กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--สกว.
สกว. ร่วมกับ ม.มหิดล และ ม.ราชภัฎยะลาต่อยอด “โครงการวิจัยการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษามลายูปาตานี-ภาษาไทย) ในโรงเรียนเขตพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล) ระยะที่ 3 (2556-2559)”พร้อมกับเดินหน้า 2 โครงการ การประเมินผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนทวิภาษาในพื้นที่และการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมแก่นักศึกษาฝึกสอนแบบทวิภาษาเพื่อหาแนวทางสร้างครูและรูปแบบจัดการศึกษาระดับปฐมวัยและประถมศึกษาที่สอดคล้องกับพื้นที่ ภาษาและวัฒนธรรมของจังหวัดชายแดนภาคใต้หวังใช้มิติการศึกษาเป็นแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้อย่างตรงจุดและยั่งยืน
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมด้วยศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสนับสนุนการวิจัย “การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยเป็นสื่อ: กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษามลายูปาตานี-ภาษาไทย) ในโรงเรียนเขตพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ 3” และ “โครงการวิจัยต่อยอด” เพื่อพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้อย่างยั่งยืน
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว.กล่าวว่า “พื้นที่ชายแดนของประเทศเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แนวทางการพัฒนาการศึกษาต้องเคารพในความแตกต่างทางวัฒนธรรม สกว. ตระหนักถึงความสำคัญในการพยายามหารูปแบบและแนวทางในการจัดการเรียนการสอนที่มีความเหมาะสมกับเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้รับความมือจากมหาวิทยาลัยมหิดลในการดำเนินการวิจัยโครงการวิจัยปฏิบัติการเรื่อง การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยเป็นสื่อ: กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษามลายูปาตานี-ภาษาไทย) ในโรงเรียนเขตพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือโครงการทวิภาษา โดยการลงนามในครั้งนี้ สกว. ร่วมกับ ม.มหิดล และม.ราชภัฎยะลาจะร่วมกันดำเนินโครงการใน 2 ส่วนได้แก่ โครงการประเมินผลสัมฤทธิ์ในโครงการวิจัยปฏิบัติการทวิภาษาฯ เพื่อชี้ให้เห็นว่าโครงการทวิภาษาก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาแก่เด็กและโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการอย่างมีนัยสำคัญและโครงการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม เพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนการสอบแบบทวิภาษา โดยใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยเป็นสื่อสำหรับนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ มร.ยะลา เพื่อหาแนวทางสร้างครูสำหรับโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไป”
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยทวิภาษา กล่าวว่า “โครงการทวิภาษาเป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 - 2559 ปัจจุบันดำเนินการถึงระดับ ป.4 แล้ว นับเป็นนวัตกรรมใหม่ของการศึกษาไทย และเป็นแนวทางหนึ่งของการพัฒนาการศึกษาสำหรับเยาวชนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยกลไกของโครงการทวิภาษาจะให้ครูผู้สอนสื่อสารกับเด็กด้วยภาษามลายูท้องถิ่น ซึ่งจากเดิมไม่มีตัวอักษรในการเขียนจึงสร้างระบบโดยใช้อักษรไทยเป็นตัวสะกดถ่ายทอดเสียง ซึ่งเด็กๆ จะเริ่มเรียนจากการฟัง พูดภาษามลายูท้องถิ่นให้เข้าใจก่อน แล้วจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาไทยต่อไปทั้งนี้ ที่ผ่านมาการที่เด็กในพื้นที่อ่อนภาษาไทยทำให้การศึกษาในรายวิชาอื่นๆ อ่อนตามไปด้วย ภายหลังการดำเนินการกลับพบว่าเด็กในโครงการล้วนมีพัฒนาการที่ดีทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และการเรียน”
“อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการทวิภาษาในเขตพื้นที่ชายแดนใต้นอกเหนือจากปัจจัยด้านภาษาในพื้นที่แล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องความไม่สงบในพื้นที่ ดังนั้นการเรียนการสอนด้วยภาษามลายูท้องถิ่นถือเป็นการให้เกียรติ เคารพสิ่งที่ชุมชมภูมิใจ เนื่องจากภาษามลายูท้องถิ่นเป็นภาษาพูดในชีวิตประจำวันของคนในชุมชนอยู่แล้วเมื่อเกิดการสื่อสารระหว่างกันและกันของคนในพื้นที่ได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ช่วยลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นรวมทั้งส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีการศึกษาดีขึ้นสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาในขั้นสูงยิ่งขึ้นต่อไปได้นับเป็นการตอบโจทย์ของการแก้ปัญหาที่มาถูกทาง โดยใช้มิติการศึกษาที่ปูพื้นฐานตั้งแต่ระดับเยาว์วัยสามารถสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ และมีส่วนช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ได้ต่อไป”หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวเสริม
-กภ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit