กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--คอร์แอนด์พีค
บทความโดย นายมารุต มณีสถิตย์
กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย
บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ พีทีอี ลิมิเต็ด
เรากำลังสร้างข้อมูลกันจนมากเกินไปแล้วหรือเปล่า คำตอบน่าจะอยู่ที่คำจำกัดความของคำว่า "มากเกินไป" แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ เทคโนโลยีที่อุปกรณ์ต่างๆสามารถส่งข้อมูลหากันเองได้ หรือที่เรียกว่า 'Machine to Machine' (M2M) โดยเฉพาะยุคไร้สายในปัจจุบัน ทำให้ข้อมูลกำลังถูกสร้างขึ้นในระดับที่เพิ่มมากกว่าเดิมอย่างมหาศาล โดยมีการคำนวณไว้ว่า ความจุในการจัดเก็บข้อมูลของโลกต่อหัวจะเพิ่มขึ้นประมาณสองเท่าทุก 40 เดือน นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 และจนถึงปี 2555 ในแต่ละวันจะมีการสร้างข้อมูลมากถึง 2.5 Quintillion ไบต์ (หรือเท่ากับ 2,500,000,000,000,000,000 ไบต์)
ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา "ข้อมูล" ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากเดิมที่เป็นการจัดเก็บชุดการประมวลผลข้อมูลไว้ในฐานข้อมูลแบบมีโครงสร้าง (Structure data) ซึ่งก็ยังคงอยู่และมีการเติบโตอย่างมหาศาลในองค์กร แต่ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ปริมาณการเติบโตของข้อมูลแบบไม่มีโครงสร้าง (Unstructured data) ซึ่งเกิดจากการแพร่หลายของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับผู้บริโภค ได้สร้างสถิติเอาชนะปริมาณชุดการประมวลผลข้อมูลแบบเดิมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้ Twitter กำลังสร้างข้อมูลใหม่มากกว่า 8 เทราไบต์ในแต่ละวัน รวมถึงการขยายตัวอย่างมหาศาลของอีเมล สื่อสังคมออนไลน์ รูปถ่าย วิดีโอ ข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งในระบบจีพีเอส และอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดคำว่า Big Data หรือข้อมูลขนาดใหญ่ขึ้นมา โดยคำนี้ถูกใช้ครั้งแรกในรายงานวิจัยเมื่อปี 2554 ปัจจุบันคำว่า "ข้อมูลขนาดใหญ่" เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าหมายถึงสินทรัพย์สารสนเทศที่ประกอบด้วย 4 V คือ มีปริมาณสูง (High Volume) มีความเร็วสูง (High Velocity) มีความหลากหลายสูง (High Variety) และมีมูลค่าสูง (High Value) โดยข้อมูลขนาดใหญ่ต้องใช้การประมวลผลรูปแบบใหม่เพื่อให้เกิดข้อมูลสารสนเทศที่ช่วยให้การตัดสินใจดียิ่งขึ้น ครอบคลุมถึงการค้นหาข้อมูลเชิงลึก และความสามารถในการปรับใช้กระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น คำจำกัดความของ "4 V" จึงเหมาะสมกับคลื่นข้อมูลขนาดใหญ่ลูกต่อไปอย่างยิ่ง นั่นคือ ข้อมูลที่อุปกรณ์สร้างขึ้น (machine-driven data) แน่นอนว่าจะต้องมีการพัฒนาการทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นเพื่อรับมือกับปริมาณข้อมูลจากอุปกรณ์ที่จะขยายตัวอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
อนาคตของข้อมูลขนาดใหญ่
แล้วคลื่นลูกต่อไปจะมีขนาดใหญ่แค่ไหน เราคาดว่าข้อมูลที่เกิดจากอุปกรณ์ต่างๆ (machine-driven data) นี้จะมีขนาดที่ใหญ่กว่า ข้อมูลที่มนุษย์สร้างขึ้นมา (human-driven data) กว่าสองทศวรรษอย่างมหาศาล โดยบริษัท ไอดีซี คาดการณ์ว่าข้อมูลที่เกิดจากอุปกรณ์ต่างๆ จะเพิ่มขึ้นเป็น 42% ของข้อมูลทั้งหมดในปี 2563 เพิ่มจาก 11% ในปี 2548 และที่สำคัญ “ V (วี)” High Variety ตัวที่สามที่หมายถึงความหลากหลายก็จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่างของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้แก่ เทคโนโลยีล่าสุดของการหาลำดับยีนซึ่งสร้างไฟล์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ถึง 4 เทราไบต์ เครื่องบินโบอิ้ง 747-8 รุ่นใหม่จะสร้างข้อมูลเกือบ 2,000 เทราไบต์ตลอด 24 ชั่วโมงขณะบิน รวมถึงเครื่องเร่งอนุภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและใช้พลังงานสูงที่สุดของโลกที่ชื่อว่า Large Hadron Collider (LHC) ของศูนย์ปฏิบัติการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (European Organization for Nuclear Research: CERN) ได้สร้างข้อมูลในปริมาณมากที่ระดับ 40 เทราไบต์ต่อวินาที! โดยในช่วงปีผ่านมา ข้อมูลจากการทดลองนับสิบเพตาไบต์ของ CERN ถูกสร้างและวิเคราะห์ผ่านการประมวลผลแบบกริดของเครื่อง LHC จากเครือข่ายประมวลผลกว่า 170 แห่งใน 36 ประเทศทั่วโลก
แม้ว่า LHC จะเป็นตัวอย่างเฉพาะภาคงานวิจัยหรืออุปกรณ์เทคโนโลยีที่จะเห็นข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลโดยชัดเจน แต่จริงๆแล้วข้อมูล M2M กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากในเกือบทุกแวดวงธุรกิจการค้าและอื่นๆ อย่างเช่นเซ็นเซอร์ดิจิทัลแบบฝังตัวได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบในระบบโครงสร้างขนาดใหญ่เกือบทุกระบบ ไม่เพียงแต่ในอากาศยานรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังมีอยู่ในอาคารและรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ด้วย อุปกรณ์แบบ สแตนด์อะโลนขณะนี้ก็กำลังกลายเป็นอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อสื่อสารระหว่างกันมากยิ่งขึ้น เช่น การติดตามตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจของนักวิ่งจะถูกส่งผ่าน "บลูทูธ" ไปยังสมาร์ทโฟน และส่งต่อไปยังฐานข้อมูลทางการแพทย์ส่วนบุคคล จากนั้นก็จะถูกนำไปรวมกับข้อมูลของนักวิ่งคนอื่นๆ นับพันคนโดยที่ไม่มีการเปิดเผยชื่อเพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการกีฬา
ปัจจุบันคำว่า "การขับเคลื่อนด้วยข้อมูล" (information-driven) กำลังกลายเป็นสิ่งที่ดูล้าสมัยไปแล้วเพราะสำหรับหลายๆธุรกิจ เช่น สถาบันการเงิน องค์กรด้านสุขภาพ และบริษัทยา ต่างต้องการให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลโดยอัตโนมัติ (เกี่ยวกับลูกค้า ระบบ วัสดุ และประสิทธิภาพ) ไม่เพียงแต่ให้เกิดการดำเนินงานที่ดีเท่านั้น แต่จะต้องสามารถสร้างโอกาสทางการแข่งขันได้มากขึ้นในอนาคต และต้องช่วยยกระดับสังคมให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นอีกด้วย
สร้างประโยชน์ต่อสังคม
ข้อมูลขนาดใหญ่กำลังสร้างประโยชน์ให้กับสังคมมากขึ้น เช่น ในบริการคอลเซ็นเตอร์ บางบริษัทกำลังเริ่มใช้ "การวิเคราะห์ความรู้สึก" โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่จากการโทรเข้ามาของลูกค้านับล้านรายเพื่อตรวจจับความรู้สึกจากน้ำเสียงในแบบเรียลไทม์ และเพื่อช่วยให้บริษัทสามารถให้บริการตอบสนองเพื่อหาวิธีแก้ไขสายโทรเข้าของลูกค้าที่ไม่พอใจได้เร็วขึ้นและเป็นการรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ได้ นอกจากนี้ นวัตกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ในด้านการวิเคราะห์การเคลื่อนที่ภายในอาคาร สามารถช่วยระบุและแก้ปัญหาการอพยพเมื่อเกิดภัยพิบัติช่วยให้สถาปนิกสามารถออกแบบอาคารให้ปลอดภัยได้มากขึ้น และในบริษัทยาขนาดใหญ่ สามารถพัฒนายารักษาโรคเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญของการปรับใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้งในระดับของการวิจัยและในการทดลองภาคสนาม
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการมีข้อมูลมากมายก็อาจไม่ใช่สิ่งดีนักสำหรับองค์กรธุรกิจหรือสังคม หากองค์กรนั้นไม่มีเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการกับข้อมูลให้สามารถสร้างประโยชน์ได้ การเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ คือสิ่งที่ผลักดันให้เกิดนวัตกรรม เช่นเดียวกับสิ่งที่เราพูดที่บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ (เอชดีเอส) นั่นคือ "ข้อมูลทำให้เห็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่การหยั่งรู้จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกทำให้เห็นสิ่งที่เป็นไปได้" เทคโนโลยี บริการ และผู้เชี่ยวชาญของบริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ ช่วยให้องค์กรสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยสารสนเทศเพื่อสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นบนโลก เนื่องจากนวัตกรรมเกิดขึ้นได้ในทุกที่เมื่อบุคคลที่เหมาะสมมีข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้องอยู่ในมือ
บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ ผสานเทคโนโลยีและโซลูชั่นเข้ากับแอพพลิเคชั่นที่มุ่งเน้นให้องค์กรสามารถค้นหา พัฒนา ใช้ และสร้างมูลค่าจากข้อมูลของตนได้อย่างเห็นผลชัดเจน ตัวอย่างเช่น บริษัท กัลฟ์ เจพี ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้องดำเนินธุรกิจแบบต่อเนื่องไม่มีวันหยุดและต้องพึ่งพาข้อมูลที่เชื่อถือได้ตลอดเวลาเช่นกัน บริษัทเลือกใช้เทคโนโลยีของบริษัท ฮิตาชิ เพื่อสนับสนุนระบบ SAP ที่บริษัทใช้งานอยู่ รวมถึงระบบจัดเก็บข้อมูลหลัก และการสำรองข้อมูล เพื่อให้แน่ใจว่าธุรกิจของบริษัทจะสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและรองรับการขยายตัวที่ครอบคลุมทั้งประเทศ
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า การสร้าง ส่งผ่าน และการประมวลผลสารสนเทศดิจิทัลภายในขอบเขตของการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ (M2M) ที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ไม่ได้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด หากเราไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถจัดการกับข้อมูลดังกล่าวได้ ข้อมูลของ M2M อาจขยายตัวในระดับที่ "มากเกินไป" ทั้งนี้ เป้าหมายของ บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ คือทำให้แน่ใจได้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น เพื่อช่วยให้โลกสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่องสืบไป
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit