TTA ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่สอง

16 May 2013

กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--แฟรนคอม เอเชีย

บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) (“TTA”) รายงานผลขาดทุนสุทธิจำนวน 257 ล้านบาท และผลขาดทุนต่อหุ้น 0.33 บาท สำหรับผลการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 2 ของรอบปีบัญชี 2556 ระหว่าง 1 มกราคม 2556 ถึง 31 มีนาคม 2556 (2/2556) เปรียบเทียบกับผลขาดทุนสุทธิจำนวน 205 ล้านบาท และผลขาดทุนต่อหุ้น 0.29 บาท ในช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวลดลง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจาก อัตราค่าระวางเรือที่ยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองของโทรีเซนชิปปิ้ง และสินทรัพย์หลักๆ ของเมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) (เมอร์เมด) ไม่ได้ทำงานตามปกติ

รายได้รวมในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4% มาอยู่ที่ 3,657 ล้านบาท แต่ลดลง 13% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากเรือ 4 ลำของเมอร์เมดต้องเข้าอู่เพื่อตรวจสภาพและซ่อมบำรุงในช่วงไตรมาสนี้

ในไตรมาส 2/2556 บาคองโค ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายปุ๋ยและคลังสินค้าในเวียดนาม และเป็นบริษัทในเครือที่ TTA ถือหุ้นทั้งหมด ยังคงโชว์ผลงานได้ดี โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 58% ในขณะที่ บริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) (“UMS”) ทำผลงานได้ต่ำกว่าจุดคุ้มทุนเล็กน้อย เนื่องจากยังคงต้องดำเนินกิจการด้วยโรงงานแห่งเดียวจากทั้งหมดสองแห่ง

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ รองประธานกรรมการบริหาร กล่าวว่า “ผลงานการดำเนินงานในไตรมาสสองที่ค่อนข้างอ่อนตัวของ TTA เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการชั่วคราวเฉพาะในไตรมาสนี้เท่านั้น เนื่องจากมีเรือของเมอร์เมดหลายลำที่ต้องพักการทำงานเพื่อเข้าอู่พร้อมๆ กัน เช่น เรือขุดเจาะ MTR-2 ที่ต้องเข้าตรวจสภาพและซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ไปตลอดทั้งไตรมาส เรือของเมอร์เมดทุกลำจะกลับมาทำงานตามปกติในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะทำให้กิจการของธุรกิจวิศวกรรมใต้น้ำและธุรกิจเรือขุดเจาะปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และนำไปสู่ผลประกอบการในภาพรวมที่ดีขึ้น”

กลุ่มธุรกิจขนส่ง

บริษัทเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองทั่วโลกยังคงเผชิญกับสถานการณ์ค่าระวางเรือตกต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่สองนี้ ดัชนี BDI ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ซึ่งเคยเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 25 ปี) ถึง 8% และยังต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมาถึง 16%

โทรีเซนชิปปิ้ง มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,118 ล้านบาท เปรียบเทียบกับ 753 ล้านบาทของไตรมาสสองเมื่อปีก่อน โดยเป็นผลมาจากการหาลูกค้าได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้มีการทยอยเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องหลายไตรมาสแล้ว ในไตรมาสสองนี้ โทรีเซนชิปปิ้งบริหารกองเรือจำนวนทั้งสิ้นเฉลี่ย 29.4 ลำ เมื่อเทียบกับ 16.3 ลำของช่วงเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา

ถึงแม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากเป็นอย่างมากในไตรมาสนี้ แต่โทรีเซนชิปปิ้งก็ยังมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ระดับ 106 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการที่ดี เราสามารถหางานที่มีอัตราค่าระวางเรือเฉลี่ยสูงกว่ามาตรฐานของกองเรือโดยทั่วไปถึง 19% และยังสามารถควบคุมรักษาต้นทุนไว้ได้ดีมากจนติดกลุ่มท็อป 1 ใน 4 ของอุตสาหกรรมเดินเรือโดยรวม โดยเราสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าของเรือลงมาจากไตรมาสก่อนถึง 6% มาอยู่ที่ระดับ 3,986 เหรียญสหรัฐต่อวัน ซึ่งดีกว่าต้นทุนค่าเฉลี่ยของธุรกิจนี้ที่อยู่ที่ระดับ 4,500 เหรียญสหรัฐต่อวัน

โดยปกติช่วงระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม มักจะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจเรือบรรทุกแห้งเทกอง ซึ่งอัตราค่าระวางเรือจะค่อยฟื้นกลับมาหลังจากผ่านพ้นเทศกาลตรุษจีนไปแล้ว หลังจากผ่านเข้าสู่ไตรมาสที่ 3/2556 มาแล้วครึ่งทาง เราพบว่า อัตราค่าระวางเฉลี่ยสำหรับเรือขนาด Supramax เพิ่มสูงขึ้น16% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2556

กลุ่มธุรกิจพลังงาน

ภาคธุรกิจการใหบริการนอกชายฝั่งกำลังได้รับอานิสงส์จากช่วงขาขึ้นของวัฏจักรในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยในไตรมาสสองนี้ เมอร์เมดมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,394 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบปีต่อปี แต่ลดลง 14% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากเรือขุดเจาะท้องแบน MTR-2 ต้องเข้าอู่ซ่อมบำรุงตรวจสภาพครั้งใหญ่ตามกำหนดระยะเวลาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 จนถึงเมษายน 2556 จึงทำให้ขาดรายได้ในส่วนนี้ไปตลอดทั้งไตรมาส ในขณะที่ยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเรือตามปกติ ทั้งนี้ การตรวจสภาพและซ่อมบำรุงได้เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเรือ MTR-2 กำลังจะเริ่มกลับไปปฏิบัติงานขุดเจาะอีกครั้งภายใน 1 สัปดาห์นี้

นอกจากนี้ยังมีเรือวิศวกรรมใต้ทะเลอีก 3 ลำ ของเมอร์เมดที่ต้องเข้าอู่ในช่วงไตรมาสนี้ ประกอบด้วย เรือ M.V. Commander และ เรือ M.V. Endeavor ถูกส่งเข้ารับการตรวจสภาพตามกำหนด ในขณะที่เรือ M.V. Asiana ต้องเข้าไปรับการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนไปให้บริการตามสัญญาให้บริการดูแล ซ่อมแซม และสำรวจแท่นขุดเจาะน้ำมันให้กับซาอุดิอรามโค ซึ่งสัญญาฉบับนี้มีระยะเวลา 5 ปีมูลค่า 530 ล้านเหรียญสหรัฐ

เมอร์เมดคาดว่า ผลงานในไตรมาสที่ 3 จะพลิกกลับมาเป็นกำไร เนื่องจากเรือทุกลำจะกลับไปปฏิบัติงานได้ตามปกติ ขณะนี้กองเรือวิศวกรรมใต้ทะเลกำลังทำงานสลับไปมาในหลายน่านน้ำเพื่อให้ได้อัตราค่าจ้างรายวันที่ดีขึ้น โดยเมอร์เมดได้นำเสนอบริการเสริมเพิ่มเติม เพื่อให้ได้สัญญาระยะยาวเพิ่มมากขึ้น แนวโน้มของธุรกิจเรือขุดเจาะก็ยังสดใส โดยเรือ MTR-1 ยังคงรับงานเป็นเรือที่พัก ส่วนเรือ MTR-2 ก็ได้งานที่มีอัตราค่าจ้างรายวันประมาณ 95,000 เหรียญสหรัฐ/วัน

กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน

กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วยธุรกิจหลักคือบาคองโคและ UMS โดยบาคองโคยังสร้างผลกำไรและกระแสเงินสดที่ดีเหมือนเคย ในขณะที่ UMS ยังคงเผชิญกับสถานการณ์ที่โรงงานที่สมุทรสาครยังไม่สามารถเปิดทำงานได้มานานเกือบ 22 เดือน ในไตรมาสสองนี้ ผลขาดทุนของ UMS ลดลงเหลือ 16 ล้านจากระดับ 43 ล้านบาทเมื่อปีก่อน เนื่องจากมีการลดปริมาณการเร่งระบายถ่านหินขนาด 0-5 มม.ออกไป

ในที่สุดจังหวัดสมุทรสาครก็ได้มีคำสั่งยกเลิกการปิดโรงงานถ่านหินของ UMS เป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ดี ทางจังหวัดยังไม่อนุญาตให้มีการใช้ท่าเรือเพื่อขนส่งถ่านหิน ดังนั้น เมื่อเปิดโรงงานอีกครั้ง กระบวนการโลจิสติกส์ต่างๆ อาจจะยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนเดิม ส่งผลให้ในไตรมาสสามที่จะถึง ต้นทุนค่าขนส่งจะปรับตัวดีขึ้นเป็นบางส่วน

บาคองโคยังคงโชว์ผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่สอง โดยมีมีผลกำไรให้กับ TTA ทั้งสิ้น 46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 31% รายได้อยู่ที่ 655 ล้านบาทลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากราคาขายต่ำกว่าเดิมเล็กน้อย บาคองโคขายปุ๋ยและผลิตภัณฑ์ดูแลพันธ์พืชไปทั้งหมด 40,000 ตัน เพิ่มขึ้น 12% จากยอดขายของไตรมาสเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา

หลังจากการก่อสร้างคลังสินค้าแห่งใหม่ขนาด 27,000 ตารางเมตรแล้วเสร็จไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้บาคองโคเป็นเจ้าของคลังสินค้าทั้งหมด 3 แห่ง ที่มีขนาดพื้นที่รวมกันทั้งสิ้น 37,000 ตารางเมตร สามารถรองรับสินค้ารวมกันได้ถึง 140,000 เมตริกตัน โดยคลังสินค้าทุกแห่งมีลูกค้าเช่าพื้นที่ไปแล้วรวมกันทั้งสิ้นถึง 80% ของพื้นที่ทั้งหมด ส่งผลให้รายได้จากการให้เช่าพื้นที่คลังสินค้าของบาคองโคในไตรมาสนี้พุ่งสูงขึ้นกว่าปีก่อนถึง 70% แต่รายได้ในธุรกิจส่วนนี้ยังนับว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับรายได้รวมของบาคองโค

แนวโน้ม

“ถึงแม้อัตราค่าระวางเรือทั่วโลกกำลังปรับตัวขึ้นบ้าง แต่เราไม่คาดหวังว่าอัตราค่าระวางเรือจะกลับมาดีในปีนี้ ดังนั้น เราจะให้ความสำคัญกับการบริหารงานในธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองให้กระแสเงินสดเป็นบวก ในขณะที่ยังมองหาโอกาสในการขยายกองเรือเนื่องจากราคาเรือค่อนข้างต่ำ” ม.ล. จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าวสรุป “ถึงแม้ว่าผลงานของเมอร์เมดในไตรมาสสองยังไม่ดีนัก แต่แนวโน้มในอนาคตของเมอร์เมดยังคงเป็นบวก เนื่องจากเราจะรับรู้รายได้ของสัญญาที่ทำไว้กับซาอุดิอรามโคทั้งจากเมอร์เมด หรือเอเชีย ออฟชอร์ ดริลลิ่ง ในไตรมาสที่สามนี้ ในขณะเดียวกัน UMS เองก็น่าจะกลับมาเปิดโรงงานที่จังหวัดสมุทรสาครได้อีกครั้งในไตรมาสที่ 3 นี้ ดังนั้น แม้ว่าผลงานโดยรวมในไตรมาสที่สองยังเจอกับอุปสรรคไปบ้าง แต่แนวโน้มของช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้นอย่างแน่นอน”

เกี่ยวกับ TTA

บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “TTA” เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นเพื่อการลงทุนเชิงกลยุทธ์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยแผนการลงทุนของบริษัทฯ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาธุรกิจอย่างสมดุลและหลากหลาย ทั้งในกลุ่มธุรกิจขนส่ง กลุ่มธุรกิจพลังงาน และกลุ่มธุรกิจโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการลงทุนในประเทศไทยและต่างประเทศ TTA ได้เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธุรกิจจากเดิมที่เคยเป็นแต่เพียงผู้ให้บริการเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ด้วยการขยายการลงทุนไปยังบริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการวิศวกรรมโยธาใต้น้ำ และนำบริษัท เมอร์เมดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ หลังจากนั้น บริษัทฯ จึงได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจโลจิสติกส์และปุ๋ยในเวียดนาม (Baconco) ธุรกิจเหมืองถ่านหินในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย และธุรกิจโลจิสติกส์ถ่านหิน (บมจ. ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส หรือ UMS) ธุรกิจขนส่งน้ำมัน (Petrolift) และธุรกิจท่าเรือในตอนใต้ของประเทศเวียดนาม (Baria)

-กผ-