กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการปศุสัตว์แห่งชาติ ครั้งที่ 1 และเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การเกษตรและปศุสัตว์ไทยในยุคเศรษฐกิจสีเขียว” ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ว่า กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาวิจัยถ่ายทอดเทคโนโลยีและแก้ไขปัญหาเกษตรกรด้านปศุสัตว์ โดยเป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในเรื่องการจัดการองค์ความรู้ และเป็นต้นแบบของกระทรวงเกษตรฯ ในการนำองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์มาเผยแพร่ให้เกษตรกร สำหรับการจัดการประชุมวิชาการปศุสัตว์แห่งชาติในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างนักวิชาการ ตลอดทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการวิจัยและงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาสินค้าปศุสัตว์ของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ได้คุณภาพตามมาตรฐาน และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีสถานการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและปศุสัตว์ไทยทั้งในระดับประเทศและทั่วโลก อาทิ 1. การเพิ่มจำนวนของประชากรโลก ทำให้เกิดความต้องการด้านอาหารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหารจำพวกโปรตีน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนอาหารในอนาคต ดังนั้น การเตรียมความพร้อมและการบริหารจัดการอย่างเพียงพอในด้านอาหารจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ 2. การเตรียมความพร้อมเมื่อพลังงานมีความขาดแคลน โดยการนำพืชพลังงานมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนนั้นจะต้องมีการวางแผนงานระดับประเทศในการจัดหาพื้นที่เพาะปลูกอย่างเหมาะสม 3.การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินค้าทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง ประกอบกับการแข่งขันด้านการค้าในปัจจุบันที่มีความรุนแรง ทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปยังต่างประเทศมีความยากขึ้น และ 4. การเสื่อมโทรมสภาพแวดล้อมของป่าและดินอย่างรวดเร็วจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
ในส่วนของรัฐบาลได้มียุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูพัฒนาประเทศ โดยต้องการให้เกษตรกรมีความสามารถในการแข่งขัน มีความเสมอภาค มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการดำเนินนโยบายสอดคล้องกับรัฐบาล เช่น การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ หรือโซนนิ่ง ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง ที่ต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการมาพิจารณาถึงความเหมาะสมในการกำหนดพื้นที่โซนนิ่ง เช่น คุณภาพของดินที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี รวมทั้งผลผลิต และการมีตลาดรองรับ ทั้งนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จะสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการให้กับหน่วยงานระดับจังหวัดในพื้นที่ของเกษตรกร โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้บริหารจัดการในพื้นที่ ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลการเกษตรและบูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานส่วนกลาง
นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การสร้างคุณภาพมาตรฐานด้านอาหาร เนื่องจากปัจจุบันการแข่งขันด้านการค้ามีความรุนแรง โดยแต่ละประเทศมีการตั้งเงื่อนไขทางการค้าเพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศ ทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปยังต่างประเทศมีความยากมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาการจัดระบบความปลอดภัยด้านอาหาร การลดความเสี่ยงของเชื้อโรค การมีความพร้อมในการตรวจสอบสินค้าอาหารและความปลอดภัยด้านปศุสัตว์ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้แนะนำให้เกษตรกรเห็นถึงความสำคัญในการผลิตสินค้าเกษตรและปศุสัตว์อย่างมีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภคโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การพัฒนาภาคเกษตรไทยมีความยั่งยืนและเกษตรกรได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
-กผ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit