ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยความคืบหน้าการเดินหน้ายื่นแถลงการณ์คัดค้านเรื่องการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อยกโทษในคดีทุจริตคอร์รัปชัน ว่า หลังจากที่องค์กรฯไ ด้เดินหน้ายื่นแถลงการณ์ต่อสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา และสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจําประเทศไทยแล้ว ล่าสุดในวันนี้ ได้นำคณะเข้ายื่นแถลงการณ์ผ่านทางสถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อยืนยันในเจตนารมณ์เดิม ของการคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ที่แม้ว่าล่าสุดทางคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล จะมีมติถอนร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดอง จำนวน 4 ฉบับ ที่เสนอโดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย และพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ รวมทั้งร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม อีกหนึ่งฉบับที่เสนอโดยนายนิยม วรปัญญา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ออกจากวาระการประชุมของสภา ในวันพุธที่ 13 พฤศจิกายน ด้วยวิธีขอมติจากที่ประชุมแล้วก็ตาม ทางองค์กรฯ ยังยืนยันที่จะเดินหน้าคัดค้าน หากยังคงมีความพยายามที่จะนิรโทษกรรมเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เพราะเป็นเรื่องที่ผิดหลักการกระบวนยุติธรรม และยังไม่มีประเทศใดในโลกที่ออกกฎหมายยกโทษให้กับคนที่ถูกตัดสินคดีทุจริต
นอกจากนี้ ในประเด็นสำคัญ การที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption: UNCAC 2003) หากมีการยอมให้เกิดการผลักดันการออกฎหมายนิรโทษกรรมในลักษณะนี้ จะเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้
นอกจากนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนก็เป็นแบบอย่างที่ดีในการผลักดันเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจังและมีการจัดการอย่างเข้มงวด ดังนั้น หากทั้งสองประเทศสามารถร่วมกันกำหนดแนวทางความร่วมมือ ที่ทำให้การลงทุนต่างๆ มีความโปร่งใส ประโยชน์ย่อมจะเกิดกับทั้งสองชาติ และการให้ความสำคัญกับการป้องกันหรือไม่สนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชัน จะช่วยให้ต้นทุนการทำธุรกิจมีความชัดเจน และจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจการค้า ซึ่งล่าสุด จีนยังพร้อมที่จะสนับสนุนการลงทุนในโครงการสำคัญๆ ในประเทศไทย อีกด้วย"สำหรับการเคลื่อนไหว ในเรื่องนี้ ทางองค์กรฯ ยังคงเดินหน้าที่จะรณรงค์ผ่านประชาคมโลก รวมทั้งประสานงานกับผู้นำภาคธุรกิจ และเอกชน การเงิน และตลาดทุน ที่เป็นสมาชิกขององค์กร เพื่อเป็นตัวแทนขององค์กร เข้ายื่นแถลงการณ์กับสถานทูตทุกแห่ง ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ร่วมลงนามในอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (UNCAC 2003) นอกจากนี้ จะเฝ้าจับตาการเคลื่อนไหวของทางฝ่ายการเมือง ในการผลักดันร่างกฎหมาย ที่จะทำให้ผิดหลักการสากล แม้จะมีการเคลื่อนไหวถอนร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วก็ตาม” ดร.มานะ กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit