เฮย์กรุ๊ป เผยผลสำรวจ บริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำ ปีที่ 8

29 Oct 2013

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--เฮย์กรุ๊ป

เฮย์กรุ๊ป เผยผลสำรวจ บริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำ ปีที่ 8องค์กรต้องสนับสนุนให้พนักงานสร้างสรรค์นวัตกรรม พร้อมผลักดันการทำงานให้เป็นเลิศ

เฮย์กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการองค์กรระดับโลก เผยผลสำรวจ 20 อันดับบริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำ ปีที่ 8 ซึ่งนอกจากจะจัดลำดับบริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำทั่วโลกแล้ว บริษัทเฮย์กรุ๊ปยังเผยเคล็ดลับการพัฒนาผู้ที่มีศักยภาพสูงและการสนับสนุนให้พนักงานในองค์กรสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ด้วย ในปีนี้ผู้ที่ได้รับอันดับหนึ่งคือ บริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ตามมาด้วยบริษัทไมโครซอฟท์ ตามด้วยบริษัทเจเนอรัลอิเล็กทริก และบริษัทโคคา-โคลา

จากผลการศึกษาของบริษัท เฮย์กรุ๊ป นั้น บริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำจะมีกลยุทธ์ในการพัฒนา จูงใจ และสนับสนุนให้ผู้นำในองค์กรได้ทำงานอย่างเต็มความสามารถของตนเอง โดย 20 อันดับบริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำถึงร้อยละ 73 มีการสนับสนุนให้พนักงานในทุกระดับขององค์กรได้มีโอกาสฝึกฝนและพัฒนาความสามารถที่จำเป็นในการเป็นผู้นำ ในขณะที่องค์กรทั่วไปให้การสนับสนุนในด้านนี้เพียงร้อยละ 47 เท่านั้น นอกจากนั้นองค์กรเหล่านี้ยังมุ่งเน้นในเรื่องอนาคตเป็นหลัก มีการวิเคราะห์ตำแหน่งและบทบาทที่จำเป็นต่อความสำเร็จขององค์กรในอนาคต จากนั้นจึงคัดสรร และพัฒนาผู้นำให้มีทักษะที่เหมาะสมกับตำแหน่งและบทบาทนั้นๆ จากผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าบริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำนั้นมีการเตรียมการพัฒนากลุ่มผู้บริหารระดับต้นและระดับกลางโดยได้รับการอบรมด้วยหลักสูตรความเป็นผู้นำผ่านเว็บไซต์ถึงร้อยละ 72 (องค์กรทั่วไปมีเพียงร้อย 39) มีการอบรมด้านความเป็นผู้นำในห้องเรียนมากถึงร้อยละ 80 (องค์กรทั่วไปมีเพียงร้อยละ 55) และมีผู้นำระดับสูงเป็นพี่เลี้ยงและคอยให้คำแนะนำถึงร้อยละ 68 (องค์กรทั่วไปมีเพียงร้อยละ 39)

“บริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำตระหนักว่า หลายทักษะที่ในอดีตมีความจำเป็นสำหรับผู้นำระดับสูงเท่านั้น ได้แก่ ความฉลาดทางอารมณ์ การทุ่มเทในเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และการคิดวิเคราะห์ ในปัจจุบันทักษะเหล่านั้นเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับพนักงานทุกระดับ” Ruth Malloy กรรมการผู้จัดการ กลุ่มงาน Leadership and Talent บริษัท เฮย์กรุ๊ป และหนึ่งในผู้นำการสำรวจบริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำกล่าว “เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ซับซ้อนและมีงานแข่งขันสูงเช่นทุกวันนี้ บริษัทชั้นนำต้องมีความรอบคอบในการกำหนดขั้นตอนการพัฒนา และให้รางวัลผู้ที่มีความสามารถในองค์กรอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อให้องค์กรในปัจจุบันมีความเป็นเลิศในการปฏิบัติงาน และขณะเดียวกันก็สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ในอนาคต”

จากการผลสำรวจ บริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำถึงร้อยละ 82 มีการจ่ายค่าตอบแทนโดยที่อิงจากผลการปฏิบัติงานเปรียบเทียบกับเป้าหมาย ในขณะที่องค์กรอื่นๆ มีเพียงร้อยละ 58 เท่านั้น อีกทั้งยังมีการสนับสนุนให้พนักงานตั้งเป้าหมายที่ท้าทายถึงร้อยละ 89 เทียบกับองค์กรทั่วไปมีเพียงร้อย 69

ในขณะเดียวกัน บริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำยังมีการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ โดยที่ร้อยละ 76 กระตุ้นและให้รางวัลในการร่วมมือกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ในองค์กรเพื่อพัฒนาผลการปฏิบัติงานและสร้างหน่วยธุรกิจใหม่ๆ ขณะที่องค์กรทั่วไปมีเพียงร้อยละ 54 นอกจากนั้นบริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำยังสนับสนุนให้พนักงานเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตนเองถึงร้อยละ 70 (องค์กรอื่นๆ ร้อยละ 48) และให้รางวัลพนักงานสำหรับความคิดใหม่ๆ ทางธุรกิจถึงร้อยละ 77 (องค์กรอื่นๆ ร้อยละ 58)

“การใช้วิธีเดิมๆ ในการสร้างและบริหารธุรกิจให้ได้ผลกำไรนั้น เป็นสิ่งที่ยากขึ้นเรื่อยๆ” Rick Lash ผู้อำนวยการ กลุ่มงาน Leadership and Talent บริษัท เฮย์กรุ๊ป และหนึ่งในผู้นำการสำรวจบริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำกล่าว “องค์กรจำเป็นต้องคิดอย่างแตกต่างว่าตนสามารถมอบสิ่งใดให้กับตลาดได้บ้าง บริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำนั้นเชี่ยวชาญในการคาดการณ์และสนองต่อความต้องการของลูกค้า องค์กรเหล่านี้เปลี่ยนรูปแบบจากการขายเพียงสินค้าและบริการ มาเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือลูกค้าในการแก้ไขปัญหาตามความต้องการของพวกเขา”

บริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำถึงร้อยละ 78 สนับสนุนให้พนักงานใช้เวลามากขึ้นในการพูดคุยถึงความต้องการในอนาคตของลูกค้า ซึ่งองค์กรทั่วไปสนับสนุนในเรื่องนี้เพียงร้อยละ 55 เท่านั้น

นอกจากนั้นผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า ร้อยละ 90 ของบริษัทที่ติดอันดับที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำนั้น ผู้นำระดับสูงมีการสื่อสารให้พนักงานเข้าใจว่า องค์กรจะอยู่รอดได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ในขณะที่องค์กรทั่วไปมีการชี้ให้พนักงานเห็นความสำคัญในเรื่องนี้เพียงร้อยละ 70

“ในช่วงที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายๆ องค์กรไม่ได้ให้ความสำคัญในการการสร้างความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานและขาดการสนับสนุนพนักงานเนื่องจากองค์กรมุ่งเน้นไปที่เพียงเป้าหมายระยะสั้น” Rick Lash กล่าวเพิ่มเติม “องค์กรที่ทำสิ่งที่จำเป็นทางธุรกิจ ณ ขณะนั้น ไปพร้อมกับสนับสนุนให้พนักงานมีจุดมุ่งหมายเดียวกันและพัฒนาผู้นำในทุกระดับเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จะมีโอกาสความสำเร็จทางการเงินสูงกว่าองค์กรอื่น”

“สำหรับองค์กรในประเทศไทยนั้น เราพบว่า องค์กรได้ให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต และการรักษาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานในปัจจุบัน ไม่ต่างจาก 20 อันดับบริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำของโลกและของเอเชีย” ดร.มานะ โลหเตปานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเฮย์กรุ๊ป ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว “อย่างไรก็ตาม องค์กรในประเทศไทยก็ยังคงมีความแตกต่างจากบริษัทที่เป็นเลิศด้านความเป็นผู้นำอยู่ กล่าวคือ ในช่วงวิกฤติ องค์กรไทยมักจะให้ความสำคัญในการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีอยู่ โดยที่มองข้ามการรักษาความสมดุลทั้งสองด้านนี้ไป ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการขาด ‘ภาวะผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจ’ ที่ถือเป็นหนึ่งในลักษณะความเป็นผู้นำของบริษัทที่เป็นเลิศทางด้านความเป็นผู้นำและนับว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่จะรักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนให้พนักงานสร้างสรรค์นวัตกรรม พร้อมผลักดันการทำงานให้เป็นเลิศไว้ได้” ดร.มานะกล่าวเพิ่มเติม

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit