากนี้ยังต้องรวมถึงการมีความสามารถในการทำงานเป็นทีมในระบบสุขภาพ เข้าใจระบบสุขภาพ มีความเข้าใจ เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และธรรมชาติ เข้าใจทุกข์ของสังคม และมีศักยภาพในการเรียนรู้ต่อเนื่องได้ตลอดชีวิต”

ร่างยุทธศาสตร์ฯฉบับนี้ได้นำเสนอประเด็นยุทธศาสตร์ฯไว้ ๖ ประเด็นสำคัญ คือ ๑.การกำหนดนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับกำลังคนด้านสุขภาพ โดยใช้หลักฐานทางวิชาการ ๒. การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้กำลังคนด้านสุขภาพ ๓.การปฏิรูปการบริหารจัดการในสถาบันการศึกษา ๔. การปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน ๕. การจัดการความรู้ และ ๖. การสร้างเครือข่ายสู่การปฏิรูปการศึกษากำลังคนด้านสุขภาพ โดยกำหนดตัวชี้วัดผลสำเร็จในปี ๒๕๖๑ ไว้หลายประการ เช่น สัดส่วนการรับเข้าของผู้เรียนจากชนบทและเมือง ค่าใช้จ่ายต่อหัวในการผลิตต่อบุคลากรในสถานศึกษา สัดส่วนการสมัครเข้าทำงานและการยังคงทำงานในชนบทและเมืองหลังจากจบการศึกษา รวมถึง ทัศนะคติของผู้เรียนต่อการทำงานในชนบทและการเลือกทำงานในชนบท เป็นต้น ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมต่างระดมความเห็นและนำเสนอกันอย่างเต็มที่ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯจะได้นำความคิดเห็นไปปรับปรุง ร่าง ยุทธศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับและเกิดประโยชน์ต่อระบบการศึกษาของบุคลากรสุขภาพต่อไป ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมประชุมให้ความสำคัญคือ หน่วยงานหรือภาคีใดที่จะเป็นเจ้าภาพรับเอาแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปใช้ในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง

การดำเนินการร่างยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษากำลังคนด้านสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นการขับเคลื่อนต่อเนื่องจากมติสมัชชาสุขภาพครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ ที่ได้เห็นชอบแนวทาง "การปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย" ซึ่งต่อมา คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ฯฉบับนี้ ก่อนจะนำเสนอต่อเวที สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นปลายปีนี้ เพื่อรับฟังความเห็นและฉันทามติจากภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศ ก่อนผลักดันสู่ภาคปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

-นท-