ซีเกท สมาคมวิชาการหุ่นยนต์และม.ธรรมศาสตร์ มอบรางวัลชนะเลิศแก่ทีม “หนุมาน” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2556

07 Nov 2013
บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แสดงความยินดีกับทีมหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ “หนุมาน (Hanuman)” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2556 โดยทีมชนะเลิศได้รับรางวัลเงินสด 200,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์โลก 2014 (World Robocup Soccer 2014: Humanoid League) ณ ประเทศบราซิล ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557ทีมหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ “บีเอสอาร์ยู-ทรี (BSRU-III) จากมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ซึ่งเป็นรางวัลเงินสด 100,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ

ผู้บริหารจากบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และตัวแทนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่างแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนที่ชนะการแข่งขันหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์เตะฟุตบอลและขอบคุณสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่ส่งทีมเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขัน เป็น การส่งเสริมให้มีการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศให้มีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ รวมทั้งศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์ ส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนให้เยาวชนไทยมีทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเนื่องจากปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นเวลาใช้งานจริง และผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำให้หุ่นยนต์สามารถทำงานต่อไปได้ภายในเวลาที่จำกัด

การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทยซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สี่นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และสร้างความชำนาญในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้แก่นิสิตนักศึกษา อีกทั้งเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการทำโครงการหุ่นยนต์ที่มีความซับซ้อนสูงและคัดเลือกตัวแทนของประเทศไปเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2014 (World Robocup Soccer 2014: Humanoid League) ณ ประเทศบราซิล ในช่วงกลางปีหน้า” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าว “ทางสมาคมฯ เชื่อมั่นว่าการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย จะเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาไทยได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ตลอดจนแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์กับผู้เข้าแข่งขันด้วยกัน เพื่อประโยชน์ต่อตนเองและสังคมในที่สุด”

การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์รายการนี้จะเน้นความสามารถของหุ่นยนต์ให้มีความคล้ายกับมนุษย์ หุ่นยนต์จะใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่าง ๆ และการประมวลผลภาพจากกล้องที่อยู่ที่ตัวหุ่นซึ่งทำการประมวลผลโดยหน่วยประมวลผล ซึ่งติดตั้งอยู่ที่ตัวหุ่นเช่นกัน เริ่มจากการที่หุ่นยนต์จะต้องรู้จักตำแหน่งของตนเองทั้งในและนอกสนาม และจะต้องสามารถจำแนกวัตถุหลัก ๆ ในสนาม คือ ลูกบอล หุ่นยนต์ฝั่งตนเอง หุ่นยนต์ฝั่งตรงข้ามหรือสิ่งกีดขวาง เช่น เสาประตู เป็นต้น จากนั้นหุ่นยนต์จะต้องเตะลูกบอลให้เข้าประตูฝั่งตรงข้ามเพื่อทำคะแนนให้ได้มากกว่าอีกทีม จึงจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ แต่ละทีมต้องสร้างหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์จำนวน 2 ตัวเพื่อเข้าแข่งขันฟุตบอล ทีมที่ทำคะแนนสูงสุดเวลาการแข่งขันทั้งสิ้น 20 นาที เป็นผู้ชนะ

รองศาสตราจารย์ ดร. สัญญา มิตรเอม หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2556 กล่าวว่า “จากผลการแข่งขันในครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นเยาวชนไทยให้ความสนใจในการพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง ได้แสดงศักยภาพและการทำงานร่วมกันเป็นทีม ในการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ให้มีศักยภาพในการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ และขอขอบคุณทางบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขันฯ มาโดยตลอด ขอขอบคุณทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยที่ช่วยผลักดันให้มีการแข่งขันนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอขอบคุณผู้สนับสนุน ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการนำมาซึ่งความสำเร็จของการแข่งขัน”

ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนหลักของการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2556 นายสัญชัย ทองจันทรา ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในปีนี้เรามีโอกาสอีกครั้งหนึ่งที่ได้แสดงความยินดีและภาคภูมิใจกับความสำเร็จของเยาวชนไทยที่แสดงผลงานการพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอล นอกจากนี้ ทางบริษัทซีเกทยังขอแสดงความยินดีกับทีมชนะเลิศที่จะได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันระดับโลก ซึ่งจะจัดขึ้น ณ ประเทศบราซิล ในช่วงเดือนกรกฎาคม ปีหน้า นอกจากนี้ ประสบการณ์ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับจากการแข่งขันในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์และนำมาซึ่งประสบการณ์อันมีค่าจากการเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ ของเยาวชนไทยต่อไป เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การประกอบอาชีพและการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าสืบต่อไป”

การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัดและสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยร่วมกันริเริ่มขึ้น และส่งทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ที่ชนะเลิศการแข่งขันในระดับประเทศ เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์โลกมาโดยตลอด นอกจากนี้ บริษัทซีเกทยังได้แสดงเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้พัฒนาศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้ได้พัฒนาความรู้ในศาสตร์ที่สำคัญต่าง ๆ อาทิเช่น ด้านกลไก อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการทำงานในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีส่วนต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยในอนาคต โดยในปีนี้ ซีเกทมอบเงินจำนวน 1.7 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนการจัดการแข่งขันฯ และเงินรางวัล

บทสัมภาษณ์นายนครินทร์ สรรพคุณ นักศึกษาระดับปริญญาเอก สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม สาขาวิชาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หัวหน้าทีมหนุมาน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งชนะการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2556

1. ทางทีมใช้เวลานานแค่ไหนในการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าแข่งขันชิงชนะเลิศประเทศไทยในปีนี้

หลังจากทางทีมกลับจากการเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2013 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็พักประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันซึ่งจัดขึ้นในปีนี้ รวมแล้วใช้เวลาเตรียมตัวประมาณ 3 เดือน เราใช้เวลาในการเรียน ทำวิทยานิพนธ์ ส่ง Class Project และอื่น ๆ ด้วย พอถึงช่วงเวลาที่ใกล้แข่งขันก็มารวมตัวกัน เพื่อช่วยกันพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ให้มีความพร้อมในส่วนของการมองเห็น ส่วนสมอง และส่วนของการควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์

2. ขอข้อมูลคร่าว ๆ เกี่ยวกับสมาชิกในทีม

สมาชิกในทีมคละกันระหว่างนักศึกษาปริญญาเอก ปริญญาโทและปริญญาตรี โดยจะใช้ความถนัดและความชำนาญของแต่ละคนเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์

3. หลักการพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันเตะฟุตบอล

การพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์มีความยุ่งยากซับซ้อนกว่าการพัฒนาหุ่นยนต์ชนิดอื่นเพราะในหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์นั้นค่อนข้างที่จะให้ความสำคัญกับการเดินค่อนข้างมาก แต่การที่หุ่นยนต์มีสองขาทำให้มีความจำเป็นที่หุ่นยนต์จะต้องมีความสามารถในการรักษาการทรงตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้หุ่นยนต์มีเสถียรภาพไม่ว่าจะในขณะที่เคลื่อนที่หรือเมื่ออยู่กับที่ก็ตาม

กล้องรับภาพของหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์จะใช้ในการมองหาลูกบอล ประตูและผู้เล่นในสนาม จึงเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากในหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ การทำงานของกล้องจะใช้ควบคู่กับการประมวลผลภาพ (image processing) นอกจากนี้ หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์จะต้องมีศักยภาพในการคำนวณระยะตำแหน่งวัตถุ

4. ทางทีมมีแผนที่จะเตรียมความพร้อมอย่างไร เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์โลก 2014 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ ประเทศบราซิล ช่วงปีหน้า

มีการเตรียมแผนการเล่นใหม่ ๆ เช่น ทำอย่างไรจึงจะสามารถรับ-ส่งลูกบอลแก่หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ที่เป็นเพื่อนร่วมทีมได้เร็วขึ้น มีแผนในการพัฒนาศักยภาพของหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ในการหลบหลีกสิ่งกีดขวางโดยทำให้หุ่นยนต์สามารถเลี้ยงบอลหลบหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ที่เป็นทีมคู่แข่ง และความแม่นยำในการรับรู้ว่าบอลอยู่ตรงส่วนไหนของสนาม เป็นต้น

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงานเกี่ยวข้องกับ วิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการ เพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศและสร้างเครือข่ายนักวิจัยและวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยได้ที่ โทร. 0-2470-9721 หรือเว็บไซต์ www.trs.or.th

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นตลาดวิชา เพื่อการศึกษาด้านกฎหมายและการเมือง สำหรับประชาชนทั่วไป โดยใช้ชื่อในขณะนั้นว่า "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย และมีประวัติศาสตร์ผูกพันกับพัฒนาการทางการเมืองและความเป็นไปของชาติ ตลอดจนเรื่องของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย

นายสัญชัย ทองจันทรา ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (ซ้ายสุด) มอบรางวัลเทคนิคพิเศษ ประเภทวิ่งแข่งแก่ “ทีมจ๊างละอ่อน” จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คณะผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2556 ถ่ายภาพร่วมกับสมาชิกทีมหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ “หนุมาน (Hanuman)” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งได้รับรางวัลจำนวน 3 รางวัล ได้แก่รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเทคนิคพิเศษ ประเภทผู้รักษาประตูรวมทั้ง รางวัลเทคนิคพิเศษ ประเภทผู้รักษาประตู ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในภาพจากซ้าย อาจารย์นาวิน สมญาติ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน นายสัญชัย ทองจันทรา ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (ที่ 2 จากซ้าย) รศ. ดร. ประภาส จงสถิตย์วัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กลาง) ผศ. ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย (ที่ 2 จากขวา) และ รศ. ดร. สัญญา มิตรเอม หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ขวาสุด)

ภาพบรรยากาศการแข่งขันหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์เตะฟุตบอล รอบชิงชนะเลิศ ซึ่งเป็นการขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นระหว่าง “ทีมหุ่นยนต์หนุมาน” จากม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและ “ทีมหุ่นยนต์บีเอสอาร์ยู-ทรี (BSRU-III) จากม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งในที่สุด “ทีมหุ่นยนต์หนุมาน” ได้รับรางวัลชนะเลิศด้วยคะแนน 7 ต่อ 3

น้อง ๆ นิสิต นักศึกษาเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันและบรรยากาศโดยรวมของการแข่งขัน

คณะผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2556 โดยผู้บริหารของบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและตัวแทนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ่ายภาพร่วมกับทีมหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ทุกทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน

นายนครินทร์ สรรพคุณ นักศึกษาระดับปริญญาเอก สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม สาขาวิชาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หัวหน้าทีมหนุมาน จากมจธ. ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2556