กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวในงานเสวนาเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2556 ที่โรงแรมเอเซีย กรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้มีการปรับกระบวนการอนุญาตเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยหลังจากที่มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานขึ้นมาดูแลการอนุญาตโรงงานบางประเภทดังกล่าว พบว่า การทำงานของ กรอ. และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เริ่มมีมาตรฐานเดียวกัน มีการคำนึงถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ กระบวนการอนุญาตเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น และอยู่ภายใต้กรอบระยะเวลา 90 วัน หลังจากเอกสาหลักฐานต่างๆครบถ้วน อีกทั้ง ยังพบว่าปัจจุบันไม่ปัญหาการร้องเรียนที่เกิดจากกระบวนการอนุญาตที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งต่างจากในอดีตที่มีการฟ้องร้องจนถึงขั้นมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตหรือสั่งปิดโรงงานเป็นจำนวนหลายราย นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างความโปร่งใสและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ กรอ. ได้จัดทำระบบติดตามการอนุญาตขึ้นผ่าน Web Site ของ กรอ. โดยผู้ขออนุญาตสามารถติดตามสถานะการอนุญาตว่าอยู่ในขั้นตอนไหนและเจ้าหน้าที่คนไหนเป็นผู้รับผิดชอบได้จาก www.diw.go.th รวมทั้งสามารถแจ้งร้องเรียนกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการอนุญาตหรือมีผู้เรียกรับผลประโยชน์ได้ผ่านโทรศัพท์สายด่วน 1564 อีกด้วย
นายณัฐพลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กรอ. จะมุ่งเน้นการให้บริการแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น โดยจะเน้นการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการทุกรายว่าควรจะต้องดำเนินการอย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสร้างมาตรฐานของเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการพิจารณาให้เป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศ ทั้งนี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่ประการใด ซึ่งผู้ประกอบการสามารถขอคำปรึกษาแนะนำได้ที่ ศูนย์บริการสารพันทันใจ ชั้น 1 ตึก กรอ.
ด้านภาคเอกชน ก็ออกมาขานรับกับแนวทางการดำเนินการยุคใหม่ของ กรอ. โดย คุณพิทักษ์ พฤทธิสาริกร รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กระบวนการอนุญาตตั้งโรงงานของประเทศไทยนั้นถือว่าสะดวกและรวดเร็วมากกว่าหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซีย แม้ว่าประเทศไทยจะมีกระบวนการหรือขั้นตอนที่ต้องดำเนินการในหลายเรื่อง แต่ก็เป็นเรื่องปกติของประเทศที่มีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว กฎระเบียบที่เคยใช้เมื่อหลายปีก่อนตอนตั้งโรงงานแห่งแรกก็มีการปรับปรุงและพัฒนาไปเพื่อดูแลประชาชนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิม แต่จากประสบการณ์ในการตั้งโรงงานแห่งใหม่ของฮอนด้าก็พบว่า แม้จะมีกระบวนการหรือขั้นตอนที่เพิ่มมากขึ้น แต่หากเราได้เข้าไปทำการศึกษาอย่างถ่องแท้ กระบวนการดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการตั้งโรงงานเลย อีกทั้งยังเป็นการดีที่ทำให้โรงงานสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุขและสิ่งแวดล้อมได้รับการดูแลไปพร้อมกัน นอกจากนี้ ฮอนด้าเองก็ไม่เคยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากที่ถูกกำหนดไว้ตามกฎหมายอีกด้วย ซึ่งกรณีของการตั้งโรงงานแห่งใหม่ของฮอนด้าที่จังหวัดปราจีนบุรี กระบวนการในส่วนของใบอนุญาตโรงงาน หรือ รง.4 หลังจากที่การตัดสินใจในส่วนของฮอนด้าได้ข้อยุติแล้ว ปรากฏว่าใช้เวลาไม่ถึง 60 วัน ก็ได้รับการอนุญาตแล้ว
คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ก็ได้กล่าวเช่นเดียวกันว่า กฎระเบียบมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบเพื่อให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่ง โตชิบา เอง ก็ไม่รู้จะปรึกษาใคร จึงเดินเข้าไปขอรับคำแนะนำจากกระทรวงอุตสาหกรรม และก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก กรอ. มีการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของโตชิบา และเจ้าหน้าที่ของ กรอ. จนทำให้ โตชิบา ได้รับใบอนุญาตอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาไม่เกิน 90 วัน
ด้านคุณสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขั้นตอนการอนุญาตตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน มีกระบวนการอนุญาตหลายขั้นตอนซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการเหล่านั้นแล้ว พบว่ากระบวนการอนุญาตตั้งโรงงานในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมก็เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว ไม่เกินเวลาที่กำหนดไว้
ขณะที่คุณบรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า กระบวนการอนุญาตตั้งโรงงานของไทยถือว่ารวดเร็วกว่าประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน โดยมีบางประเทศที่ เอสซีจี ไปทำธุรกิจตั้งโรงงาน พบว่าใช้เวลานานกว่า 7 ปี จึงจะได้รับการอนุญาต
ด้าน คุณประยงค์ หิรัญญะวณิชย์ จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้กล่าวว่าเป็นที่น่ายินดีที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เชิญองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เข้ามาทำให้กระบวนการอนุญาตตั้งโรงงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส ซึ่งขณะนี้ได้มีการทำงานร่วมกันกับกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับปรุงกระบวนการ จนเป็นที่ยอมรับของภาคเอกชนในระดับหนึ่งแล้ว แต่คงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้ กรอ. เป็นองค์กรตัวอย่างที่สร้างความโปร่งใสต่อไป
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยากให้กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยประสานกับหน่วยราชการอื่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน ซึ่งจะช่วยทำให้บรรยากาศการลงทุนในประเทศไทยเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ มากกว่าชาติอื่นกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างยั่งยืนต่อไป
-กภ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net